HomePR Newsธ.ซีไอเอ็มบีไทย เผย ศก.ไทยจะเข้าสู่ช่วงเติบโตที่ช้าลง [PR]

ธ.ซีไอเอ็มบีไทย เผย ศก.ไทยจะเข้าสู่ช่วงเติบโตที่ช้าลง [PR]

แชร์ :

 

cimb-logo

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โดย ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ดร.อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของ G3 และจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2556 อย่างไรก็ตาม มีเพียงสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างค่อนข้างมั่นคง ขณะที่ประเทศอื่นมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาการชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 2557

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของ G3 และจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าระดับปกติเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีผลต่อการส่งออกของไทยน้อยกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งนี้ คาดว่า “เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะขยายตัวช้า ซึ่งจะส่งผลทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”

โดยผู้บริหารสำนักวิจัย ระบุว่า สหรัฐฯ มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ ราคาพลังงานที่ถูกลง และประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯครั้งนี้ การบริโภคจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำ และการส่งออกจะขยายตัวสูงขึ้นจากการความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อีกทั้งรัฐบาลจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องลดการใช้จ่าย เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ  ยุโรป  แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะหลุดพ้นจากสภาวะถดถอย แต่ปัญหาโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ไข กล่าวคือประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ต่างกันมากแต่ใช้เงินสกุลเดียวกันและขาดกลไกในการปรับตัว นอกจากนี้ ยังมี Austerity Measures ทำให้เศรษฐกิจยุโรปยังขยายตัวช้าและอ่อนแอ ตลอดจนยังมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาที่จะสร้างความผันผวนทางการเงินได้จากกรีซและสเปน ญี่ปุ่น มีแนวโน้มฟื้นตัวแค่ชั่วคราว จากการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุน คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตในอัตราที่ลดลงหลังการบริโภคชะลอตัว เนื่องจากการลดลงของรายได้ การปรับเพิ่มภาษีการค้า นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญปัญหาสังคมคนชรา หนี้ภาครัฐสูง ทำให้เศรษฐกิจมีศักยภาพที่จะขยายตัวในอัตราต่ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการลูกศร 3 ดอกของนายอาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Abenomics’ 3 Arrows) ว่าจะสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่ จีน  มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การฟื้นตัวของ G3 และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม จีนยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ ปัญหาสถาบันการเงินและแรงงานที่ลดลง รวมถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการทดแทนการลงทุนและการส่งออกโดยผ่านการบริโภค

                พร้อมกันนี้ ดร. อมรเทพ ได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่สำคัญสองประการ ปัญหาประการแรกคือไทยจะเข้าสู่ช่วงแห่งการเติบโตที่ช้าลงกว่าก่อน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริโภคที่จะชะลอตัวลง หลังจากที่ได้เร่งตัวขึ้นมากในปีก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงในปีที่ผ่านๆ มาได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ครัวเรือนจะเหลือเงินเพื่อการบริโภคลดลงหลังจากหักค่าเงินผ่อน ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ  เมื่อการบริโภคลดลง ธุรกิจก็จะปรับลดการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าลง โดยคาดว่าภาวะการชะลอตัวของการบริโภคจะดำเนินอยู่อีกราว 2 ปีเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตได้เหมือนช่วงก่อนหน้าตามภาวะหนี้ที่คาดว่าจะลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจต่างประเทศคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยได้อย่างจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่สภาวะการเติบโตที่ช้า โดยเฉพาะจีนที่อาจต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกทั้งสหรัฐฯ ที่แม้เศรษฐกิจจะโตได้แต่ก็ยังคงเปราะบางในด้านตลาดแรงงานและอาจกลายมาเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย อย่างไรก็ดี การส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 จะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในปีนี้และปีหน้า ปัญหาประการที่สองคือ ตลาดการเงินไทยจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัว อันจะมีผลเชิงลบต่อการลงทุนของไทย โดยเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามายังไทยนับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องในอดีตและสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยเร่งการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้เปลี่ยนสินทรัพย์สภาพคล่องหรือเงินทุนไหลเข้า มาเป็นสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องหรือสินเชื่อที่ปล่อยกู้ หากเงินทุนหยุดไหลเข้าหรือมีการไหลออกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับลดหรือถอนมาตรการ QE ของเฟด สภาพคล่องในตลาดเงินอาจเกิดภาวะตึงตัวได้ ทั้งนี้เมื่อการออมมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นซึ่งจะแย่งชิงแหล่งเงินออมจากภาคเอกชน อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาสู่ตลาดเอเชียชั่วคราวภายหลังจากที่มีความชัดเจนในมาตรการ QE ในปีนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือในอนาคต สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ย (คาดว่ากลางปี 2558) ซึ่งจะกดดันให้เงินไหลออกอีกครั้งในปีหน้า และส่งผลให้สภาพคล่องของตลาดเงินในประเทศตึงตัวมากขึ้นได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงและมีอัตราการเติบโต 2.8% โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะหดตัวลงอีกเล็กน้อยเทียบกับไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นมาเติบโตในไตรมาสสุดท้าย อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายที่แม้จะเติบโตจากไตรมาสที่ 3 แต่จะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปีก่อนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยทางสำนักวิจัยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2557 จะยังคงอยู่ในภาวะการเติบโตช้าๆ จากการบริโภคที่ยังคงอ่อนแอ คาดว่าจะปรับขึ้นไปที่ 3.4%

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น สำนักวิจัยมองว่าเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำมาพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% ในปีนี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และคงดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไปในปีหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ในส่วนของทิศทางค่าเงินนั้น สำนักวิจัยมองว่าค่าเงินบาทคาดว่าจะแข็งค่าได้อีกระยะหนึ่งหลังมาตรการ QE มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เงินลงทุนจะไหลกลับมาในภูมิภาคนี้ได้ชั่วคราวและส่งผลให้เงินบาทมาแตะอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสิ้นปีนี้ แต่กระแสเงินทุนจะไหลออกในอีกหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว และขึ้นดอกเบี้ยในปี 2558 ซึ่งจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยคาดว่าจะแตะอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปีหน้า


แชร์ :

You may also like