ในช่วงเดือนที่ผ่านมา บนหน้าฟีดเฟซบุ๊กโลกโซเชียล เน็ตเวิร์ก เต็มไปด้วยคำว่า “The Jam Factory” พ่วงมากับคำว่า “The Never Ending Summer” และ “ร้านหนังสือก็องดิด” คนจำนวนไม่น้อยไปเยือนที่นี่มาแล้ว และบอกเป็นเสียงเดียวว่าที่นี่ “มีเสน่ห์” เพราะโครงสร้างอาคารของสถานที่ทั้ง 3 แห่งนี้ ดัดแปลงมาจากโกดังเก่าริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งธนฯ ผสานกับพื้นที่สีเขียวสบายตาอย่างลงตัว
สถานที่ทั้ง 3 แห่งตั้งอยู่บนที่ดินผืนเดียวกันของโครงการ “The Jam Factory” บนเนื้อที่ราว 4 ไร่ ย่านตลาดคลองสาน เดินเข้าไปในตัวโครงการ เห็นต้นไม้ใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า ชนิดที่ใครมาถึงแล้วไม่ขอถ่ายรูปต้นไม้ใหญ่ยักษ์ต้นนี้อาจเรียกว่ามาไม่ถึง The Jam Factory
ในความร่มรื่นใกล้ร่มไม้ พบ “ร้านหนังสือก็องดิด” เป็นด่านแรก ก่อนจะเจอแกลเลอรี่ขนาดย่อม ถัดจากนั้น เป็นโกดังหลังใหญ่ที่ตั้งออฟฟิศ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด สุดทางโครงการติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาคือ ร้านอาหาร “The Never Ending Summer”
ทีมข่าว “ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์” สัมภาษณ์ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกเจ้าของไอเดียโครงการ The Jam Factory ถึงพื้นที่น่าสนใจย่านฝั่งธนฯ แห่งนี้
ดวงฤทธิ์ เล่าว่า เริ่มแรกมาเจอที่นี่ เพราะเพื่อนรุ่นพี่ขอให้มาดูว่าทำอะไรได้บ้าง สภาพเดิมของพื้นที่ตรงนี้เป็นโกดังเก่า 4-5 หลัง หลังคาสังกะสี สภาพตัวตึกโทรม เรียกได้ว่ากำลังจะพัง และมีคนมาอยู่อาศัยบางส่วนในพื้นที่นี้ แรกๆ คิดว่า ไม่รู้จะทำอะไรได้ เพราะต้องปรับปรุงเยอะมาก น่าจะใช้เงินเยอะ แต่จังหวะเหมาะมาถึงเมื่อบริษัทดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกของเขาที่สยาม ดิสคัฟเวอรี่ ถึงเวลาต้องขยับขยาย เพราะบริษัทมีแผนจะเพิ่มพนักงานภายในปีนี้เป็น 60 คน
The Jam Factory มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 2,000 ตารางเมตร โกดังแต่ละหลังแต่เดิมเป็นโรงงานถ่านไฟฉายตรากบ โรงงานน้ำแข็ง และโรงงานทำยา เพราะแถบนี้เมื่อก่อนเป็นย่านอุตสาหกรรมเก่า ส่วนที่เป็นออฟฟิศของบริษัทดวงฤทธิ์ บุนนาค ใช้พื้นที่โกดัง 2 หลัง หรือประมาณ 800 ตารางเมตร ไอเดียของการจัดการพื้นที่ที่เหลือของดวงฤทธิ์ จึงผุดร้านหนังสือก็องดิดที่พ่วงธุรกิจร้านกาแฟเข้าไปด้วย ดูแลโดย “ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง” บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด ที่เคยมีประสบการณ์ทำร้านหนังสือก็องดิด ที่แยกคอกวัวมาแล้ว แต่พักกิจการไป
ส่วนร้านอาหาร The Never Ending Summer ได้ “นรี บุณยเกียรติ” ซึ่งเคยมีประสบการณ์ทำร้านอาหารเข้ามาดูแล ซึ่งเบื้องต้นทั้งร้านหนังสือ กาแฟ และร้านอาหารประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาด นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่แสดงงานศิลปะที่มีช่างภาพสาว “สิริมา ไชยปรีชาวิทย์” เข้ามาช่วยดูแล
