ทีเอ็นเอส (TNS) บริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำ เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มดิจิทัลชาวไทย Connected Life ที่ระบุว่าโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางสำคัญที่สุดในการเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตของประชากรไทย โดยผลสำรวจนี้ยังเผยให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ใช้เวลากว่า 3.1 ชั่วโมงต่อวันกับโทรศัพท์มือถือ และกว่า 2.6 ชั่วโมงเป็นการออนไลน์ผ่านมือถือ ขณะที่อัตราการรับสื่อประเภทอื่นอย่างเช่นการฟังวิทยุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 13 นาทีต่อวัน และ 5 นาทีต่อวัน สำหรับการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร โดยมีโทรทัศน์เป็นสื่อเดียวที่ยังได้รับความสนใจอย่างมากในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ด้วยอัตราเฉลี่ยการรับชมโทรทัศน์เฉลี่ยกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งทุกวัน โดย 36% เปิดดูโทรทัศน์เป็นสิ่งแรกในตอนเช้า ขณะที่ 57% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปิดสวิตซ์ดูโทรทัศน์ในตอนค่ำ
มร.โจ เว็บบ์ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านกลยุทธ์ดิจิทัลของทีเอ็นเอส โกลบอล กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดในไทย ตามมาด้วยอุปกรณ์อื่นๆ โดยมีอัตรา 43 นาทีต่อวันสำหรับการใช้แท็บเล็ต และกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์ในเวลาว่าง สะท้อนให้เห็นว่าสำหรับ ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และตอบรับการใช้อินเทอร์เน็ตในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันโดยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา
มร.โจ กล่าวต่อว่า ขณะที่ในปัจจุบันเรากำลังเห็นพฤติกรรมการใช้สื่อที่หลากหลายในทุกๆส่วนของโลก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยกลับมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเลือกใช้แพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือในรูปแบบที่หลากหลายน้อยกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก ความนิยมในแพลตฟอร์มออนไลน์แต่ละรูปแบบในต่างประเทศนั้นจะกระจายตัวในกลุ่มผู้ให้บริการประเภทเดียวกันหลายราย แต่ผลสำรวจในประเทศไทยพบว่าแพลตฟอร์มออนไลน์โซเชียลมีเดียมีเพียง Facebook ทีได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แพลตฟอร์มวีดีโอออนไลน์มีเพียง Youtube ที่ได้รับความนิยมสูง แม้แต่แพลตฟอร์มบริการส่งข้อความแบบทันทีก็มีเพียง LINE ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยในวงกว้าง
ผลสำรวจ TNS Connected Life พบว่า โซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมอย่างเฟซบุ๊ก ค่าเฉลี่ยของการใช้งานในประเทศไทยอยู่ในระดับที่มากกว่าประเทศอื่นๆทั่วโลกมาก โดย 87% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เข้าเฟซบุ๊กทุกสัปดาห์ เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 47% ขณะที่แอพพลิเคชั่นไลน์ได้รับความนิยมกว่า 2 ใน 3 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกมีเพียง 1 ใน 10 ที่ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ การรับชมวิดีโอออนไลน์ผ่านยูทูบก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน โดยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มีการเปิดชมทุกสัปดาห์ เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยเพียง 35% ในระดับโลก
ดร.อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประโยชน์หลักที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนิยมสูงสุดคือการได้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว โดยกว่า 61% เข้าใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับโลกซึ่งอยู่ที่ 42% ตามมาด้วยบริการส่งข้อความแบบทันที ซึ่งผลสำรวจพบว่ากว่า 62% ใช้บริการส่งข้อความแบบทันทีทุกๆสัปดาห์นอกจากนี้ โทรศัพท์มือถือยังเข้ามาเติมเต็มความต้องการที่แตกต่างสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตั้งแต่การซื้อของ ไปจนถึงการดูวิดีโอ การเล่นเกม และบริการธนาคารออนไลน์ เห็นได้จากหลากหลายบริการที่ผูกกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือมากขึ้นทุกวัน ซึ่งในสภาพตลาดเช่นนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์สินค้าที่ต้องสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดแบบโมบายมาร์เก็ตติ้ง (Mobile Marketing) โดยทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มดิจิทัลที่มีวิถีชีวิตผูกติดกับโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก
ส่วนหนึ่งของโลกยุคดิจิทัลที่ยังคงไม่ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย คือการช็อปปิ้งออนไลน์ ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีความยินดีที่จะหาข้อมูลสินค้าออนไลน์ ประเภทของสินค้าที่มีการซื้อออนไลน์ ก็ยังเฉพาะเจาะจงอยู่แค่ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น และภาพยนตร์
มร.โจกล่าวสรุปว่า “ผู้บริโภคกลุ่มดิจิทัลในประเทศไทยยังคงต้องการที่จะสัมผัสสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของการจ่ายเงินออนไลน์ และคุณภาพของสินค้าที่จะได้รับ ถ้าร้านค้าปลีกออนไลน์สามารถให้ความมั่นใจในเรื่องเหล่านี้ได้ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และกระตุ้นให้เกิดการซื้อออนไลน์มากขึ้น”