HomeBrand Move !!7 ธุรกิจโตรับทรัพย์ ฝ่าวิกฤติปี 2556

7 ธุรกิจโตรับทรัพย์ ฝ่าวิกฤติปี 2556

แชร์ :

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  คาดการณ์ปี 2556 ยังคงมีปัจจัยลบปกคลุมการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะแรงกดดันจากต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท, การทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ, การปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า Ft รอบใหม่  หรือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และ ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ  แต่ก็มีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับปัจจัยหนุนเฉพาะมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้สามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่นในปี 2556

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. ส่งออกรถยนต์

ได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออกหลังจากค่ายรถเตรียมโยกกำลังการผลิตที่ดึงไปเพื่อรองรับตลาดในประเทศในปี 2555 กลับมาผลิตเพื่อตลาดส่งออกมากขึ้น และน่าจะทำให้การส่งออกรถยนต์ยังคงมีอัตราการขยายตัวได้อย่างโดดเด่น และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ต่อที่ระดับ 1,230,000 ถึง 1,290,000 คัน ขยายตัว 20-26% จากยอดส่งออก 1,030, 000 คัน ในปี 2555 (ขยายตัว 40%) สำหรับตลาดในประเทศ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 มีช่วงจังหวะของการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ที่รับจองไว้ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรก (ยอดคงค้างรอส่งมอบข้ามไปในปี 2556 ไม่ต่ำกว่า 400,000 คัน) แต่คาดว่ายอดขายในประเทศช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มีโอกาสหดตัวลงจากช่วงเดียวกันในปี 2555 จากผลของโครงการรถยนต์คันแรกที่ทำให้ความต้องการรถยนต์ในอนาคตถูกดึงไปใช้แล้วล่วงหน้า

ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ เช่น  อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์, ธุรกิจขนส่ง, อุตสาหกรรมไฟฟ้า เช่น เครื่องเสียงติดรถยนต์ และสายไฟฟ้า เป็นต้น

 

2. ธุรกิจโทรคมนาคม

ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะบริการด้านข้อมูลจะมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก โดยผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตให้เปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ต่างหันมาเร่งพัฒนาระบบเครือข่ายและเร่งขยายโครงข่าย ไปตามเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ พร้อมทั้งยังได้ออกโปรโมชั่นการตลาดเพื่อเร่งโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทาน 2G เดิมไปสู่ระบบใบอนุญาต 3G   ขณะเดียวกันผู้ให้บริการคอนเทนต์มีแนวโน้มที่จะเข้ามาพัฒนาบริการใหม่ๆ บนช่องทางการสื่อสารไร้สาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  นอกจากนี้ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมราว 125,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี และยังน่าจะก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคเพื่อใช้งานบริการ 3G มากยิ่งขึ้น

ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ เช่น กลุ่มสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต, ธุรกิจบริการด้านคอนเทนต์, ธุรกิจ e-commerce, สถาบันการเงิน (รายได้จากการการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นผ่านบัตรเครดิต)

 

3. ธุรกิจทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เข้ามากำกับดูแลและมีกฎหมายการรองรับการดำเนินธุรกิจทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี  กสทช. จะเริ่มทยอยออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ และมีการวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล โดยจะจัดให้มีการประมูลใบอนุญาตสำหรับช่องบริการธุรกิจ ราวเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล นอกเหนือจากจะมีความคมชัดของภาพสูงกว่าโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกแล้ว ยังเป็นระบบที่สามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้ ซึ่งก่อให้เกิดความบันเทิงในรูปแบบใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจทีวีมีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และฟรีทีวีที่จะมาใช้ระบบดิจิทัล

ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์  กล่องและอุปกรณ์รับสัญญาณ, โทรทัศน์ที่รับสัญญาณระบบดิจิทัล, ธุรกิจโฆษณา

 

4. ธุรกิจก่อสร้าง

ด้วยอานิสงส์ของโครงการก่อสร้างภาครัฐ อาทิ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ 2.27 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากปี 2555 ได้แก่ การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในส่วนของการก่อสร้างภาคเอกชนปี 2556 ความคึกคักจะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการขยายการลงทุนของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ไปยังจังหวัดสำคัญๆ มากขึ้น อาทิ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การขยายฐานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม การเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรม และคลังสินค้า ฯลฯ

ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง (ปูนซิเมนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก), ธุรกิจขนส่ง

 

5. ธุรกิจขนส่ง

การขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ด้วยแรงหนุนจากภาคการก่อสร้างที่เติบโต การขยายสาขาของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่รวมถึงการกระจายคลังสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆในภูมิภาค และการเติบโตของกิจกรรมการค้าชายแดน ขณะที่การขนส่งทางเรือในปี 2556 คาดว่าจะกลับขึ้นมาเติบโตได้ดี จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น  สำหรับธุรกิจสายการบินแบบขนส่งสินค้าคาดว่าจะกลับมาเติบโต ขณะที่การขนส่งคนนั้น ธุรกิจสายการบินน่าที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากธุรกิจสายการบินทั่วไปและธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการแข่งขันจากธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ต่างปรับกลยุทธ์การตลาดและขยายเส้นทางบินใหม่ๆ คาดว่า อัตราการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำของประเทศไทยในปีงบประมาณ 2556 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15.0-18.0 โดยที่จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 23-24 ล้านคนในปี 2556

ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์  ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน

 

6. ธุรกิจโรงพยาบาล

การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ และการควบรวมกิจการของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนคาดว่า ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปี 2556  จากเดิมที่มีการควบรวมเป็นเครือข่ายเดียวกันระหว่างโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ด้วยกันเอง ก็เริ่มมีการมองหาพันธมิตร หรือเดินหน้าควบรวมกิจการโรงพยาบาลเอกชนในส่วนภูมิภาคมากขึ้น  ขณะเดียวกันโรงพยาบาลของภาครัฐที่หันมาให้ความสนใจกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้สูงมากขึ้น อนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 นอกจากนี้แนวโน้มการขยายตัวของคนไข้ชาวต่างชาติ  เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายและแผนการตลาดของภาครัฐที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย (Medical Hub of Asia)

ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์  ธุรกิจเครื่องมือแพทย์, ธุรกิจอพาร์ตเมนต์และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์สำหรับชาวต่างชาติ

 

7. ยางพารา

ยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกอันดับ 1 ของไทย ทิศทางราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น หลังจากปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งน่าจะเป็นแรงหนุนให้ตลาดยางพาราโลกกลับมาขยายตัวดีขึ้นทั้งในด้านปริมาณและราคา นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนเสริมจากการอ่อนค่าของเงินเยน ประกอบกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่อันดับ 2 รองจากไทยคาดการณ์ว่าผลผลิตยางพาราในปี 2556 อาจลดลงร้อยละ 8.9 ซึ่งความร่วมมือของประเทศผู้ผลิตยางรายสำคัญ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการรักษาเสถียรภาพยางน่าจะช่วยดึงราคายางให้สูงขึ้น

ธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์ เช่น ธุรกิจแปรรูปยาง,  ธุรกิจขนส่ง

 

 


แชร์ :

You may also like