เกิดอะไรขึ้น ทำไม “ช.ช้าง” ถึงถูกลบออกจากชื่อของเซเลบบริตี้ทั้งหลาย??? นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย Brand Buffet ไปหาคำตอบมาให้แล้วพบว่า เหตุผลก็เพราะ วันที่ 12 มกราคม เป็นจุดเริ่มต้นของแคมเปญ “ช.ช้าง ช้วยช้าง” ที่ โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ สร้างสรรค์แคมเปญให้กับ WWF รณรงค์เรื่องการค้าสินค้าที่มาจากช้าง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปริมาณการฆ่าช้างจากการสร้างจิตสำนึกของผู้ซื้อและผู้ขาย
ความจริงที่หลายคนไม่เคยรู้ก็คือ ในแต่ละปีมีช้างแอฟริกาที่ถูกฆ่าถึง 20,000 ตัว และประเทศไทยนี่แหละ ที่เป็นตลาดค้างาช้างที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ค้างาช้างผิดกฎหมายเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศจีนเท่านั้น และยิ่งน่าเศร้าเพราะการฆ่าช้างมนุษย์เราไม่ได้ฆ่าเพราะความอยู่รอด หรือนำมาเป็นอาหาร แต่มนุษย์ฆ่าช้างเพียงเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องเสริมบารมีโชคลางเท่านั้นเอง แคมเปญ “ช.ช้างช่วยช้าง” จึงมุ่งเน้นที่จะสื่อสารไปสู่ผู้ซื้อทั้งหลาย ให้คนในสังคมช่วยกัน ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ส่งเสริมให้วงจรธุรกิจนี้ดำเนินต่อไป
วิธีการก็คือ ระดมพลังของสื่อมวลชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนชั่น, ไทยรัฐ และเซเลบบริตี้จำนวนหนึ่ง ให้เอา “ช.ช้าง” ออกจากชื่อ นามสกุล หรือสถานที่ต่างๆ ที่ตัวเองไป เช่น “ณเด_น์ คูกิมิยะ” หรือ ลายเซ็นต์ของนักเขียนการ์ตูน “_ย ราชวัตร” เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการรับรู้ว่า “ช.ช้าง” กำลังหายไป แล้วเราจะทำอย่างไรถ้าหากประเทศไทยไม่มี “ช.ช้าง” นาน 1 สัปดาห์ แคมเปญนี้จะเริ่มต้นด้วยโทรทัศน์ที่มีบทสัมภาษณ์ของนักข่าว 3 คน ประกอบด้วย ชัยรัตน์ ถมยา, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ เพื่อสร้างความใจเรื่องการค้างาช้าง อธิบายตามหลักวิชาการและประสบการณ์ของนักข่าวแต่ละท่านที่เกาะติดสถานการณ์เรื่องการล่าช้างเอางาหรือประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เจอะเจอเรื่องของช้าง
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=oYntwHbxp9U[/youtube]
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=DGRHjCwNZ7Y[/youtube]
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=tLqBOZ1xbmA[/youtube]
หลังจากนั้นก็ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียของเซเลบบริตี้ทั้งหลายช่วยกันกระจายการรับรู้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากเซเลบบริตี้หลากหลายวงการที่เห็นความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น อ.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ, นักข่าวรุ่นใหญ่ สุทธิชัย หยุ่น กับเทพชัย หย่อง, ดาราที่ทำงานเรื่องสิทธิของสัตว์มาโดยตลอดอย่าง เก๋-ชลลดา หรือเน็ตไอด้อลตัวพ่อ-ตัวแม่ของวงการ เช่น ปลื้ม และ ทับทิม VRZO บิวตี้ bloggersและ แฟนเพจโซเชียลมีเดียเช่น ทูนหัวของบ่าว, มะขวิด,จอนนี่แมวศุภลักษณ์, เบ๊นอาปาเช่, คนอะไรเป็นแฟนหมี เป็นต้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะของจริงมีคนดังที่ตอบรับเข้าร่วมแคมเปญโดยตรงมากกว่า 30 ราย ยังไม่รวมกับกระแสกระเพื่อมจนเหล่าคนดังอีกหลายคนทำตาม แล้วในที่สุดก็เป็นแฟชั่นที่คนดังและคนทั่วไปทำตามจน “ช.ช้าง” หายไปจากประเทศไทย ภายใต้แฮชแท็ก #ชช้างช่วยช้าง และ #wwfthailand ในเฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม
จุดมุ่งหมายของแคมเปญก็คาดว่าจะทำให้ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและให้คนไทยร่วมกันแสดงความรักช้างและไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นแหล่งฟอกงาช้างผิดกฎหมายอีกต่อไปโดยร่วมต้านการฆ่าช้างเอางา โดยเอาควมรักและความผูกพันที่คนไทยมีต่อช้างมาเป็นตัวกระตุ้น
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=Nxvb4BTJ-mM[/youtube]
ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับงาช้าง เช่น งาช้างสามารถงอกใหม่ได้ตลอด หรือการตัดงาไม่ทำให้ช้างตาย แต่แท้ที่จริงเเล้วการฆ่าช้างเพื่อเอางาจำเป็นต้องผ่ากระโหลกช้างและถอดงาทั้งกิ่งเพื่อให้ได้ราคาดี งาช้างสามารถงอกใหม่หากถูกถอดงาและมีคุณสมบัติทางเคมีไม่ต่างอะไรกับฟัน “สิ่งที่คนไทยทุกคนท ำได้ คือ หยุดคิดว่าเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ จะสามารถแก้ปัญหาระดับโลกอย่างนี้ได้อย่างไร ทุกคนต่างก็ช่วยได้ ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนแสดงพลังผ่านแคมเปญ ช.ช้าง ช่วยช้างนี้ และแสดงออกถึงความรักที่มีต่อช้างที่เป็นสัตว์ สัญลักษณ์ของคนไทยทุกคน โดยการให้คำมั่นว่าจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และบอกต่อไปยังเพื่อนและครอบคัวว่า การักช้างให้ถูกวิธี คือ การให้งาอยู่ที่ตัวช้าง” จันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการโครงการรณรงค์การต่อต้านการค้างาช้าง, WWF-ประเทศไทย กล่าว
การรณรงค์เรื่องงาช้างด้วยวิธีการแบบนี้ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความจริงแล้วเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ในวันที่ 15 มกราคม ที่จะถึงนี้ประเทศไทยจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติต่อคณะกรรมาธิการไซเตส หลังจากที่ได้ยื่นเสนอแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยต่อคณะกรรมาธิการไซเตส เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยมีเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น มิฉะนั้นประเทศไทยจะเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าในกลุ่มสินค้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) อันนำรายได้มาสู่ประเทศ เช่น กล้วยไม้และหนังจระเข้