HomeBrand Move !!“เซ็นทรัล” ลุย อี-คอมเมิร์ซ เต็มกำลัง “ลาซาดา – เอ คอมเมิร์ซ” ระส่ำเร่งปรับกลยุทธ์

“เซ็นทรัล” ลุย อี-คอมเมิร์ซ เต็มกำลัง “ลาซาดา – เอ คอมเมิร์ซ” ระส่ำเร่งปรับกลยุทธ์

แชร์ :

central online

ต้องบอกว่าเป็นปีที่คึกคักสุดๆ ของตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ในเมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้า “เซ็นทรัล” ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการขายสินค้าออนไลน์ของตัวเองอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน “ลาซาด้า” เว็บไซต์อันดับอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของประเทศก็ปรับตัวรุกหนักเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในอีคอมเมิร์ซให้ได้ รวมทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่าง “เอ คอมเมิร์ซ” ก็เร่งพัฒนาระบบเพื่อซัพพอร์ตการขายในออนไลน์ให้ครบถ้วนตั้งแต่การสั่งซื้อ จ่ายเงินไปจนถึงการจัดส่ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“เซ็นทรัล” เดินหน้าเต็มตัว ด้วยความน่าเชื่อถือ

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นเวลากว่า 3 ปีที่ เซ็นทรัล ควบรวมกิจการกับ ออฟฟิศเมท เข้ามาเป็นอีกหนึ่ง Business Unit ในเครือ ส่วนหนึ่งเพราะว่าอยากได้ระบบการบริหารจัดการสั่งสินค้า และโลจิสติคของบริษัทแห่งนี้ และในปีนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เซ็นทรัลจะสยายปีกจากรีเทลสู่ออนไลน์เต็มตัว  หลังจากเทสต์ตลาดมาปีกว่า ขนเอาสินค้ามาให้ผู้บริโภคคลิกช็อปปิ้งกันถึง 50,000 SKUs เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีรายการสินค้าอยู่ 40,000 SKUs หวังดึง Traffic เข้าสู่ร้านค้าออนไลน์ของเซ็นทรัล จากเดิม 1 Users ให้กลายเป็น 7 ล้าน Users แล้วสร้างรายได้ให้กับเซ็นทรัล 800 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้ในกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล

ข้อได้เปรียบหนึ่งของ “เซ็นทรัล” อยู่ที่แบรนด์ ซึ่งผูกพันกับผู้บริโภคและพาร์ตเนอร์มาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าคอสเมติคที่เซ็นทรัลมีเคานท์เตอร์จำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อยู่แล้วเมื่อมาทำออนไลน์ผู้บริโภคก็มั่นใจได้เลยว่าเป็นของแท้ อีกทั้งยังมีเรื่องคะแนนสะสมที่นำเอาแต้ม The 1Card มาแลกเป็นส่วนลดได้ ถือว่าเป็นการ Synergy เอาระบบ CRM ของตัวรีเทลมาใช้กับออนไลน์ และความน่าเชื่อถือนี้ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อครั้งของ User โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500-3,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งถือว่าสูงกว่าเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซรายอื่น โดยสัดส่วนลูกค้ามาจากกทม. 50% และต่างจังหวัด 50% โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ยังไม่มีห้างเซ็นทรัลเปิด

  Central_E-Commerce

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า “ตลาดออนไลน์เติบโตเร็วมาก Growth เฉลี่ย 25-30% ต่อเดือน ผมขอยกตัวอย่างเทียบกับประเทศอื่นๆ เทียบดู ตอนนี้ประเทศไทยซื้อผ่านออนไลน์แค่ 0.5% ของกำลังการผลิต ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้ว 5% จะเห็นได้ว่ายังเติบโตได้อีกมาก ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ตอนนี้เซ็นทรัลมีค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง 6% ต่อไปในระยะยาวค่าขนส่งจะถูกลงเรื่อยๆ”

