HomeBrand Move !!กลยุทธ์ปั้นละครฉบับ “ช่อง 3” “ตอบจริตผู้ชม…ไม่มีสูตรตายตัว”

กลยุทธ์ปั้นละครฉบับ “ช่อง 3” “ตอบจริตผู้ชม…ไม่มีสูตรตายตัว”

แชร์ :

TV3 Drama strategy

การเกิดของ “ทีวีดิจิทัล” ที่เริ่มทดลองออกอากาศมาตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ชมจากเพียง “ฟรีทีวี” 6 ช่อง มาเป็น 24 ช่องธุรกิจ ทำให้สมรภูมิการแข่งขันดุเดือดขึ้นเป็นทวีคูณ หนึ่งใน คอนเทนต์หลักที่ถือเป็น “หมัดเด็ด” ในการดึงเรตติ้งและฐานผู้ชม หนีไม่พ้น “ละคร” ที่หลายค่ายใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการเจาะใจผู้ชมในวงกว้าง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

วันนี้ สมรภูมิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่แค่เพียง “ฟรีทีวี” ที่ขับเคี่ยวกันระหว่าง “ช่อง 7-ช่อง 3” รวมถึงช่อง 5 อีกต่อไป แต่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงมูลค่าธุรกิจ “ละคร” ที่จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

 

สำหรับ ช่อง 3 ที่วันนี้นอกจากช่องแอนะล็อกเดิมแล้ว ยังเป็นเจ้าของอีก 3 ช่องทีวีดิจิทัล หลายปีที่ผ่านมาถือเป็น “ขาขึ้น” ของยักษ์ใหญ่รายนี้ที่สามารถตีตื้น ช่วงชิงทั้งกระแสและเรตติ้งไปจากช่อง 7 ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ทั้งหมดมาจากการ “ลองผิดลองถูก” ในการผลิตละครมาหลายปี จนมาค้นพบสูตรโดนใจ

ตั้งแต่ซีรีส์ “4 หัวใจแห่งขุนเขา” ตามด้วยมงกุฎดอกส้ม ดอกส้มสีทอง แรงเงา จนถึงซีรีส์ “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ที่เข็นให้ละครของช่อง 3 ฮิตติดลมบน โดยเฉพาะกระแสในโซเซียลมีเดีย

ผู้อยู่เบื้องหลัง “สมรักษ์ ณรงค์วิชัย” รองกรรมการผู้จัดการ และผู้จัดการฝ่ายรายการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ออกตัวว่า ละครที่ประสบความสำเร็จของช่อง จริง ๆ ไม่ได้มีสูตรตายตัว แต่เป็นการผลิตละครที่เป็นไปตามสภาพแวดล้อม ดูสถานการณ์ ความนิยมมาประกอบ

หรือบางครั้งก็ใช้วิธีโยนละครแนวใหม่ ๆ ลงไป เพื่อ “ทดลอง” ความสนใจของผู้ชม

ท้าย ที่สุดแล้ว การผลิตละครของช่อง 3 ต้องยืนอยู่บนไลฟ์สไตล์ของผู้ชมเป็นหลัก นั่นหมายถึง ต้องรู้ว่าผู้ชมต้องการอะไร แล้วปรับละครให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ชมในยุคนั้น ๆ

“ผู้ชมยุคนี้ เข้าใจอะไรง่าย ๆ ต้องการความรวดเร็ว ดังนั้นจะเห็นว่าเนื้อหา บทประพันธ์ของละครจะเป็นอะไรที่เข้าใจง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องปูเรื่องให้ยืดยาว”

“สมรักษ์” อธิบายว่า วันนี้รูปแบบของละครต้องมีการปรับอยู่ตลอดเวลา หากย้อนกลับไปชมละครเมื่อ 10 ปีก่อน เห็นชัดว่าแตกต่างจากละครปัจจุบัน เพราะละครเป็นเรื่องที่ต้องปรับให้สอดรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทั้ง พฤติกรรมผู้ชม ความสนใจ และเทคโนโลยี และหัวใจสำคัญในการผลิตละครแต่ละเรื่องก็อยู่ที่ “บทประพันธ์” ที่ต้องคัดสรรมาเป็นอย่างดี

