ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดน้ำอัดลมปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 38,500 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7 โดยตลาดน้ำอัดลมในปี 2555 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ภายหลังจากที่ตลาดน้ำอัดลมในปี 2554 หดตัวร้อยละ 4 จากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งทำให้การผลิตน้ำอัดลมของผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องหยุดชะงัก ประกอบกับอุทกภัย ได้ทำให้เส้นทางการขนส่งสินค้าถูกตัดขาด ซึ่งเป็นอุปสรรคทางด้านการขนส่งของผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่สามารถผลิตสินค้าได้ ทั้งนี้ ตลาดน้ำอัดลมปี 2555 ได้รับปัจจัยหนุนสำคัญจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าแรง 300 บาท ประกอบกับสภาพอากาศช่วงหน้าร้อนปีนี้ มีอุณหภูมิสูงและยาวนานกว่าปีก่อนๆ ก็ยิ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดขายน้ำอัดลม และกระตุ้นให้ความต้องการเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมเพื่อดับกระหายมีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การมีมหกรรมการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ระดับโลกถึง 2 รายการคือ การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ในช่วงกลางปี และต่อเนื่องมาถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ผู้ประกอบการจึงมีกลยุทธ์กระตุ้นตลาดผ่านสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งเพื่อจับลูกค้ากลุ่มบรรดาแฟนกีฬา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตของตลาดน้ำอัดลมที่สูงจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่ง ตลาดนี้ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ภายหลังจากการเข้ามาทำตลาดของเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่จำเป็นต้องงัดกลยุทธ์ด้านต่างๆ เพื่อรักษาหรือช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด โดยกลยุทธ์ที่น่าสนใจ มีดังนี้
- การแข่งขันด้านการตลาด โดยเน้นจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น-วัยกลางคน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ทั้งนี้ การทำการตลาดช่วงที่ผ่านมา มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง และการทำ CSR
- การแข่งขันทางด้านเครือข่ายในการกระจายสินค้า โดยเน้นการหาพันธมิตรที่มีศักยภาพและเครือข่ายในการกระจายสินค้าประเภทเครื่องดื่มไปยังร้านค้าปลีกรายย่อย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนี้ ในการร่วมมือกับพันธมิตร นอกจากจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ยังเป็นการช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในกลุ่มร้านค้ารายย่อย
- สร้างความหลากหลายให้กับสินค้า โดยการปรับรสชาติและคุณภาพให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เช่น น้ำอัดลมรสมะนาว น้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล น้ำอัดลมแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น
- การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ให้มีความหลากหลายทั้งในรูปของขวดแก้ว กระป๋องโลหะ ขวดพลาสติกขนาดต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคของลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อและบริโภคทันที ผ่านทางร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ (กระป๋อง และขวดขนาดเล็ก) กลุ่มลูกค้าตามร้านอาหาร (ขวดแก้ว และขวดพลาสติก ) หรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อกลับไปบริโภคที่บ้าน (ขวดพลาสติกตั้งแต่ 1.25-2 ลิตร)
- การแข่งขันทางด้านราคา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ จะกำหนดราคาจำหน่ายสินค้าต่ำกว่าน้ำอัดลมรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด และปรับเพิ่มปริมาณสินค้าต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ เพื่อดึงดูดให้กลุ่มลูกค้าเกิดการทดลองซื้อและลิ้มลองรสชาติในช่วงแรก ซึ่งทำให้สินค้าสามารถช่วงชิงส่วนแบ่ง และเข้ามามีบทบาทในตลาดน้ำอัดลมได้
นอกจากปัจจัยเสี่ยงในการเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการน้ำอัดลมยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งจากค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ก๊าซNGV และLPG ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งของธุรกิจน้ำอัดลม เนื่องจากเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาการกระจายสินค้า จากคลังสินค้าผ่านรถบรรทุกไปยังร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ประกอบกับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทใน 7 จังหวัด และปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 39.5 ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ในขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตทำได้ยาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ภาครัฐควบคุมราคา รวมถึงความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายและส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในตลาดน้ำอัดลม มีทิศทางที่จะแข่งขันโดยใช้กลยุทธ์ทางด้านการตลาด เน้นการทุ่มเม็ดเงินเพื่อจัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป และเน้นการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาเครือข่ายในการกระจายสินค้า เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และจูงใจให้เครื่องดื่มของตนสามารถวางจำหน่ายภายในร้านค้า หรือร้านอาหารได้ สำหรับกลยุทธ์ทางด้านราคา จะเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการรายใหม่นำมาใช้เพื่อสร้างฐานและดึงดูดผู้บริโภคในช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ตลาด