แม้ว่าสตาร์บัคส์จะมีจุดยืนในการเป็นร้านกาแฟที่มุ่งให้ทั้งรสชาติ และประสบการณ์การดื่มกาแฟหรูหรามีสไตล์แก่ลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่งดูจะได้ผลดีจนทำให้ปัจจุบันการดื่มกาแฟกลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว แต่เหมือนว่าตัวแบรนด์เองจะยังไม่พอใจเพียงแค่นี้ เมื่อล่าสุดสตาร์บัคส์ได้เปิดร้านกาแฟโมเดลใหม่ในชื่อว่า “Starbucks Reserve Roastery and Tasting Room” ที่ฉีกแนวออกไปจากรูปแบบร้านสตาร์บัคส์เดิม ๆ ชนิดไม่เหลือเค้าเดิม
สตาร์บัคส์ได้เปิดตัวร้าน “Starbucks Reserve Roastery and Tasting Room” สาขาแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ร้านโมเดลใหม่นี้ยังคงออกแบบโดย “ลิซ มูลเลอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของบริษัทเช่นเดิม ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 1,400 ตร.ม. ประกอบด้วยหน้าร้านที่เป็นร้านกาแฟและโรงคั่วกาแฟ ในธีมโรงงานช็อกโกแลตของวิลลี่ วองการ์ ในเรื่องชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต ซึ่งสำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ได้ให้นิยามว่าเป็นการผสมผสานกันระหว่างร้านค้า โรงงาน และโรงละคร
พร้อมกันนี้ สตาร์บัคส์ได้เปิดไลน์แบรนด์เมล็ดกาแฟไฮเอนด์ไลน์ใหม่ชื่อว่า“Reserve” ซึ่งจะผลิตจากโรงคั่วกาแฟในร้านนี้ โดยบริษัทให้ข้อมูลว่า ตลอดช่วงที่เปิดทำงานปีแรก คาดว่าส่วนที่เป็นโรงคั่วกาแฟในร้านจะสามารถผลิตเมล็ดกาแฟถุงเล็กประมาณ 226 กรัมได้รวมกันถึง 635 ตัน ซึ่งบริษัทจะส่งไปวางขายในร้านสตาร์บัคส์กว่า 1,500 สาขาทั่วอเมริกา ในราคา 13-50 ดอลลาร์สหรัฐ
ไม่เพียงกาแฟเท่านั้น ร้านใหม่นี้ยังเสิร์ฟอาหารของเชฟ “ทอม ดักลาส” พ่อครัวชื่อดังของสหรัฐ และเมนูพิซซ่าตามฤดูกาลจากภัตตาคาร Serious Pie ที่อยู่ในตึกเดียวกัน ไปจนถึงขนมอบ แซนด์วิช สลัด และของหวานอีกด้วย
พร้อมกันนี้ “โฮเวิร์ด ชูลทส์” ซีอีโอของสตาร์บัคส์ กล่าวว่า ร้านนี้เกิดจากประสบการณ์ที่บริษัทสั่งสมมา และจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่สำหรับสตาร์บัคส์ด้วยการเป็นร้านเรือธงของเชน “Reserve cafe”s” ที่จะแยกจากสตาร์บัคส์เพื่อจำหน่ายกาแฟระดับไฮเอนด์โดยเฉพาะ
พร้อมทั้งเผยแผนที่จะสร้างร้านในโมเดลนี้เพิ่มอีก 100 สาขาในปีหน้า โดยจะเล็งเป้าไปที่เขตเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก และวอชิงตัน ดี.ซี.
ทั้งนี้ สำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ยังได้วิเคราะห์ว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นความพยายามของสตาร์บัคส์ที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่ม นักดื่มกาแฟระดับไฮเอนด์ รวมถึงเกาะกระแสการเติบโตของตลาดกาแฟหายาก ซึ่งเกิดจากความนิยมในกาแฟที่มาจากแหล่งผลิตพิเศษ หรือผลิตเฉพาะฤดูกาล จนทำให้เมล็ดกาแฟในตลาดนี้ราคาสูงถึง 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 500 กรัม
โดยที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ไม่สามารถจับผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ เพราะถูกมองว่าระดับของแบรนด์ไม่สูงพอ ทำให้ต้องเสียโอกาสเข้าถึงลูกค้ากระเป๋าหนักเหล่านี้ “ไลล่า กลัมบาลิ” ผู้บริหารของร้าน Cherry Street Coffee House หนึ่งในร้านจำหน่ายกาแฟหายากให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองว่าสตาร์บัคส์เหมือนแมคโดนัลด์ของธุรกิจร้านกาแฟ
นอกจากนี้ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ยังชี้ว่า การที่สตาร์บัคส์พยายามเข้าสู่ตลาดกาแฟไฮเอนด์ยังสะท้อนถึงการบริโภคกาแฟในสหรัฐที่เริ่มลดลง ทั้งจากการอิ่มตัวของตลาดและความนิยมของเครื่องทำกาแฟรุ่นใหม่อย่าง Nespresso ที่ใช้ระบบแคปซูลมาช่วยกดดันตลาด
ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แผนยกระดับแบรนด์ของสตาร์บัคส์ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และหากร้านโมเดลใหม่นี้ประสบความสำเร็จ คอกาแฟชาวไทยอาจมีโอกาสได้สัมผัสร้านกาแฟไฮเอนด์ของสตาร์บัคส์บ้างก็เป็นได้
Partner : ประชาชาติธุรกิจ