เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวงการ Startup เมืองไทย สำหรับ แอพพลิเคชั่น StockRadars แอพพลิเคชั่นสำหรับวิเคราะห์และติดตามราคาหุ้นในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่นักลงทุน ถือเป็น Startup คนไทยที่ประสบความสำเร็จไปอีกก้าว ได้ตกลงร่วมทุนกับนักลงทุนต่างประเทศ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไซเบอร์เอเจนท์ เวนเจอร์ส จำกัด (Cyber Agent Ventures) ประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท อีสท์เวนเจอร์ จำกัด (East Ventures) ประเทศสิงค์โปร์-ญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มทุนสำหรับการทำการตลาด StockRadars ให้สามารถขยายตลาดสู่ตลาดโลก รวมทั้งช่วยพัฒนาให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานระบบวิเคราะห์หุ้นแบบเรียลไทม์ที่จะช่วยให้การลงทุนของนักลงทุนทุกคนง่ายมากยิ่งขึ้น
ไม่ใช่ขนาดบริษัท ไม่ใช่ผลงาน แต่ต้องสร้าง “คุณค่า”
แต่กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ธีระชาติ ก่อตระกูล, CEO & Co-Founder บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น StockRadars เล่าว่า เดิมบริษัทเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นอยูแล้ว ที่ผ่านมาก็เคยทำแอพพลิเคชั่นมาแล้วประมาณ 50 แอพฯ เคยมีพนักงานจนกลายเป็นบริษัทขนาดกลางๆ ในวงการดิจิตอลบริษัทหนึ่งเลยทีเดียว แต่ในที่สุดก็คิดได้ว่าน่าจะหันมาพัฒนาโปรดักท์ของตัวเองมากกว่า
“ตอนนี้มีพนักงาน 14 คน เน้นองค์กรแบบ Lean เคลื่อนที่ได้เร็ว งานอะไรที่ไม่ถนัดเอาท์ซอร์สออกให้หมด ครั้งหนึ่งผมก็เคยมีพนักงานเยอะๆ แต่มาคิดได้ตอนที่อินสตาแกรมขายบริษัทให้เฟซบุ๊ค ตอนนั้นเขามีพนักงานอยู่แค่ 11 คน ก็เลยคิดว่ามันต้องบริหารให้ทุกคนมีประสิทธิภาพ และก็คิดว่าต้องสร้างโปรดักท์ของตัวเองมันถึงจะมี Value”
ที่ผ่านมา StockRadarsเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบเพียงแค่ 1 ปี แต่มีจำนวนผู้ใช้บริการสูงถึง 1 แสนห้าหมื่นกว่าคน และคาดว่าหลังจากการพัฒนาระบบวิเคราะห์หุ้นแบบเรียลไทม์ จะมีผู้ใช้บริการสูงขึ้นเป็น 3 แสนคน รวมทั้ง Raise Fund (คำที่เหล่าสตาร์ทอัพใฝ่ฝัน) ได้รวมแล้วเป็นตัวเลข 9 หลัก แต่ ธีระชาติ ยังต้องทำงานอย่างหนักต่อไปกับการปรับปรุงให้เป็นแอพฯ ที่รายงานผลแบบเรียลไทม์ พัฒนาจากตอนนี้ที่เป็นการรายงานผลหลังตลาดปิดแล้วเพื่อดูแนวโน้มในวันถัดไป รวมทั้งลุยไปยังตลาดประเทศอื่น
ใช้ “ภาษาสากล” ฐานลูกค้าเพียบ
การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเรื่องหุ้นมีข้อได้เปรียบอย่างมากในการบุตลาดต่างประเทศ เพราะ “ภาษาหุ้น” คือ “ภาษาสากล” เครืองมือ Indicators, Patternหรือ กราฟต่างๆ ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันทั่วโลกเป็นองค์ความรู้ที่นักเก็งกำไรทั่วโลกต่างก็ศึกษาและใช้เครื่องมือวิเคราะห์หุ้นแบบเดียวกัน (จะมีก็แค่ตลาดหุ้นของจีนเท่านั้นที่เวลาหุ้นขึ้นเป็นสีแดง) ดังนั้น เมื่อทดลองกับตลาดหุ้นของไทยได้ประสบความสำเร็จ โมเดลเดียวกันนี้ก็สามารถยกไปใช้กับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ได้เลย
ดังนั้นทาง StockRadars จึง ตั้งเป้าหมายจะสามารถพัฒนาฟังก์ชันสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศกว่า 5 ประเทศ 5 ภาษา ภายใน 2 ปี โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของแต่ละประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ , อินโดนีเซีย , ญี่ปุ่น , ฮ่องกง และออสเตรเลีย รวมทั้งยังพัฒนาต่อไปพร้อมบุกตลาดโลกอีกเรื่อยๆ
ต้องมี Passion
ธนฉัตร ตั้งศรีวงศ์ Investment Manager, CyberAgent Ventures ตัวแทนจากบริษัทผู้ที่ใส่เม็ดเงินเข้ามาให้กับ StockRadars ในลักษณะ Venture Capital กล่าวถึงเกณฑ์การลงทุนที่เหล่าบริษัท Venture Capital มองว่าจะลงทุนกับ Startup รายไหน มีดังนี้ 1. ทิศทางของธุรกิจมีโมเมนต์ตั้มที่ดี ทั้งเรื่องของขนาดตลาด ความพร้อมของระบบที่เกี่ยวข้อง ธนฉัตรอธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า ถ้าหากมองว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรและตลาดใหญ่มาก แต่ประเทศไทยก็อาจมีระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปิดรับมากกว่า ก็อาจเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาควบคู่กัน