“ถ้าไม่เด็ดก็ไม่ซื้อ หลังจากนั้นก็อยู่ที่การนำเสนอ ซึ่งต้องคุยกับผู้จัดและผู้เขียนบท เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

เขาถือคติว่า การเล่าเรื่องและบทประพันธ์ต้องดึงความสนใจของผู้ชมให้อยู่หมัด ส่วนเรื่องอื่นค่อยตามมาทีหลัง แน่ นอนว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้การผลิตละครเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทำให้มีมุมแปลก ๆ และสามารถนำเสนอเรื่องราวใหม่ได้มากขึ้นด้วย

ส่วน นักแสดง ผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง “สมรักษ์” ย้ำว่า เป็นทรัพยากรที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า จะสร้างและพัฒนานักแสดงอย่างไร เพราะทรัพยากรบุคลากรทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเป็นสิ่งที่ต้องสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา บวกกับเวลาในการบ่มเพาะที่ไม่ใช่สั้น ๆ ฉาบฉวย แต่ต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปี ถึงจะทำงานได้ดี

“การ สร้างนักแสดงนำของช่อง 3 ต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปีทีเดียว เริ่มจากให้นักแสดงเรียนการแสดงเสียก่อนลงสนามจริง ต้องทำเวิร์กช็อป ซึ่งต้องผ่านการประเมินผลจากผู้สอนการแสดงด้วย หลังจากนั้นจึงให้นักแสดงเข้าไปเล่นในบทต่าง ๆ ก่อนจะประเมินศักยภาพการแสดงอีกครั้งว่าจะสามารถแสดงบทพระเอกหรือนางเอกได้ หรือไม่”

ดูเหมือนเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ทุกอย่างต้องใช้ความใส่ใจในทุกขั้นตอนเช่นกัน ด้วยกระแสและความนิยมในคอนเทนต์ละครที่ยักษ์ใหญ่รายนี้สามารถรักษาได้อย่างต่อ เนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ไม่เพียงจะได้รับความสนใจในประเทศเท่านั้น แต่ยังดังไกลไปถึงต่างประเทศอย่าง “จีน” และไต้หวัน ที่เป็นกลุ่มหลักที่ให้ความสนใจ

“สมรักษ์” แจงว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศนี้เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ละครของช่อง 3 อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 10 เรื่อง อาทิ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ โดยไต้หวันให้ความสนใจซื้อยกแพ็กทั้ง 5 เรื่องไปแล้ว

วันนี้ ช่อง 3 ยังพรั่งพร้อมไปด้วยทีมงานผลิตละครที่ถือว่ามากที่สุดในวงการ โดยแต่ละปีมีแผนการผลิตละครเฉลี่ยถึง 40 เรื่อง ด้วยจำนวนผู้จัดละครทั้งสิ้น 20 ทีม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลจะทำให้จำนวนช่องเพิ่มขึ้นตามไป ซึ่งทุกช่องล้วนแต่บรรจุละครลงในผังรายการ ส่งผลให้การแข่งขันบนสมรภูมินี้รุนแรงขึ้น แต่บิ๊กบอส “สมรักษ์” บอกว่า ไม่ได้กังวล เพราะคำตอบอยู่ที่ “ผู้ชม” เป็นหลัก ไม่ใช่ช่อง หน้าที่ของช่อง คือ ต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้ชมและ “ทำให้ดีที่สุด”

หากสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ แน่นอนว่า “ผู้ชม” ก็จะไม่กดรีโมตไปไหนแน่นอน

 

 

Partner : ประชาชาติธุรกิจ 


แชร์ :

You may also like