ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ออกโรงเตือนผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตในช่วงเทศกาลปลายปี เพราะตัวเลขยอดบัตรเครดิตอาจพุ่งกว่าร้อยละ 30 หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท แนะผู้บริโภคควรรูดอย่างมีสติ ควบคุมการใช้จ่าย และเลี่ยง “5 พฤติกรรมเสี่ยง” สู่ความเป็นหนี้
ในช่วงเทศกาลใหญ่ปลายปีซึ่งได้แก่คริสต์มาสและปีใหม่ เป็นช่วงที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยสูงมากกว่าปกติ รวมทั้งบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็มีการจัดโปรโมชั่นมากมายเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าไปช้อบปิ้งกันอย่างคึกคัก และแน่นอนว่าบัตรเครดิตจะถูกนำออกมาใช้มากที่สุดในช่วงนี้เช่นกัน เพราะนอกจากจะได้รับความสะดวกแล้วยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เบริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น
จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี พบว่าประชาชนอาจใช้จ่ายต่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 หรือจากประมาณ 6,100 บาทต่อบัตรต่อเดือนในช่วงเวลาทั่วไปเป็น 8,100 บาท ในเดือนธันวาคมปีนี้ (ดังภาพ) และคาดทำให้มีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนนี้ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท
แม้ว่าเงินพลาสติก หรือ บัตรเครคิต อาจดีกว่าหากเทียบกับเงินสด เพราะทำให้ได้สินค้าและบริการมาก่อน แต่จ่ายเงินทีหลัง แถมมีสิทธิประโยชน์ต่างๆพ่วงมากมาย เช่น เปอร์เซ็นส่วนลด หรือสะสมแต้มแลกของรางวัล แต่ผู้ถือบัตรพึงระวังต้นทุนที่ตามมาจากความสะดวกนี้ด้วย เพราะเป็นการใช้เงินล่วงหน้าที่หยิบยืมมาจากผู้ออกบัตร ซึ่งต้องจ่ายคืนด้วยเงินในอนาคตของตนเอง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี แนะให้พิจารณาก่อนรูด เริ่มจากดูก่อนว่ามีบัตรเครดิตกี่ใบ งวดชำระวันไหน ดอกเบี้ยเท่าไหร่ และมีความสามารถในการชำระหนี้เท่าไร ถ้าใช้ไปแล้วเป็นการแบกหนี้อยู่หรือไม่ และหลีกเลี่ยง “5 พฤติกรรมเสี่ยง”
1) ใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดเพียงเพราะความสะดวก เพราะไม่เห็นเงินสดไหลออกจากกระเป๋า จึงควบคุมการใช้จ่ายได้ยาก ถ้าถือบัตร 3 ใบนั่นหมายถึงว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 24,300 บาทเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม
2) รูดบัตรเกินวงเงิน เพราะจะทำให้เสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราปกติ และเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมทั้งสอง อาจต้องทำบันทึกค่าใช้จ่ายพร้อมกับตรวจเช็คการใช้จ่ายอยู่เสมอ
3) ถูกแรงดึงดูดจากบัตรเครดิตโน้มน้าวใจ เช่น มีของแถมมาล่อใจจนต้องใช้จ่าย จนทำให้ต้องแบกภาระหนี้สินมากเกินไป
4) ชำระเงินไม่ตรงเวลา เพราะนอกจากต้องเสียดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติแล้ว ยังทำให้มีประวัติการชำระเงินที่ไม่ดีบันทึกอยู่ในเครดิตบูโร (บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด) ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการขอสินเชื่อต่างๆ ในอนาคต เห็นได้จากหนี้เสียของลูกหนี้บัตรเครดิต (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มจากร้อยละ 2 ตอนต้นปีเป็นร้อยละ 2.5 ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดีถ้าวันที่ต้องชำระเงินไม่สอดคล้องกับรายรับที่จะเข้ามา ควรปรึกษาผู้ออกบัตรเพื่อกำหนดวันชำระเงินให้เหมาะสม และ
5) การจ่ายเพียงแค่ยอดขั้นต่ำ จะก่อให้เกิดดอกเบี้ยเป็นเงาตามตัวและนำไปสู่ภาระหนี้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ถ้ารูดบัตร 10,000 บาท และชำระขั้นต่ำเพียง 1,000 บาทต่อเดือน จะทำให้ต้องแบกภาระหนี้ไปถึง 11 เดือน จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า ยอดหนี้บัตรเครดิตของคนไทยในปัจจุบันมากกว่าครึ่งเป็นหนี้ค้างชำระสะสมจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยมากถึงร้อยละ 20 ต่อปี
ช่วงเทศกาลปีนี้จึงควรรูดบัตรอย่างมีสติ คิดก่อนใช้ เพื่อรักษาเครดิตของตัวเองไว้ เผื่อว่าในอนาคตมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินสินเชื่ออื่นๆ นอกเหนือจากบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็น การกู้ยืมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย ลงทุนธุรกิจ หรือซื้อรถยนต์ จะได้ไม่เป็นปัญหาทีหลัง