กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ คว้ารางวัลชนะเลิศ “Global Earth Hour Capital” หรือ “เมืองยั่งยืนต้นแบบของโลก” จากโครงการ “Earth Hour City Challenge” หรือ “โครงการปลุกเมืองให้โลกเปลี่ยน” ประจำปี 2015 ของ WWF (กองทุนสัตว์ป่าโลก) โดยแนวทางการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมรอบด้าน และพันธสัญญาที่มุ่งมั่นในการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนของกรุงโซลได้สร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ โดยได้มีการประกาศผลและมอบรางวัล ณ การประชุม ICLEI World Congress 2015 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
กรุงโซลมีวิธีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเป็นประวัติการณ์ ด้วยการจัดสรรงบประมาณที่สมจริงเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงโซล การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งด้วยการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างเลนเฉพาะสำหรับรถโดยสารประจำทาง รวมไปถึงโครงการสนับสนุนให้คนใช้รถร่วมกัน
นับได้ว่า กรุงโซล เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเมืองต่างๆ ที่กำลังเติบโตโดยเฉพาะในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเมืองต่างๆ รอบโลก ความริเริ่มที่ท้าทายของกรุงโซลที่มุ่งมั่นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10 ล้านตัน และการสร้างให้เมืองสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2020 นั้นได้รับการชื่นชมอย่างยิ่งจากคณะกรรมการฯ
มาร์โค แลมเบอร์ทีนี ผู้อำนวยการใหญ่ WWF-International กล่าว “เรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ เมืองต่างๆ ทั่วโลกมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดแนวทางของโลกให้พัฒนาอย่างยั่งยืนอันจะเกิดขึ้นจากการใช้พลังงานหมุนเวียน และกรุงโซล คือ เมืองที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆ เมืองในความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้”
กรุงโซลได้รับการยอมรับและกล่าวถึงเป็นพิเศษในโครงการ Earth Hour City Challenge ในปีก่อนหน้านี้ และในปีนี้ กรุงโซลได้ครองตำแหน่ง Global Earth Hour Capital ต่อจากเมืองที่ชนะเลิศในปีที่ผ่านมา คือ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา (ปี 2013) และ เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ (ปี 2014)
การขยายขอบเขตการดำเนินงานของกรุงโซลนั้นเน้นที่ศักยภาพและความสำคัญของการพัฒนาจากโปรเจคตัวอย่างไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับที่ใหญ่ขึ้น การพัฒนาที่เกิดขึ้นจากเมืองอย่างเช่นกรุงโซล เป็นตัวอย่างสำหรับผู้นำจากนานาประเทศที่กำลังจะเข้าร่วมการประชุมและการเจรจาต่อรองด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ การประชุม Paris Climat 2015 (COP21) ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ในเดือนธันวาคมนี้
จีโน แวน บีกิน เลขาธิการ ICLEI กล่าว “กรุงโซล คู่ควรกับการได้รับรางวัล Global Earth Hour Capital ในฐานะที่เป็นมหานครในทวีปเอเชียที่กำลังเติบโตและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในการปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง กรุงโซลได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กรุงโซลยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างโดดเด่นมาก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เมืองต่างๆ ทั่วโลก คือ ผู้ที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แท้จริง”
สำหรับผู้ชนะรางวัลขวัญใจมหาชน หรือ “The Most Loveable City for 2015” ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการโหวตจากประชาชนมากที่สุด คือ เมืองบาลิก์ปาปัน ประเทศอินโดนีเซีย อันเป็นเมืองจากทั้ง 47 เมืองที่เข้ารอบสุดท้ายและได้รับการโหวตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยประชาชนกว่า 200,000 คนทั่วโลกได้เข้าร่วมแคมเปญการโหวตให้เมืองที่ตนรักเป็นเมืองที่ยั่งยืน กิจกรรมรณรงค์
“We Love Cities” มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วโลกให้แสดงออกถึงความรักที่มีต่อเมืองต่างๆ ผ่านการโหวต, การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพลงทวิตเตอร์, การโพสต์ภาพลงบนอินสตาแกรม และที่สำคัญคือ การเสนอแนะวิธีที่จะทำให้เมืองที่ตนรักเป็นเมืองที่ยั่งยืน โดยข้อเสนอแนะที่ได้รับจากกิจกรรมนี้จะถูกส่งต่อให้กับทุกเมืองที่ร่วมโครงการ
สำหรับประเทศไทยนั้น เทศบาลนครหาดใหญ่ คือ ผู้ชนะเลิศ “National Earth Hour Capital” หรือ “เมืองยั่งยืนต้นแบบระดับประเทศ” โดยดำเนินการอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลุมฝังกลบ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนของเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ย และการผลิตน้ำมันดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว
นอกจากนี้ เทศบาลนครหาดใหญ่มีการรณรงค์ลดการใช้พลังงานในหน่วยงานของเทศบาล รวมทั้งดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในโครงการผลิตพลังงานจากของเสีย เช่น ขยะ และร่วมมือกับชุมชนและประชาชนในการปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนอีกด้วย