เมื่อยักษ์ใหญ่ลงมาขยับด้วยตัวเองสื่อโฆษณาจึงมีให้เห็นเพียบ โดยชูเอาเรื่องความค่าเชื่อถือมาขยี้ใจสาวนักช็อป เพราะ 3 อันดับแรกของสินค้าขายดีสำรับเซ็นทรัลก็คือ เครื่องสำอาง, เครื่องใช้ไฟฟ้า, สินค้าแม่และเด็ก จึงอาศัยการทำตลาดด้วยภาพยนตร์โฆษณา และสื่อออนไลน์ อีกทั้งจะมีโปรโมชั่นดึงดูดให้ผู้บริโภคช็อปได้เรื่อยๆ โปรโมชั่นหมุนเวียนมาลดกระหน่ำอยู่ตลอด “พฤติกรรมของผู้บริโภคออนไลน์เริ่มจาก Flash Sale คือ โปรโมชั่นก่อน ต่อมาจะเป็นเรื่องของความสะดวกและความน่าเชื่อถือ” วรวุฒิกล่าว

[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=ZP_04o2KdlA[/youtube]

Lazada เผย 4 กลยุทธ์สู้ศึกอีคอมเมิร์ซใน SEA

เพื่อสู้ในศึกอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ลาซาด้า” วาง 4 กลยุทธ์เพื่อทำให้ 3 Share Holders ประกอบด้วย ลูกค้า, ผู้ค้า และพนักงาน ได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งเรื่องของสินค้ามีคุณภาพในราคาสมเหตุสมผล ระบบง่ายเงินที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และในส่วนของพนักงานก็มัการเรียนรู้อยู่เสมอ

สัดส่วนอุปกรณ์ที่เข้าเว็บลาซาด้า lazada sale growth

อัตราการเติบโตของลาซาด้า

1. ระบบการขนส่งสินค้า ลาซาด้าทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพในการขนส่งสินค้า โดยปัจจุบัน ลาซาด้ามีโกดังสินค้า 8 แห่ง ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เวลา 3 ปีที่ผ่านมา วางระบบในเรื่องนี้ มีบริการจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วนของลาซาด้าครอบคลุมจุดบริการหลัก 50 จุด ใน 80 เมือง

ลาซาด้ายังร่วมมือกับบริษัทจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วนและบริษัทขนส่งกว่า 60 รายทั่วภูมิภาค

2. การชำระเงิน ลาซาด้ารู้ดีว่า การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตยังไม่เป็นที่นิยม: ในหลายประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม และประเทศฟิลิปปินส์ ประชากรประมาณร้อยละ 70 ยังไม่มีบัญชีธนาคาร ดังนั้นจึงไม่มีบัตรเครดิต หรือแม้แต่ในประเทศไทยผู้บริโภคก็ยังกังวลเรื่องของความปลอดภัย จึงเป็นที่มาของระบบชำระเงินเมื่อส่งสินค้า (Cash On Delivery) รวมทั้งกำลังเตรียมวางระบบการจ่ายเงินใหม่ที่เรียกว่า “Hello Pay” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เร็วๆ นี้

3. ขาดแคลนทรัพยากรและประสบการณ์ ลาซาด้าใช้วิธีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้ขายทำงานได้ง่ายขึ้น มีระบบช่วยอย่างรวดเร็ว และการวิเคราะห์เชิงลึกในแง่การขาย การตลาด และการกำหนดราคา

4. วัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาซาด้าพยายามใช้ Local Talent ในการทำงานเพื่อทำให้เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละท้องถิ่น

Riccardo-Basile_Lazada-2

นอกจากกลยุทธ์ที่กล่าวมาแล้ว ริคคาร์โด บาซิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด ยังเปิดเผยถึงเรื่องการเติบโตของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลข ผู้เข้าชมสินค้าของลาซาด้าผ่านโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 50% มีดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นลาซาด้าทางระบบแอนดรอยด์ 5.9 ล้านคน และiOS อีก 2.5 ล้านคน จากสถิติของลาซาด้า ประเทศไทย ณ เดือนธันวาคม 2557 ซึ่งมีจำนวนการเข้าชมทั้งหมด 20 ล้านครั้ง โดยมีจำนวนผู้ขายมากกว่า 2,500 และพนักงานของลาซาด้าเอง 600 คน ดังนั้นลาซาด้า ก็จะพัฒนาในเรื่องการรับชมและซื้อขาสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 4G เข้ามา เพราะจะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นและช่วยเพิ่ม Traffic ให้กับลาซาด้า รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อทำให้เกิดความผิดพลาดและข้อร้องเรียนน้อยลง แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์ในโลกออนไลน์แต่ในฐานะเจ้าของเว็บไซต์ลาซาด้ามีหน้าที่ทำให้เกิดความโปร่งใส ความง่ายกับผู้ค้าขาย รวมทั้งรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด

ส่วนเรื่องการที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัลมีแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง ริคคาร์โด มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาในตลาด พื้นที่อีคอมเมิร์ซยังเปิดกว้างและเติบโตได้อีกมาก

device ecommerce

อุปกรณ์ที่ผู้เข้าสู่ลาซาด้าในปัจจุบัน กว่า 50% เป็นโทรศัพท์มือถือ

เอ คอมเมิร์ซ ต้องรู้ใจลูกค้าถึงขายของได้

ในขณะที่ผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมร์ซแบบเต็มรูปแบบอย่าง “เอ คอมเมิร์ซ” ก็เร่งสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าด้วยระบบที่งานนี้ใช้บริการของ “คริทิโอ”(Criteo) ช่วยคาดการณ์ความต้องการและแนะนำสินค้าให้กับผู้บริโภคของคริทิโอจะใช้ประโยชน์จากการมีข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และพัฒนาข้อมูลเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการขยายขีดความสามารถและความยืดหยุ่นให้กับลูกค้า จนเกิดเป็น Re-Targeting ที่มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์กับทั้งตัวลูกค้าและผู้ค้าขายด้วยระบบของเอ คอมเมิร์ซ เพราะระบบนี้ดึงเอาข้อมูลความสนใจพฤติกรรมในการหาข้อมูลและความตั้งใจในการซื้อสินค้าของผู้บริโภครายนั้นๆ มาวิเคราะห์แล้วนำเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการ โดยเชื่อมโยงกันทั้งการใช้งานในเดสท์ท็อป และโทรศัพท์มือถือซึ่งเหมาะกับทุกสถานการณ์ในชีวิต อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค

Sheji-Ho

เชจิ โฮ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอ คอมเมิร์ซ กล่าวว่า “เอ คอมเมิร์ซให้ความสำคัญกับการ Convert ทุก Click และ Visit ให้เกิดยอดขายสูงสุด ด้วยงบประมาณที่ต่ำที่สุด ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับการใช้สื่อให้ตรงกับกลุ้มเป้าหมาย พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการ Cross Device โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงเช่น กลุ่มไอที ก็จะมีการหาข้อมูลมากๆ หลายๆ ที่ ดังนั้นการเก็บข้อมูลที่สามารถข้ามจากเดสท์ท็อปไปที่โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างแคมเปญที่ตรงกับ Mindset ของผู้บริโภคแต่ละบุคคล”

ส่วนเรื่องที่ว่าเซ็นทรัลก็เข้ามาทำตลาดอีคอมเมิร์ซเองนั่น ทาง เชจิ มีความเห็นว่า “เซ็นทรัลเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศไทยการที่เข้ามาในตลาดนี้เพราะว่าถูกเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซทั้งหลาย เช่น ลาซาด้า แย่งรายได้ แต่เซ็นทรัลก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ และการเข้ามาในครั้งนี้ก็น่าจะเพิ่มขนาด Pie ให้กับอีคอมเมิร์ซในภาพรวม ลูกค้าก็จะมีประสบการณ์กับการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ในฐานะผู้ให้บริการก็ต้องพร้อมรับมือกับประสบการณ์และความคาดหวังที่เพิ่มขึ้น”

ศึกอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในปีนี้ดุท่าว่าจะมาแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งการเข้ามาของยักษ์ใหญ่เซ็นทรัล ยิ่งปีนี้จะมีการประมูล 4G อย่างแน่นอนแล้ว ก็น่าจะทำให้ผู้บริโภคหันมาทดลองซื้อสินค้าผ่านของทางนี้มากขึ้น

ecomerce thai visits จำนวนผู้เข้าชม

จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในรอบปี (สถิติจากลาซาด้า)

อีกหนึ่งช่องทางรับข่าวสารผ่าน LINE ไม่ตกหล่นทุกข่าวสำคัญ

  เพิ่มเพื่อนรัวๆ  ที่ ID :   @brandbuffet

เพิ่มเพื่อน
Photo : ประชาชาติธุรกิจ


แชร์ :

You may also like