ราคูเท็น ตลาดดอทคอม ทำนายว่าปี 2013 ข้างหน้าเป็นปีที่น่าจับตามองสำหรับวงการอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) เมื่อคนไทยหันมาใช้อินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สื่อสารไร้สายชนิดต่างๆ เมื่อผู้ให้บริการพัฒนาฟีเจอร์จนล้ำสมัย และ เมื่อแบรนด์ชั้นนำเร่งแข่งขันทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์กันยกใหญ่
ทาง PayPal ได้วิเคราะห์สภาพตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย และ คาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตขึ้นเกือบถึง 15 พันล้านบาท ในขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้คำนวณตัวเลขการเติบโตของการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์อยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2012 นี้ ผู้ประกอบการรายเล็ก-ใหญ่ต่างเห็นความสำคัญในการเปิดร้านค้าออนไลน์ตามๆกัน ไม่ว่าจะเปิดเพื่อเสริมช่องทางการค้าให้แก่ธุรกิจที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว หรือ เป็นการเริ่มธุรกิจใหม่เลยก็ตาม
คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า “นักช้อปเดี๋ยวนี้เขามีร้านค้าพกพากันแล้วครับ แค่มีโทรศัพท์มือถือ หรือ แท๊บเล็ต คุณก็สามารถเลือกหาสินค้าที่ต้องการเพียงแค่คลิ๊กหน้าจอเท่านั้น แต่ด้วยความที่การช้อปปิ้งมันเกิดขึ้นได้ง่ายดาย และ การที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมายเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการสร้างความจงรักภักดีในลูกค้า และประสบการณ์การช้อปที่น่าประทับใจ เมื่อเราก้าวเข้าสู่ปี 2013 นี้ ที่ราคูเท็น ตลาดดอทคอมเอง เรามีสมาชิกกว่า 2 ล้านราย ผู้ประกอบการ 300,000 กว่าเจ้า และ ผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์กว่า 200,000 คนต่อวัน ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับแวดวงนี้เป็นอย่างดี เราได้รวบรวมแนวทางและแนวโน้ม ของเทรนด์อีคอมเมิร์ซ ในปี 2013 มาได้ดังต่อไปนี้”
1. จากแค็ตตาล็อกออนไลน์สู่ร้านค้าออนไลน์เต็มรูปแบบ
ตอนนี้ปัจจุบันเว็บไซต์จำนวนมากของหลายธุรกิจของไทย ยังคงเป็นในรูปแบบ เว็บไซต์ให้ข้อมูลบริษัท (Corporate Web Site) หรือ เป็นเพียงแค่แค็ตตาล็อกสินค้า (Catalogue Web Site) ที่ไม่สามารถทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ได้ทันที ต้องโทรหรือติดต่อไปผ่านทางช่องทางอื่นแทน ซึ่งจะทำให้สูญเสียโอกาสการขายสินค้าไปอย่างมาก เพราะในโลกออนไลน์หากคุณปล่อยให้ลูกค้าต้องโทรติดต่อ หรือติดตามคุณ นั้นหมายถึงโอกาสที่คุณจะสูญเสียลูกค้าเหล่านั้นมีสูงมากกว่า 50% แต่หากธุรกิจของคุณมีระบบการค้าออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถคลิกสั่งซื้อสินค้าของธุรกิจของคุณได้ทันที นั้นหมายถึงคุณจะสามารถปิดการขายลูกค้าได้ทันที เป็นเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วประเทศและทั่วโลก ไม่ต้องมีคนมานั่งเฝ้าตลอดเวลา ดังนั้นปี 2013 จะเป็นปีที่หลายๆ ธุรกิจไทย เริ่มเห็นถึงศักยภาพของการค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะเริ่มมีหลายคนเริ่มประสบความสำเร็จและสามารถเพิ่มยอดขายได้มากมาย ผ่านช่องทางนี้ ทำให้หลายธุรกิจจะเริ่มเปลี่ยนจากเว็บไซต์รูปแบบเดิมๆ เข้าสู่เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์(E-Tailor) เต็มรูปแบบมากขึ้น
2. คนไทยจะช้อปผ่านมือถือและแท็ปเล็ตเพิ่มมากขึ้น