2. ผู้ประกอบการมี Passion ทาง VC ไม่สนใจคนที่ Build For Sell แต่สนใจคนที่มี Pain Point กับอะไรบางอย่างจนรู้สึกเจ็บปวด อึดอัดแล้วอยากแก้ปัญหาตรงนั้น
3. มีเคมีตรงกัน สามารถทำงานร่วมกันได้
ปัจจุบันทาง CyberAgent Ventures ได้เข้าไปร่วมทุนกับ 2 ธุรกิจแล้ว ประกอบด้วย PriceZa และ aCommerce เพราะมองว่าต่อไปโอกาสของ อี-คอมเมิร์ชมีศักยภาพที่น่าจะเติบโตได้อีกมาก StockRadars ถือเป็นรายที่ 3 และมีแผนกำลังเจรจากับผู้ประกอบการอีก2-3 ราย
ตอบโจทย์อย่างแตกต่าง
ทางด้าน AIS เป็นอีกพาร์ทเนอร์หนึ่งที่ช่วยให้ StockRadars ประสบความสำเร็จ หลังจากผลักดันใหเแอพฯ นี้ เข้าร่วม SingTel Group – Samsung Workshop เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าประกวดซอฟต์แวร์ดีเด่นประจำปี 2014 ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Financial Industry Application เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มองว่า การที่นักพฒนาของไทยสามารถสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นที่แตกต่าง และเป็นประโยชน์กับกลุ่มนักลงทุนได้อย่างแท้จริง โดยเมื่อผนวกเข้ากับการเติบโตของตลาด Mobile Application อันเกิดจากการเข้าถึงของอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ก็ยิ่งจะเป็นโอกาสให้กับ Startup คนไทยมากยิ่งขึ้น ในส่วนของเอไอเอสก็จะมีโปรโมชั่นพิเศษ และช่วยสนับสนุนด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์บริการของ Startup ที่ร่วมโครงการกับเอไอเอสให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
โดย ปรัธนา สรุป Key Success Factors for Startup เอาไว้ว่า 1. สินค้าและบริการต้องตอบโจทย์ลูกค้า แต่ในขณะเดียวกันต้องมีความแตกต่างมากพอที่จะทำให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่ง 2. มีช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย สำหรับแอพฯ หุ้นนี้ก็เป็นความสนใจที่เติบโตอย่างมากในกลุ่มคนเมืองและคนรุ่นใหม่ เห็นได้จากการที่มีแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันมีแอคเคานท์ที่เปิดพอร์ตลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ล้านบัญชี แต่แอ็คทีฟจริง 3-4 แสนบัญชี
ธุรกิจที่ดีต้อง “หาเงิน” ได้
แอพฯ StockRadars เปิดให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าหากว่าอยากใช้เต็มรูปแบบต้องเสียค่าบริการ 0.99 เหรียญ เป็นราคาเริ่มต้นของบางฟีเจอร์ จะใช้แบบ Full Option ก็ได้ หรือจะเลือกเป็นบางฟีเจอร์ก็ได้ โมเดลการหารายได้ก็มาจากส่วนนี้นี่เอง ถึงแม้ว่าปัจจุบันพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทยไม่ค่อยจ่ายเงินเพิ่มเติมเท่าใดนัก มีเพียงแอพฯ ประเภทเกมเท่านั้นที่คนยอมจ่ายเงิน ส่วนแอพฯ ที่ซีเรียสคนยอมจ่ายเงินแค่ 1-2% เท่านั้น แต่ทาง StockRadars ก็มั่นใจว่าน่าจะโดยใจนักลงทุน
“คนที่เป็นนักลงทุนจะไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นค่าใช้จ่ายแต่เขามองว่าเป็นนักลงทุน เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดรายได้ ดังนั้นพฤติกรรมก็น่าจะแตกต่างจากการใช้งานแอพพลิเคชั่นอื่นๆ และถ้าคนไทยยอมจ่าย เมื่อเราไปตลาดต่างประเทศก็น่าจะยิ่งดีขึ้นไปอีก เพราะประเทศที่เรามองไว้ว่าจะไปมีอัตราการใช้ของถูกลิขสิทธิ์หรือยอมจ่ายเงินเพื่อบริการเหล่านี้สูงกว่าคนไทยทั้งนั้น ถ้าทำให้คนไทยจ่ายได้ ไปที่อื่นก็สบายแล้ว” เจ้าของแอพฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม StockRadars มีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ส่วนหนึ่งที่ต้องให้กับทางตลาดหลักทรัพย์เพื่อดึงเอาข้อมูลมาใช้เป็นต้นทุนหลัก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับคู่แข่งเดิมๆ ที่ในกลุ่มคนเล่นหุ้นมีการใช้บริการแอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมวิเคราะห์หุ้นมากมายทั้งจากต่างประเทศและในประเทศไทยมากมาย สำหรับ StockRadars เป็นเครื่องมือที่ช่วยสแกนหุ้นในเบื้องต้น แล้วนำไปทำการบ้านต่ออีกทอดหนึ่งเท่านั้น เพราะเป็นแอพฯ ทางมือถือ ที่เน้นความสะดวกใช้งานง่ายเป็นหลัก และต่อไปก็จะพัฒนาเรื่องการวาดกราฟที่จะทำให้ง่ายขึ้น, การแบ่งปันสูตรการเทรดของนักลงทุนเอง และการจดบันทึกพอร์ตของนักลงทุน