ภายในงานสัมนาของนิตยสาร BrandAge ในหัวข้อ Consumer Trend to Watch 2015 ที่เปิดเผยแนวโน้มของผู้บริโภคในปีนี้ ซึ่งส่งผลต่อการสื่อสารการตลาด ที่นักการตลาดและโฆษณาควรรู้ โดย วฤตดา วรอาคม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านนวัตกรรม-กลยุทธ์ดิจิทัลและโซเชียล บริษัท แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป จำกัด ได้รวบรวม 6 หัวข้อสำคัญเทรนด์ที่สำคัญมานำเสนอ ดังนี้
1. Human Injection
จากเดิมที่แบรนด์ต้องสื่อสารแต่เรื่องจริงจังเท่านั้น ปัจจุบันแบรนด์ต้องทำตัวให้คล้าย “คน” แซวได้ เล่นได้ และสื่อสารแบบเรียล-ไทม์ โดยเริ่มจากแบรนด์ต่างประเทศตามกระแสที่เกิดขึ้น เช่น ซูเปอร์โบล์ หรืออย่างเช่นที่ เฟซบุ๊คล่ม ช็อคโกแลตคิดแคท (Kit Kat) ก็แซวว่า “แม้แต่ Facebook ก็ยังพักเบรค Have a Break” นี่คือตัวอย่างที่ผู้บริโภคต้องการจากแบรนด์
2. Wearable Domination
เรื่องของ Wearable Device เป็นเรื่องที่พูดกันมากในระยะ 2-3 ปีหลัง แต่นับจากนี้เป็นต้นไป อุปกรณ์เหล่านี้จะมีดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น มีรูปแบบให้เลือกมากขึ้นทั้งที่เป็นแหวน, จิลเวอลี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Apple Watch ที่น่าจะกระตุ้นตลาดกลุ่มนี้ได้สมชื่อ Apple
สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจากดีไวซ์แบบนี้ก็คือ การแชร์จะทำได้มากขึ้น จากเดิมที่แชร์แค่สเตตัส, รูป แต่ต่อไปจะมีการแชร์อุณภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Sense ต่างๆ ของผู้สวมใส่หรือจับความรู้สึกคนได้มากขึ้น เมื่อเกิดอาการเครียดก็ปรับสมอง ปล่อยเสียงที่ทำให้หายเครียด
3. Digital Sanity
การดีท็อกซ์ออกจากอาการก้มหน้าติดอยู่กับสมาร์ทโฟน กลายเป็นเทรนด์ที่แบรนด์นำมาใช้ในงานโฆษณา
4. Anti-Facebook
มีตัวเลขที่ระบุว่าวัยรุ่นหนีออกไปจากเฟซบุ๊ก เพราะว่าพ่อแม่เข้ามาในโซเชี่ยลมีเดียนี้มากขึ้น วัยรุ่นอเมริกันหันไปเล่น SnapChat หรือมีโซเชียลมีเดียที่ประกาศตัวชัดเจนว่าเกิดขึ้นมาเพื่อแอนตี้เฟซบุ๊กอย่างเช่น Ello ส่วนประเทศอื่นๆ ก็มีทั้ง LINE, Kakao, Viber แล้วแต่ความนิยมของประเทศนั้นๆ สิ่งที่น่าจะได้เห็นก็คือการตลาดวิธีการใหม่ๆ ในช่องทางเหล่านี้ ในประเทศไทยเองสิ่งที่ได้เห็นก็เช่น ทวิตเตอร์ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 380% ในปีที่ผ่านมา โดยคนไทยมีวิธีการเล่นทวิตเตอร์ในแนวเอนเตอร์เทน มีแฮชแท็กตลกๆ อย่าง #ร้องไห้หนักมาก ขณะที่ต่างชาติจะใช้ทวิตเตอร์เพื่อแชร์ความคิดเห็นที่ซีเรียสกว่า
5. All New Feminism
หลายๆ ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้นทั้งเรื่องธุรกิจ แวดวงเซเลบบริตี้ นักแสดงอย่าง เอ็มม่า วัตสัน, เจนิเฟอร์ ลอร์เรนซ์ มีพลังขับเคลื่อนสิทธิสตรี แบรนด์เองก็จับกระแสนี้ เช่น ของเล่น GoldieBlox ที่พูดว่าเด็กผู้หญิงก็เล่นเป็นวิศวกร เป็นนักบินได้เหมือนกัน การ์ตูน Frozen ก็เปลี่ยนวัฒนธรรมเดิมของการ์ตูนดิสนี่ย์ที่เจ้าหญิงต้องคู่กับเจ้าชาย มาเป็น Sisterhood โชว์พลังหญิง แม้แต่ “บาร์บี้” สัญลักษณ์ของเด็กผู้หญิง ก็มีคาแร็กเตอร์ที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=IIGyVa5Xftw[/youtube]
6. Less-Fortunate Sympathy
ยุคนี้จะเป็นยุคที่คนอยากช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าตัวเอง แบรนด์ควรนำเสนอจุดยืนของตัวเอง แล้วนำเอาสิ่งที่แบรนด์ต้องการนำเสนอมาเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในแนวทางที่ดีขึ้น เช่น โดฟ ที่บอกว่าให้ผู้หญิงมั่นใจในความสวยของตัวเอง แล้วก็ตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ
เย้ๆๆ อีกหนึ่งช่องทางรับข่าวสารกับ Brand Buffet ผ่าน LINE ไม่ตกหล่นทุกข่าวสำคัญ
เพิ่มเพื่อนรัวๆ ที่ ID : @brandbuffet