ดวงฤทธิ์ เล่าว่า จังหวะนี้ เขาจะถือโอกาสปัดฝุ่นเฟอร์นิเจอร์ของเขา ภายใต้แบรนด์ Any Room ซึ่งเคยมีโชว์รูมแต่ก่อนอยู่ที่สยาม ดิสคัฟเวอร์รี่ แต่ปิดไปหลายปีเพราะยอดขายได้รับผลกระทบทางการเมืองตั้งแต่ช่วงม็อบพันธมิตร โชว์รูมของ Any Room จะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งที่ The Jam Factory ประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้
ส่วนที่มาของชื่อโครงการนี้ ดวงฤทธิ์เล่าว่า มาจากการไปเยี่ยมเพื่อนที่อังกฤษเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว และบ้านเพื่อนเป็นอาคารที่ดัดแปลงมาจากโรงงานแยม ที่ข้างผนังก่ออิฐสวยมาก มีชื่อเขียนไว้ว่า “Jam Factory” นับแต่นั้น เขาบอกเพื่อนไปว่า ถ้าทำออฟฟิศใหม่จะใช้ชื่อนี้ โครงการนี้จึงมีชื่อรอไว้ ตั้งแต่เขายังไม่เจอโกดังเก่าย่านคลองสานแห่งนี้
“คอนเซปต์ของพื้นที่ตรงนี้ค่อยๆ ชัดขึ้นมาเรื่อยๆ ถามว่าวันที่มีภาพแรกขึ้นมาในหัว กับตอนนี้ก็ถือว่าใกล้กันมากนะ บางอย่างก็ดีกว่าที่ผมคิด ร้านอาหารนี่ดีกว่าที่ผมคิดมาก”
“ส่วนออฟฟิศของผมก่อนย้ายมาที่นี่ผมโดนลูกน้องว่าเต็มเลย มันไกล มันจะเวิร์กเหรอไปอยู่ในตึกเก่าๆ มันไม่ปลอดภัย เดี๋ยวยุงเยอะ ไม่เห็นจะดีเลย ผมหูชาเลย แต่ผมเป็นผู้นำเขา บางทีผมเห็นอะไรไปไกลกว่าเขา บางทีมันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนรอบตัวเราเห็นเหมือนเรา ผมต้องพยายามบอกเขาว่า มาอยู่แล้วจะเป็นอย่างนี้นะ แบบนี้นะ พอมาอยู่จริงๆ แล้วทุกคนก็โอเค แต่คนไม่โอเคก็มีนะ เขาก็ออกไปด้วยข้อจำกัดเดินทางไกล ส่วนคนที่แฮปปี้มาสมัครงานใหม่ก็มี ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคิดว่าจะมีคนมาสนใจเยอะ มีหนังสือมาขอสัมภาษณ์ แต่เราเห็น vision นี้ตั้งแต่แรก ผมยังบอกเจ้าของที่ไปเลยว่า ถ้าทำตรงนี้เมื่อไหร่ มันจะเป็นที่ที่คนกรุงเทพฯ สนใจ พูดง่ายๆ ว่าจะเป็นที่ที่ดัง”
ดวงฤทธิ์ เล่าว่า แต่แรกเริ่ม เขาต้องรื้อบ้าน 2-3 หลังที่เบียดตัวกันอยู่บริเวณซึ่งปัจจุบันเป็นสนามหญ้าหน้าร้านหนังสือก็องดิดออก ทันทีที่รื้อบ้านออกเจ้าของที่ตกใจมาก บอกว่า ไม่เคยเห็นเลยว่ามีต้นไม้ต้นนี้อยู่ เพราะมันเป็นต้นไม้ที่สวยมาก โชคดีว่าที่นี่มีต้นไม้ใหญ่ 2-3 ต้น ที่ทำให้ที่นี่ดูดีและร่มรื่น
ในระหว่างทางการปรับโครงสร้างโกดังเก่าแห่งนี้ที่แม้จะเสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเพียง3-4เดือนดวงฤทธิ์เห็นว่าเป็นงานที่สนุกแต่เขาก็ได้รับสิ่งใหม่เป็น”ความปล่อยวาง”
“ผมเปรียบเทียบนะเวลาทำงานกับตึกเก่ามันเหมือนกับดนตรีแจ๊สมันต้องอิมโพรไวส์ไปตลอดทางต้องดิ้น ต้องแดนซ์ไปตลอด เต้นรำตลอดทาง ไม่รู้ว่าอะไรมันจะผุดขึ้นมาบ้าง ประเด็นก็คือว่า มันต้องปล่อยวาง”
