ประชาชาติธุรกิจ – ตลาดเบียร์เมืองไทยช่วงที่ผ่านมา ถือว่าคึกคักพอสมควร โดยเฉพาะการห้ำหั่นกันของ 2 ค่ายใหญ่ “สิงห์-ช้าง” ที่ต่างเปิดศึกดวลประตูด้วย “สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งต่างเป็นศึกศักดิ์ศรียอมกันไม่ได้ด้วยการนำทีมฟุตบอลชื่อดังระดับโลกที่ทั้งคู่เป็นสปอนเซอร์ เข้ามาเตะนัดกระชับมิตรในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา ที่สร้างกระแสและความตื่นตัวไม่เฉพาะคอบอล แต่ขยายไปถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ด้วยจำนวนคนเข้าดูในสนามไม่แพ้กันอยู่ที่หลัก 5 หมื่นคน
ฝั่งแรกเจ้าตลาดเบียร์ในประเทศไทยที่มีมาร์เก็ตแชร์ 70% เป็นสปอนเซอร์ให้กับแชมป์พรีเมียร์ลีก “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ซึ่งนำทีมดังขวัญใจดังกล่าวมาในโอกาสครบรอบ 80 ปี บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ขณะที่ช้างของ ค่ายไทยเบฟเวอเรจ ก็นำแชมป์ลาลีกา สเปน “บาร์เซโลน่า” ซึ่งบริษัทเป็นสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการเข้ามาสร้างกระแส โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นเป้าหมายหลักของค่ายนี้แน่นอนว่าวันนี้ ตลาดเบียร์ 120,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2,200 ล้านลิตรนั้น เกือบทั้งหมดกว่า 90% ถูกครอบครองโดยยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย ที่ยังคงเปิดเกมแลกกันอย่างดุเดือด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราเริ่มเห็นเบียร์ยี่ห้อใหม่ ๆ เริ่มเข้ามาทำตลาดกันมากขึ้น โดยพยายามชูจุดขายอื่น ๆ อาทิ ราคาที่ถูกกว่า หรือไม่ก็ชูความเป็นพรีเมี่ยมที่เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
ยกตัวอย่าง “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” ที่เปิดตัวเบียร์ที่เป็นโอนแบรนด์ภายใต้ชื่อ “จอย” เข้ามาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค”นิค ไรท์ไมเออร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อสินค้าต่างประเทศ เครื่องดื่มไวน์ และสินค้า Own Brand บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ทดลองนำเบียร์ “จอย” (Joy) เข้ามาจำหน่ายตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ได้ให้บริษัท SABmiller เวียดนามเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับทางเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทลโดยเฉพาะ ปัจจุบันวางจำหน่ายอยู่ในท็อปส์, ท็อปส์ เดลิเวอรี่ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์”ที่เวียดนามก็ยังมีภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับไทย ทั้งสะดวกในเรื่องการขนส่ง อีกทั้งได้รับสิทธิ์ละเว้นภาษีจากข้อตกลง ′อาฟต้า′ ทำให้ภาษีนำเข้าเหลือเพียงกว่า 40% จากที่เบียร์นำเข้าปกติจะต้องเสียภาษีสูงถึง 80%”
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของจอย อยู่ในแพ็กเกจกระป๋องอะลูมิเนียมสีเหลือง โดยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า บริษัทได้เตรียมที่จะเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่เป็นสีเงิน เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่พรีเมี่ยมเหมือนเบียร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นสำหรับแผนงานจากนี้หลังออกแพ็กเกจใหม่ บริษัทจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไปยังร้านแฟมิลี่มาร์ทด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะเลือกเฉพาะสาขาที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวเพื่อจับกลุ่มชาวต่างชาติ ในส่วนของราคา ปัจจุบันทดลองขายอยู่ที่ 19 บาท แต่จากการศึกษาพบว่าราคาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 26 บาทต่อกระป๋อง ซึ่งก็ยังถูกกว่าแบรนด์ดังที่ขายในท้องตลาดอยู่พอสมควร บริษัทจึงมีแผนปรับราคาพร้อมไปกับการเปิดตัวแพ็กเกจจิ้งใหม่ในเร็ว ๆ นี้
