“เกรย์ฮาวด์” ขอเวลา 3-5 ปี ก้าวขึ้นรีจินอลแบรนด์ ยกทัพแฟชั่นอวดโฉมเกาหลี สร้างเครดิต ต่อยอดขยายตลาดต่างประเทศ พร้อมลุยมัดใจขาช็อปอินโดนีเซียสิ้นปี เล็งเปิดเกรย์ฮาวด์คาเฟ่ใน “จีน-ฮ่องกง” เพิ่ม ด้านตลาดในประเทศรับแฟชั่นแข่งร้อนระอุ แตกไลน์พัฒนาคอนเซ็ปต์สโตร์ใหม่ รับเทรนด์ศูนย์การค้ายุคใหม่ ต้องแตกต่าง มีเอกลักษณ์
เป็น แรงสั่นสะเทือนที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อย เมื่อเกรย์ฮาวด์ได้ไปปรากฏโฉมในวงการแฟชั่นเกาหลีด้วยสโตร์ขนาดใหญ่ มีดาราชื่อดังจำนวนมากให้ความสนใจ สวมใส่เสื้อผ้าของแบรนด์เกรย์ฮาวด์ในช่วงที่ผ่านมา เฉกเช่นเดียวกับกระแสของเกรย์ฮาวด์คาเฟ่ โดนใจทั้งคนฮ่องกงและจีน จนต้องขยายสาขาเพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการ
“ประชาชาติธุรกิจ” มีนัดสัมภาษณ์พิเศษ “ภาณุ อิงคะวัต” และ “พรศิริ โรจน์เมธา” 2 คีย์แมนผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในเกรย์ฮาวด์ ที่ร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันตั้งแต่อยู่ที่ลีโอ เบอร์เนทท์ กระทั่ง “ภาณุ” แยกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง จากนั้นจึงดึง “พรศิริ” เข้ามาเป็นผู้บริหารในส่วนของร้านอาหาร
แม้จะออกตัวว่า “เกรย์ฮาวด์” ยังเป็นธุรกิจโมเดล SMEs แต่ดูเหมือนว่าทุกก้าวย่างและทุกความเคลื่อนไหว ทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร และแฟชั่น ล้วนต่างเป็นที่จับตามอง เป็นต้นแบบให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่อยากเติบโตและก้าวเดินในสไตล์ของ เกรย์ฮาวด์
“เกาหลี” ประตูสู่โอกาส
นายภาณุ อิงคะวัต ผู้อำนวยการผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เกรย์ฮาวด์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เปิดตัวร้านรูปแบบสแตนด์อะโลน แห่งแรกในต่างประเทศ ที่เกาหลี ย่านซินชา-กังนัม ในตึก Koon With A View โดยนำทั้งแบรนด์เกรย์ฮาวด์และเพลย์ฮาวด์เข้าไป เนื่องจากมองว่าตลาดแฟชั่นในประเทศดังกล่าวมีความน่าสนใจ และมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากเกาหลีเป็นผู้กำหนดเทรนด์และเป็นกระแสแฟชั่นหลักที่เกิดขึ้นในโลก
ที่ สำคัญเวทีนี้ยังเป็นการทำให้แบรนด์มีเครดิตเป็นที่ยอมรับมากขึ้น หากประสบความสำเร็จในตลาดดังกล่าวได้ จะเป็นประตูสู่โอกาสรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต
สำหรับ คอนเซ็ปต์แบรนด์ในต่างประเทศนั้น อยู่ในระดับกลางบนเช่นเดียวกับในไทย หากแบ่งตามสไตล์ของการแต่งตัวแล้ว ถือว่ามีคู่แข่งจำนวนมาก อาทิ อาเล็กซานเดอร์ วอง, กอมเดการ์ซง หรือแบรนด์ดีไซเนอร์ต่าง ๆ แต่ก็มีศักยภาพเติบโตสูง เพราะมีดีไซน์น่าสนใจและราคาเข้าถึงง่ายกว่าลักเซอรี่แบรนด์
ขณะที่ การตอบรับในเกาหลี เนื่องจากเพิ่งออกคอลเล็กชั่นสำหรับซีซั่นแรก จึงยังอยู่ในช่วงการเรียนรู้และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนใน พื้นที่ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่หนาวเย็น ต้องเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างไปจากการผลิตในไทย
โดยโมเดลการขยาย ธุรกิจในต่างประเทศ แบ่งเป็นการขยายผ่านมัลติแบรนด์ช็อป, สแตนด์อะโลน และช็อปอินช็อปในห้างสรรพสินค้า สำหรับในเกาหลี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3 สาขา ได้แก่ สแตนด์อะโลนช็อป 1 สาขา และช็อปอินช็อป 2 สาขา และยังมีตลาดอยู่ในประเทศอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
“ในปีนี้จะนำ “แอนนิมอล ฮาวด์” อีกแบรนด์ที่เราได้ซุ่มเปิดตลาด ที่ผ่านมาอาจมีทั้งคนรู้และไม่รู้ว่าเป็นของเรา แต่แอนนิมอล ฮาวด์ก็ไปได้ดีและเตรียมขยายเข้าไปในอินโดนีเซียเพิ่ม คาดว่าจะเปิดตัวเป็นรูปแบบช็อปอินช็อปในช่องทางของห้างสรรพสินค้า”
โมเดลใหม่รับศูนย์การค้า
นาย ภาณุกล่าวถึงตลาดแฟชั่นในเมืองไทยด้วยว่า ยังคงเป็นโชว์เคสที่สำคัญของแบรนด์ และจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยอมรับถึงผลกระทบการไหลบ่าของแฟชั่นในช่วง 2-3 ปีที่ทะลักเข้าสู่เมืองไทย อีกทั้งผลกระทบเศรษฐกิจที่เข้ามาเป็นตัวแปรใหม่ เนื่องจากแฟชั่นไม่ใช่สินค้าจำเป็น การทำตลาดช่วงนี้ต้องหันมาทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งการทำงานของหน้าร้านและทีมภายในจะต้องช่วยกันวิเคราะห์ และปรับสินค้าให้ตรงใจลูกค้า ทั้งเพิ่มไลน์สินค้าที่ย่อมเยา เข้าถึงง่ายขึ้น และแคมเปญ รวมถึงการสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาทิ เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม
“วันนี้เราประมาทไม่ได้ ทั้งแบรนด์นอกและแบรนด์ไทยที่ปัจจุบันมีเด็กใหม่ ๆ ทำอะไรน่าสนใจเยอะมาก เราจะอยู่เฉยไม่ได้ ทั้งเสื้อผ้าและร้านอาหาร เหมือนปั่นจักรยาน นอกจากดูซ้ายดูขวา ขายังต้องปั่นไม่หยุด เพราะหยุดเมื่อไหร่ก็ล้ม แต่เราจะเคลื่อนไปข้างหน้าแบบไม่หลุดเทรนด์และไม่หลุดโลก”
นอกจาก นี้ การขยายสาขายังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยในปีนี้เกรย์ฮาวด์ทั้งร้านอาหารและแฟชั่นจะเปิดสาขาในคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ภายใต้พื้นที่ 500 ตารางเมตร ซึ่งทิศทางต่อจากนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ แบรนด์ใหม่ ๆ คอนเซ็ปต์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด เนื่องจากศูนย์การค้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องการร้านที่มีสไตล์ แตกต่าง มีเอกลักษณ์ และกำลังศึกษาตลาดต่างจังหวัดที่มีศักยภาพอย่างหัวหินและภูเก็ต
ปัจจุบันเกรย์ฮาวด์มีทั้งสิ้น 14 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯทั้งหมด แต่มีการขายผ่านออนไลน์เพื่อรองรับการสั่งซื้อของลูกค้าต่างจังหวัด และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ชอบการช็อปปิ้งออนไลน์
มุ่งสู่รีจินอลแบรนด์
นาง พรศิริ โรจน์เมธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรย์ฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวว่า เกรย์ฮาวด์ได้เข้าไปเปิดตัวคาเฟ่ครั้งแรกในต่างประเทศเมื่อ 2554 ที่ฮ่องกง และขยายตัวต่อเนื่อง จนปัจจุบันในฮ่องกงมี 4 สาขา, ปักกิ่ง 1 สาขา และเซี่ยงไฮ้ 1 สาขา โดยเร็ว ๆ นี้จะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ รวมถึงกำลังศึกษาศักยภาพในตลาดและคู่ค้าอื่น ๆ ในแถบเอเชีย ทั้งสิงคโปร์, มาเลเซีย และเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มที่รู้จักแบรนด์เกรย์ฮาวด์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ส่วนรูป แบบการลงทุนจะเป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด เพราะเชี่ยวชาญมากกว่า โดยเฉพาะคอนเน็กชั่นกับเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม งบฯลงทุนจะสูงกว่าในไทย 1 เท่า ประมาณ 30 ล้านบาทต่อสาขา จึงต้องคัดเลือกพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินเป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยบริษัทตั้งเป้าก้าวสู่รีจินอลแบรนด์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งกลุ่มแฟชั่นและร้านอาหาร อาศัยโอกาสจากการเปิดเออีซี ทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง และเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในภูมิภาค จะช่วยพัฒนาตลาดแฟชั่นไลฟ์สไตล์ให้มีความเป็นเมืองมากขึ้น
“ร้าน อาหารกับแฟชั่นไม่เหมือนกัน ใครพร้อมก็ไป พาร์ตเนอร์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาก็มีคนมาคุย แต่เราไม่สามารถเปิดหรือขยายได้ปีละ 50 หรือ 100 สาขาต่อปี ถ้าหากตลาดพร้อม ทาร์เก็ตใช่ และเราพร้อม ก็ไปได้ อย่างการควบคุมวัตถุดิบให้มีรสชาติและคุณภาพยังคงเป็นความท้าทายหลัก เราไม่ต้องเร่งรีบ แต่ก็ไม่ปิดโอกาส เพราะคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ”
ปรับตัวรับ ศก.-การแข่งขัน
นาง พรศิริฉายภาพความเคลื่อนไหวของธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามา โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ท้าทาย รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจในภาพรวมที่ชะลอตัวลง แต่กลยุทธ์ของเกรย์ฮาวด์ คาเฟ่ยังคงยึดเรื่องของการมีบรรยากาศและบริการที่ดี และที่สำคัญอาหารต้องมีความอร่อย
“เราต้องมั่นคงในจุดยืน อย่าไปวิ่งตามกระแส เพราะถ้าเปลี่ยนไปตามเทรนด์อาจอร่อยสู้เขาไม่ได้ ที่ผ่านมาตัวเลือกใหม่ ๆ เข้ามามาก แต่เกรย์ฮาวด์ก็ยังไปได้ดี เหมือนช่วงที่มีเมนูพิเศษเข้ามาเสริม ลูกค้าอาจทดลองในตอนแรก แต่สุดท้ายแล้วลูกค้าก็จะกลับมาสั่งเมนูเบสิก ๆ ก๋วยเตี๋ยวห่อหมูสับ ข้าวผัดปลาสลิด สปาเกตตีปลาอินทรีเค็ม” นางพรศิริกล่าว
Partner : ประชาชาติธุรกิจ