สสว. สรุปสถานการณ์ SMEs ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขณะที่การส่งออก ในช่วง 10 เดือนแรกมีมูลค่ากว่า 1.57 ล้านล้านบาท การจัดตั้งกิจการใหม่รวม 59,999 ราย คาดการณ์ปี 2557 GDP SMEs ขยายตัว 4.3-4.7 ปัจจัยบวกมาจากสถานกาณในประเทศดีขึ้น การส่งออกเพิ่มขึ้นผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปี 2556 และคาดการณ์แนวโน้มปี 2557 ว่า SMEs ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 2.74 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 98.5 ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงาน 11.78 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80.4 ของการจ้างงานรวมทั้งหมด ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ SMEs ปี 2556 โดยข้อมูลในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า การส่งออกของ SMEs มีมูลค่ารวม 1,571,145.18 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.3 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของที่ทำด้วยยาง โดยประเทศคู่ค้าหลักของ SMEs ไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
ในด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่า SMEs มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ จำนวน 59,999 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 โดยเดือนตุลาคม มีกิจการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ จำนวน 5,262 ราย กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน มีจำนวน 11,070 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 โดยเดือนตุลาคม มีกิจการที่ยกเลิกจำนวน 1,581 ราย กิจการที่ยกเลิกสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ และอสังหาริมทรัพย์
“จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. พบว่า ภาวะเศรษฐกิจของ SMEs ในปี 2556 ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น เห็นได้จากการขยายตัวของยอดการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์นั่ง พาหนะเพื่อการพาณิชย์ ซีเมนต์ผสม ฯลฯ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาต และปริมาณเงินความหมายแคบ คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2556 เศรษฐกิจของ SMEs (GDP SMEs) จะขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ราคาพืชผลการเกษตรหลายประเภทตกต่ำ การส่งออกมีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ผอ.สสว. กล่าว
ในส่วนคาดการณ์แนวโน้มปี 2557 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศ (GDP) จะมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 ขณะที่การขยายตัวของ SMEs (GDP SMEs) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.3-4.7 เป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกด้าน โดยการบริโภคภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มคงที่ในระดับต่ำซึ่งสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค การใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นตามงบประมาณปี 2557 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ผลจากการเติบโตของการลงทุนของรัฐบาล ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.9 จากโครงการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการปรับลด QE ของสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าขยายตัว โดยเฉพาะด้านบริการที่สำคัญคือการท่องเที่ยวของประเทศ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวม มูลค่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ส่วนการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 6 และ 7 ตามลำดับ
นายปฏิมา เปิดเผยต่อว่า จากการที่ สสว. ทำการวิเคราะห์โดยใช้ตารางปัจจัย-ผลผลิตของ SMEs (SME input-Output Table: IO Table) จำนวน 58 สาขา ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ และผลการศึกษาแนวทางการส่งเสริมกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีการเติบโตสูงของประเทศไทย (SME High Growth Sectors) พบว่า กลุ่มธุรกิจที่จะมีอนาคตสดใสเป็นดาวรุ่ง และกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง ในปี 2557 มีดังนี้
กลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกและภูมิภาค ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจบริการด้านสุขภาพ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน/อะไหล่ และกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
2.กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ต้องพึ่งพิงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในการแข่งขันในตลาดโลกและภูมิภาค เช่น กลุ่ม SMEs ในภาคก่อสร้าง ซึ่งมีโอกาสในการขยายตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก AEC ที่กำลังเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาประเทศ ซึ่งการส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดใหญ่และ SMEs ด้วยการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทย จะช่วยให้ SMEs ในธุรกิจดังกล่าว สามารถขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้เป็นอย่างดี
3. กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่รัฐต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไป ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน กลุ่มเกษตรกรรมโดยเฉพาะพืชพลังงาน กลุ่มขนส่งและ โลจิสติกส์ กลุ่มบริการด้านการศึกษา กลุ่มธุรกิจ IT และ ICT รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและส่งเสริม SMEs ให้ได้รับมาตรฐานในระดับสากล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี
ทั้งนี้ จากผลการศึกษา SME High Growth Sectors ได้มีข้อเสนอแนะถึงแนวทางในการส่งเสริมกลุ่ม SMEs ที่มีการเติบโตสูงทั้ง 3 กลุ่ม โดยหน่วยงานภาครัฐต้องบูรณาการความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือ SMEs ให้ครอบคลุมทุกระดับการเติบโต มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านตลาดเงินตลาดทุน เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย สามารถเข้าถึงได้สะดวก โดยเฉพาะตลาดทุนระดับแรก (Primary Market) การลดภาระทางภาษี การพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศไปสู่บุคลากรในสังคมแห่งความรู้ ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานคุณภาพในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนา (R&D) ในกลุ่ม SMEs และต้องปรับปรุง แก้ไขกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการเติบโตของ SMEs
กลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นสาขาธุรกิจหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของผลผลิตต่ำในปี 2555-2556 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบต่ำกว่า เช่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานมาก เช่น เครื่องหนัง การผลิตกระเบื้องเคลือบ ผลิตภัณฑ์แก้ว ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องประดับ ซึ่งมีการขยายตัวน้อยไปจนถึงหดตัว (ขยายตัวร้อยละ 0.22 ถึงหดตัวร้อยละ 11.0 )
2.กลุ่มโลหะ-อโลหะมูลฐานที่เป็นวัตถุดิบ เช่น เหมืองแร่ เหล็ก ถ่านหิน (มีการหดตัวลง ระหว่างร้อยละ 1.5 ถึง 12.3)
3.กลุ่มบริการทางธุรกิจบางประเภท เช่น บริการส่วนบุคคล มีการหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.12
“แม้สาขาธุรกิจหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวัง จะมีอัตราการเติบโตต่ำในช่วง 1–2 ปี ที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในระดับผลิตภัณฑ์ พบว่า ยังมีบางผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสาขาดังกล่าว ที่มีโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เน้นการสร้างคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่ม เช่น มีการออกแบบ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีการสนองตอบเฉพาะตลาดระดับบนหรือตลาดเฉพาะกลุ่ม ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนเมือง-คนรุ่นใหม่ มีการใส่ความเป็นไทยลงไป (Thainess) ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตอุปกรณ์และเครื่องแต่งกายกีฬาในเทศกาลการแข่งขัน ผลิตภัณฑ์กระเบื้องเคลือบตกแต่งบ้าน เครื่องหนังที่มีดีไซน์และใช้วัตถุดิบคุณสมบัติพิเศษ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีการออกแบบ ฯลฯ ซึ่งในส่วนภาครัฐก็จะเร่งให้การสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ” ผอ.สสว. กล่าวในที่สุด