“คือนิสัยสถาปนิกที่แย่อย่างหนึ่งคือเวลาคิดอะไรมันอยากให้เป็นอย่างนั้นเลยผมต้องฝึกตรงนั้นมากพอวางแผนไว้แต่มันไม่เป็นตามแผนก็ต้องปล่อยเลยต้องปล่อยวางให้เร็วมากรับสิ่งใหม่เข้ามาแล้วก็ต้องรีบทำผมมาได้ทักษะจากการทำโปรเจ็กต์แบบนี้เยอะเวลาเราทำงานอื่นที่ถูกสร้างขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์จากศูนย์เนี่ยมันไม่ยาก เพราะว่าเราเห็นภาพชัดเจนว่าจะเป็นยังไง แล้วก็แค่สร้างให้เป็นไปตามภาพ แต่งานนี้ไม่มีทางรู้เลย เรามีภาพคร่าวๆ มาทำจริง นี่ไม่ได้ ต้องแก้ คนส่วนใหญ่ก็จะแบบ break down หรือ upset คือ ฉันจะทำให้ได้ ผมก็จะไม่เป็นอย่างนั้น ผมก็จะปล่อยวาง ก็เอาอีกแบบแล้วกัน”
สำหรับดวงฤทธิ์แล้ว เขาเห็นว่า โครงการที่ต้องปรับปรุงอาคารเก่าเป็นงานที่มีเสน่ห์ เพราะได้เห็นความเชื่อมโยงทั้งในแง่เวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต แง่วัฒนธรรม และชุมชน เพราะอาคารเดิมๆ เหล่านี้ไม่ก้าวร้าวกับชุมชน โดยส่วนตัวเขาชอบวิธีที่งานของเขาแทรกตัวอยู่ในชุมชนอย่างลงตัว ซึ่งงานเช่นนี้มีอยู่เยอะมากในประเทศทางตะวันตก และไม่ว่าสถาปนิกหรือดีเวลล็อปเปอร์ในโลกตะวันตกใด หากเจอตึกหรืออาคารเก่าอย่างนี้ จะเป็นงานที่ทุกคนต่างอยากทำ ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวิธีคิดของสังคมไทย
“ถ้าดีเวลล็อปเปอร์มาเจอโครงการอย่างนี้ อันดับแรกคือรื้อทิ้งก่อน ให้เป็นที่กว้างๆ แล้วสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ อาจจะสร้างโกดังก็ได้ แต่ทำขึ้นมาใหม่ แต่ผมว่า วิธีคิดแบบนั้นมันไม่เวิร์กเท่าไหร่ อย่างในกรุงเทพฯ มีโกดังเก่าเยอะ ถ้าผมสร้างแบบนี้ได้ แล้วคนชอบ คนอื่นอาจจะทำบ้าง โดยที่มันก็ดี เพราะจะประหยัดทรัพยากร ใช้ของเก่าที่มีอยู่ให้มันเป็นประโยชน์ที่สุด”
“ผมว่า ชนชาติอื่น เขามีตรงนี้กันหมดเลย ผมสงสัยว่า ทำไมชนชาติไทยไม่มี คือคนไทยชอบให้มีรากเหง้าประเพณีติดมา แต่ถ้าเป็นอะไรที่หลังปี 2475 เนี่ย คือจะไม่ยอมให้มีรากเหง้าเลย ทำให้หายไป”
“นี่อาจเป็นวิธีคิดฝรั่งที่ว่า อะไรเหลืออยู่ต้องทำให้มันเต็ม ทำของที่ขาดให้มันเต็มจากสิ่งที่มีอยู่ แต่เรา 80-90 เปอร์เซ็นต์จะรื้อทิ้งแล้วทำใหม่ ลบทิ้งแล้วทำใหม่ ผมว่า มันเห็นได้หลายๆ อย่างในวัฒนธรรมของเรา ทั้งวัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการออกแบบ วัฒนธรรมการใช้ชีวิต คือเรามักจะชอบเริ่มต้นจากศูนย์แล้วเอาใหม่หมด มันกลายเป็นลักษณะของเราไปแล้ว มันอยู่ลึกๆ”
ดวงฤทธิ์ ทิ้งท้ายว่า “การลบทิ้งแล้วทำใหม่ มันทำให้หน้าตาของประวัติเราหายไป บางทีเราลบทิ้งทำใหม่ แล้วทำใหม่ให้หน้าตาเป็นของเก่า เราชอบแบบนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเสียดายนะ คือถ้าเราบอกว่าหน้าตามันเป็นไทยประเพณี เราจะให้ความสำคัญมาก เพราะมันดูดีมากเลย ที่เราเก็บตึกไทยประเพณีเอาไว้ แต่ไอ้ตึกนึงที่มีประวัติศาสตร์มา 50-60 ปี แต่แค่หน้าตามันไม่เป็นไทยประเพณี แต่มันก็มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นยุคนึงของสถาปัตยกรรม อันนั้นทุบทิ้งได้ ไม่ผิด”
“เรามองเห็นค่าอะไรบางอย่างแต่เราไม่เห็นค่าอะไรอีกอย่างหนึ่ง”
[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=27H7RfOgBLI[/youtube]
Partner : ประชาชาติธุรกิจ