“จริง ๆ ไม่ได้คิดว่าเบียร์จอยจะเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในตลาด เพราะตลาดเบียร์ของไทยมี 2 ยักษ์ใหญ่ที่แข็งแรงอยู่แล้ว ในส่วนของเราต้องการเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น และดึงผู้บริโภคใหม่ ๆ ให้เข้ามาสนใจสินค้า Own Lable ของเรา โดยหวังว่าการที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา จะทำให้ตลาดมีการพัฒนา และมีสีสันขึ้น”
นอกจากท็อปส์แล้ว ยังมีเบียร์น้องใหม่อีกหลาย ๆ แบรนด์ที่เริ่มเปิดตัวสู่ตลาด เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ยกตัวอย่าง ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทาง “ดับเบิ้ล ทู ชาโดว์” ก็ได้แถลงเปิดตัว “เบียร์ภูเก็ต” ภายหลังการปรับรสชาติและโลโก้ใหม่ ภายใต้สโลแกน “ให้ทุกวันเป็นวันภูเก็ต” โดยสื่อความหมายถึงความเป็นเบียร์ท้องถิ่นจากจังหวัดภูเก็ต
ปัจจุบันยังมีเพียงแพ็กเกจจิ้งที่เป็นขวด ก่อนเปิดตัวในรูปแบบกระป๋องในปีหน้า “ชยพล สาคริก” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดับเบิ้ล ทู ชาโดว์ จำกัด ตัวแทนจำหน่าย “เบียร์ภูเก็ต” ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระบุว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ต ขณะเดียวกันก็มีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศในหลายประเทศแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ส่วนในประเทศมีจำหน่ายในเมืองท่องเที่ยวและเมืองเศรษฐกิจ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หัวหิน พัทยา กรุงเทพฯ เป็นต้น โดยในส่วนของกรุงเทพฯ ปัจจุบันช่องทางการจัดจำหน่ายยังไม่กว้างนัก เน้นในช่องทาง “ออนพรีมิส” หรือตามร้านอาหารและผับ บาร์ต่าง ๆ
สำหรับกลยุทธ์ด้านราคา วางตำแหน่งเป็น “พรีเมี่ยมแบรนด์” จากการผลิตในปริมาณที่ไม่มากนัก โดยใช้จุดเด่นในการเป็นเบียร์ท้องถิ่นในการทำตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพราะชื่อภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แน่นอนว่านอกจาก 2 ค่ายใหม่แล้ว จากโอกาสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปลายปีหน้า ถือเป็นโอกาสของเบียร์จากต่างประเทศที่จะเข้ามาบุกตลาดเมืองไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มหาศาล และมีการเติบโตต่อเนื่อง
ขณะที่ 2 ผู้นำไทยเบฟฯ กับบุญรอดก็มีการแผนเชิงรุกในแง่แบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริมทัพเช่นกัน ในส่วนของบุญรอดฯ มีการนำเบียร์ “คาร์ลสเบิร์ก” ที่มุ่งเจาะกลุ่มพรีเมียม เข้ามาเจาะตลาดตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ค่ายไทยเบฟฯ หลังจากซื้อเอฟแอนด์เอ็น ยักษ์เครื่องดื่มจากสิงคโปร์ ก็เตรียมนำเบียร์พม่าแบรนด์ “เมียนมาร์เบียร์” ของเอฟแอนด์เอ็น เข้ามานำร่องทำตลาดในไทยเร็วๆ นี้
เชื่อว่าศึกฟองเบียร์จากนี้จะเต็มไปด้วยสีสัน และความดุเดือด น่าติดตามยิ่งนัก
Partnership source : ประชาชาติธุรกิจ