ปี 2013 จะเป็นปีที่ 3G แท้ๆ ของไทยจะได้ออกมายลโฉมกันจริงๆ ซักที และราคาจะถูกลงด้วย และมือถือและอุปกรณ์พกพาราคาจะถูกลง ฉลาดและเก่งมากขึ้น มือถือในมือคนไทยจะต่ออินเทอร์เน็ตได้เพิ่มมากขึ้น คนไทยจะเริ่มเปลียนพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือกันมากขึ้น แน่นอนเมื่อเค้าใช้มากขึ้น การซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่นกัน ทำให้เราก้าวเข้าสู่ ยุคที่ 4 ของอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มตัว (http://www.pawoot.com/thailand-E-Commerce-Generatio) อย่างตอนนี้ จำนวนคนใช้มือถือและอุปกรณ์พกพาเข้ามาที่ TARAD.com มากถึง 30% ของจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ทั้งหมด และมียอดขายที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางนี้ 11% และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ เดือน เป็นช่องทางที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
3. การชำะเงินผ่านบัตรเดบิต (บัตรเอทีเอ็ม) จะเติบโตมากขึ้น
ในปี 2012 เป็นปีที่หลายๆ ธนาคารเริ่มหันมาเปิดให้ บัตรเดบิต (Debit Card) หรือบัตรเอทีเอ็ม สามารถใช้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้เหมือนบัตรเครดิต ทำให้กลุ่มคนที่ถือบัตรเดบิตที่มีมากกว่า 35 ล้านใบทั่วประเทศ ที่จะเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่นเด็กวัยรุ่น และคนทั่วไป ซึ่งจะมีจำนวนมากกว่าคนที่ถือบัตรเครดิตที่มีเพียง 14 ล้านใบเท่านั้น กลุ่มคนจำนวนมากเหล่านี้จะสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้มากขึ้น ดังนั้นในปี 2013 จึงเป็นปีที่ คนไทยเกือบครึ่งประเทศสามารถซื้อสินค้าออนไลน์และจ่ายผ่านทางออนไลน์โดยบัตรเดบิตได้ทันที
4. โซเชี่ยลมีเดียสื่อและช่องใหม่ในการสร้างยอดขาย
เดียวนี้คนไทยหลายคนเริ่มหันมาใช้โซเชี่ยลมีเดียกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่แทบจะไม่ต้องจ่ายเงินหรือมีค่าใช้จ่าย ทำให้การใช้ช่องทางนี้ เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าจึงเป็นช่องทางที่ได้ผลในด้านการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจการค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ควรจะมีกลยุทธ์และวิธีการสื่อสารผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียที่มีชั้นเชิง รวมถึงการเลือกใช้โซเชี่ยลมีเดียตรงกลับกลุ่มเป้าหมาย เพราะเดียวนี้นอกเหนือจาก Facebook ยังมีอีกหลายบริการโซเชี่ยลเน็ตเวิรก์ เช่น Twitter, Instgram, Line ที่สามารถใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
5. สินค้าอุปโภคบริโภคจะเริ่มเข้าสู่โลกการค้าออนไลน์มากขึ้น
จากเดิมที่สินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods – FMCG) จะเน้นการตลาดในการสื่อสารในการสร้างแบรนด์และโปรโมชั่นแล้วดึงคนให้ไปซื้อตามจุดขายต่างๆ เป็นหลัก แต่ปี 2013 จะเป็นปีที่ สินค้าหลายๆ ตัวจะเริ่มต้นการใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น และใช้การตลาดออนไลน์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดยอดขาย ผ่านไปยังกลุ่มเป้าหมายลูกค้าทั่วประเทศ โดยแนวโน้มนี้จะเห็นได้จากสินค้าหลายๆ ตัวที่เริ่มมีการขายในโลกออนไลน์แล้ว เช่น เถ้าแก่น้อย, สินค้าของค่ายแบรนด์ เป็นต้น
“ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้าปลีกรูปแบบไหน ลูกค้าคือหัวใจของความสำเร็จ ทั้งช่องทางโมบาย และ โซเชียลมีเดีย ล้วนแล้วแต่มอบโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ติดต่อกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดมากกว่าเดิม ในปีข้างหน้านี้ การคิดค้นหาวิธีสร้างความประทับใจให้ลูกค้าท่ามกลางการแข่งขันที่มีช่องทางอันหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันเราต้องเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยให้แก่ระบบของเราอย่างต่อเนื่อง เราน่าจะร่วมมือกันผลักดันให้แวดวงอีคอมเมิร์ซได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้นในการช้อปปิ้งผ่านช่องทางโมบายและโซเชียลต่างๆ โดยเน้นการพัฒนาประสบการณ์การช้อปออนไลน์ การมอบสินค้าและบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งเพิ่มความสะดวกสบาย และความรัดกุม สำหรับการชำระเงินผ่านช่องทางเหล่านี้” คุณภาวุธ กล่าวเสริม