หนึ่งในสาเหตุของปัญหาความยากจนในภาคอีสานมาจาก “ดินเค็ม” เนื่องจากการปลูกข้าวบนพื้นเหล่านี้มักประสบปัญหาขาดทุนเป็นจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะชุมชนบ้านเตย ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในชุมชนภาคอีสานที่ประสบปัญหาพื้นที่ดินเค็ม เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านตั้งอยู่บนแอ่งเกลือโคราช ทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็มขึ้นสู่ผิวดิน ส่งผลให้ข้าวที่เป็นผลผลิตหลักของชุมชนมีผลผลิตน้อย รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและภาวะแห้งแล้งสลับกัน เกษตรกรเป็นหนี้สิน ส่งผลให้คนวัยทำงานต้องออกไปทำงานในต่างถิ่น จึงมีเพียงผู้สูงอายุและเด็กในวัยเรียนเท่านั้นที่ยังต่อสู้กับปัญหาดินเค็มในพื้นที่
SCG จึงถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้ผ่านโฆษณาใหม่ชื่อชุด “จดหมาย” ความยาว 90 วินาที เล่าเรื่องง่ายๆไม่ซับซ้อน เป็นการสื่อสารผ่านจดหมายลายมือด้วยดินสอระหว่างลูกสาวถึงพ่อที่ต้องจากบ้านเกิด อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ หาเลี้ยงชีพตนเองและส่งกลับมาให้ครอบครัว เนื่องจากบ้านเกิดมีปัญหาดินเค็มไม่สามารถเพาะปลูกเกษตรกรรมได้ ลูกสาวจึงต้องอยู่กับปู่และย่าตามลำพัง และได้เขียนจดหมายฉบับนึงถึงพ่อว่า SCG และสวทช. ได้นำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมหลักการฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์ดิน เข้ามาช่วยให้ความรู้ และสอนวิธีการปรับปรุงดินเค็มด้วยนวัตกรรมต่างๆ กับคนในชุมชน อาทิ การไถกลบต่อซังเพื่อกลับหน้าดินหลังการเก็บเกี่ยว ปลูกต้นไม้ใหญ่ เพื่อป้องกันเกลือขึ้นบนผิวดิน การทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อฟื้นฟูดินเค็ม ฯลฯ จนกระทั่งดินที่เค็มจนไม่สามารถทำเกษตรกรรมอะไรได้ กลับมาเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้งจนสามารถทำสวน ปลูกข้าวได้แล้ว และท้ายของเรื่องพ่อก็กลับมาสู่บ้านเกิดและอ้อมอกอันอบอุ่นของลูกและครอบครัวอย่างมีความสุขและพอเพียง
ซึ่งแนวคิดของภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้มาจากโครงการนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม โดยความร่วมมือของ SCG สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมพัฒนาที่ดิน และจากความร่วมมือของชุมชน เพื่อร่วมพลิกฟื้นผืนดินเค็มในภาคอีสาน ที่แห้งแล้งมายาวนาน ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกทำมาหากินได้ จึงละถิ่นฐานและครอบครัวไปทำงานที่อื่น ด้วยนวัตกรรมและความรู้ทางเทคโนโลยีจาก SCG สวทช. กรมพัฒนาที่ดิน และจากความร่วมมือของชุมชน พื้นดินอีสานจึงกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
โครงการ ‘นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม’ ริเริ่มตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตร แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายแร่เกลือใต้ดินที่คนไทยต้องใช้บริโภคไปอีกหลายชั่วอายุคน เพื่อเกษตรกรได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ สามารถปลดหนี้และมีเงินออม ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถแบ่งปันความรู้และต่อยอดสู่ชุมชนอื่นได้ เช่น ลุงบุญเชิด สีเขียว เคยทำนาอย่างเดียว วันนี้หันมาทำเกษตรผสมผสาน เพิ่มรายได้ แม่สวัสดิ์ สีหาผล หาอาชีพอื่นเสริมรายได้ เช่น เลี้ยงหมู และแจ่วบอง แม่เดือนเพ็ญ ทิศรักษ์ ลองทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงดินใช้เอง ปัจจุบันตั้งเป็นกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชน สามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน การแก้ปัญหาดินเค็มจึงช่วยคืนความอุดมสมบรูณ์สู่ผืนดิน คืนความอบอุ่นสู่ครอบครัวและสังคมไทย
“ปัจจุบันพื้นที่บ้านเตยแทบจะไม่มีพื้นที่ดินเค็ม เดิมเราเคยมีปัญหาดินเค็ม ทำนาได้ผลผลิตไม่ดี แต่เมื่อ SCG เข้ามาช่วยให้ความรู้เพื่อแก้ปัญหา ทุ่งนาที่เคยแห้งก็กลับมาเขียวขจี ทำเกษตรได้อย่างคุ้มค่า มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และวันนี้เราพร้อมที่จะนำประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้คนที่สนใจมาเรียนรู้ ใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตผ่านสถานีปลูกคิดปันสุขแห่งนี้” แม่เดือนเพ็ญ ทิศรักษ์ หัวหน้ากลุ่มปุ๋ยอินทรีย์บ้านเตย เล่าให้ฟังถึงผลสำเร็จจากโครงการดังกล่าว
ดร.เสนาะ อูนากูล ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน SCG เผยว่าได้ดำเนินโครงการ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็มให้สามารถเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมการคิดนอกกรอบ ทำให้เกิดความหลากหลายในการแก้ปัญหาดินเค็ม ซึ่งอีกทั้งชาวบ้านเตย ยังสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร แปรรูปผลิตผลการเกษตรและสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อต่อยอดโครงการดังกล่าวจึงได้ร่วมกับชาวบ้านเตย จัดตั้งสถานีปลูกคิดปันสุขบ้านเตยขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชนอื่นๆ จนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป
ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตดี บนพื้นที่ดินเค็ม อาทิ ยูคาลิปตัส มะขามเทศ ไผ่หวาน สะเดา และพืชผักอื่นๆ รวมถึงส่งผ่านความรู้ทางเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และเข้าใจ สามารถลงมือทำได้เอง เช่น การสร้างอินทรีย์วัตถุในดิน การปลูกไม้ยืนต้น ส่งผลให้ในปัจจุบันสามารถฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสานได้มากมาย เกษตรกร สามารถสร้างผลผลิตข้าวได้ พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเป็นเครือข่ายในการขยายผลความรู้การแก้ไขปัญหาดินเค็ม โดยร่วมกับกลุ่มปราชญ์แห่งชาติเกิดศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ และมีสมาชิกในเครือข่ายอย่างมากมาย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/
อีกหนึ่งช่องทางรับข่าวสารผ่าน LINE ไม่ตกหล่นทุกข่าวสำคัญ
เพิ่มเพื่อนรัวๆ ที่ ID : @brandbuffet