HomeBrand Move !!พีแอนด์จีขายทิ้ง 100 แบรนด์ น้ำหอม-เครื่องโกนหนวด…จ่อคิวถัดไป

พีแอนด์จีขายทิ้ง 100 แบรนด์ น้ำหอม-เครื่องโกนหนวด…จ่อคิวถัดไป

แชร์ :

proctor-and-gamble

หลังจากประกาศแผนปรับพอร์ตองค์กร ด้วยการลดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่าน ล่าสุดกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือพีแอนด์จี ได้ตัดสินใจขายธุรกิจถ่านไฟฉาย “ดูราเซลล์” ให้กับกองทุนเบิร์กเชีย ฮาธาเวย์ ของมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ อย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยมูลค่ากว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบัฟเฟตต์จะจ่ายเป็นหุ้นพีแอนด์จีที่ตนถืออยู่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงให้กับบริษัทผลิตขนม “มาร์” ไปแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยตามแผนการปรับตัวของพีแอนด์จีนั้น นอกจากดูราเซลล์และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังต้องขายแบรนด์ที่ถืออยู่อีกไม่ต่ำกว่า 80-100 แบรนด์ หรือประมาณ 10% ของรายได้บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ไม่ดีนัก และหันไปโฟกัสกับธุรกิจที่ผลประกอบการดีกว่ารวมถึง 37 แบรนด์หลักที่มีรายได้ระดับ 500-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแทน

พอลล์ ฟ็อก โฆษกของพีแอนด์จี กล่าวว่า แบรนด์ที่บริษัทจะเก็บเอาไว้นั้นจะต้องมีความโดดเด่นและเป็นผู้นำในหลายด้าน เช่น ความแข็งแกร่งของตราสินค้า มีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น ผลประกอบการในระดับน่าประทับใจและมีนวัตกรรม ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตและสร้างผลกำไรได้มากขึ้นในขณะที่ภาระการบริหารและจัดการลดลง

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ทางการเงินหลายรายได้พยายามคาดคะเนว่าธุรกิจใดจะถูกพีแอนด์จีนำออกขายเป็นรายต่อไป ซึ่งธุรกิจที่อยู่ในรายชื่อนี้ เช่น ธุรกิจน้ำหอม เครื่องโกนหนวด ร้านเสริมสวย และกระดาษชำระ

อาลี ดิแบจ นักวิเคราะห์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ แซนฟอร์ด ซี เบิร์นสไตน์ ให้ความเห็นกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจน้ำหอม ซึ่งรวบรวมแบรนด์ในชื่อดีไซเนอร์และนักร้องดังอย่างเอสคาดา และคริสติน่า อากีเลร่า จะถูกนำออกขายเป็นรายต่อไป สอดคล้องกับข้อมูลจากโฆษกของพีแอนด์จีเมื่อเดือนตุลาคมที่ระบุว่าใน 25 แบรนด์ที่บริษัทขายไปแล้วนั้นมีน้ำหอมแบรนด์นาโอมิ แคมป์เบลล์ รวมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกัน เอ.จี.ลาฟลีย์ ซีอีโอของพีแอนด์จี ได้แสดงท่าทีว่า บริษัทจะขายแบรนด์น้ำหอมที่ถืออยู่ออกไปอีก โดยกล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจน้ำหอมของบริษัทอุ้ยอ้ายเกินไปแล้ว ด้วยจำนวนแบรนด์ที่มีมากกว่า 20 แบรนด์ ทำให้การบริหารและทำตลาดด้อยประสิทธิภาพ แตกต่างจากยุครุ่งเรืองในอดีตที่บริษัทมีแบรนด์ชื่อดังเพียง 3-4 แบรนด์ เช่น ฮิวโก้ บอส ลาคอส และกุชชี่

ส่วนธุรกิจกระดาษชำระนั้น ดิแบจวิเคราะห์ว่า เป็นธุรกิจที่ให้ผลกำไรต่ำ โดยแบรนด์ชาร์มมิ่งมียอดขายคิดเป็น 2% ของรายได้รวม ด้านแบรนด์พัฟฟ์ยิ่งเลวร้ายหนัก เพราะสร้างยอดขายได้เพียง 0.5% เท่านั้น ทำให้ธุรกิจน่าจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่จะถูกขายออกไปเช่นกัน

 

สำหรับธุรกิจเครื่องโกนหนวด แจ๊ค รุสโซ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เอ็ดเวิร์ด โจน ได้วิเคราะห์ว่า เครื่องโกนหนวด แบรนด์บรอน (BRAUN) ที่พีแอนด์จีได้มาตอนซื้อยิลเลตต์ เมื่อปี 2005 นั้น เป็นสินค้าที่มีราคาสูงเกินไป โดยเฉพาะเมื่อมองถึงสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐในเวลานี้ คงมีไม่กี่คนที่ยอมเสียเงิน 322 ดอลลาร์สหรัฐกับเครื่องโกนหนวด ด้านตลาดยุโรปเองก็อิ่มตัวมากแล้ว

รุสโซยังได้กล่าวถึงธุรกิจร้านเสริมสวยที่มีแบรนด์อย่างเวลล์ลา,วิดัล แซสซูน และไคโร ว่า ธุรกิจสายนี้อยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญของพีแอนด์จีซึ่งถนัดด้านผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่พีแอนด์จีจะถอนตัวจากธุรกิจนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคคงได้แต่ลุ้นกันต่อไปว่า แบรนด์โปรดของตนที่อยู่ในมือพีแอนด์จีจะมีชะตากรรมเป็นอย่างไร หากผู้ที่ซื้อไปบริหารได้ดี แบรนด์น่าจะอยู่ต่อไปได้ แต่หากล้มเหลว คงไม่พ้นต้องกลายเป็นตำนาน

 

Partner :  ประชาชาติธุรกิจ


แชร์ :

You may also like