ปัจจุบันผู้บริโภคได้แสดงออกถึงความต้องการใหม่ๆ ผ่านโลกดิจิตอลมากขึ้น ไม่ว่าพวกเขาจะทำงาน ออกกำลังกาย เรียนหนังสือ พักผ่อน ซื้อสินค้าออนไลน์ หรือดูโทรทัศน์ จากผลวิจัยล่าสุดที่ชื่อว่า “คนในยุคแห่งข้อมูล: พลิกโฉมอนาคตตั้งแต่วันนี้” (The Information Generation: Transforming The Future, Today) ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการเติบโตของกลุ่มพลเมืองดิจิตัลทั่วโลก ผู้บริโภคกลุ่มนี้เชื่อมต่อและสื่อสารผ่านโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา และเข้าถึงข้อมูลจากทั่วโลกได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส อีกทั้งยังมองโลกต่างจากคนยุคก่อนๆ ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการถึงผู้บริหารระดับสูงจำนวน 3,600 คน ใน 18 ประเทศทั่วโลก เผยให้เห็นถึง ความคาดหวังใหม่ๆ ของคนเจเนอเรชั่นใหม่ รวมถึงปัจจัยสำคัญทางธุรกิจที่จะทำให้องค์กรสามารถแข่งขันและประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้
นายนฐกร พจนสัจ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “คนในยุคแห่งข้อมูลมีความคาดหวังที่สูงขึ้นต่อองค์กรธุรกิจที่พวกเขาติดต่อสื่อสารด้วย โดยธุรกิจที่เกิดขึ้นในยุคดิจิตัลถือเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ และธุรกิจที่เกิดขึ้นมาก่อนจะต้องพลิกโฉมองค์กรของตน เพื่อให้สามารถก้าวทันและยังคงความร่วมสมัยอยู่ได้”
ผลวิจัยระบุว่า ผู้นำธุรกิจที่ได้ทำการสำรวจเกือบทั้งหมด (96%) เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เปลี่ยนเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง และอีก 93% เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคหลังนี้ส่งผลให้ความคาดหวังของลูกค้าเปลี่ยนไป และแทบทุกคนกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีอัตราที่สูงขึ้นในช่วงทศวรรษนี้ ผลสำรวจยังเผยด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ลูกค้าคาดหวังเป็นอันดับต้นๆ คือ การเข้าถึงบริการที่รวดเร็วมากขึ้น, การเชื่อมต่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา การเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้บนอุปกรณ์ที่หลากหลาย และประสบการณ์ส่วนตัวที่แปลกใหม่ยิ่งขึ้น
เส้นทางสู่นิยามบทใหม่: ปัจจัยทางธุรกิจที่สำคัญสำหรับอนาคต
เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของคนในยุคแห่งข้อมูล องค์กรธุรกิจต่างๆ เห็นพ้องกันว่า ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการดำเนินงานครั้งใหญ่ โดยผู้นำธุรกิจได้กำหนดคุณสมบัติสำคัญ 5 ประการ ที่จะทำให้องค์กรสามารถเป็นผู้ควบคุม ซึ่งต่างต้องใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นตัวขับเคลื่อน คุณสมบัติดังกล่าวประกอบไปด้วย (ฺTop 5 Business Attributes Priority Rank)
- ความสามารถในการคาดเดาโอกาสใหม่ๆ ในตลาด 60% (ในปี 2024 62%)
- แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ 56% (ปี 2014 52%)
- ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างคล่องตัว 55% (ปี 2024 60%)
- ความสามารถในการมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเป็นส่วนตัว 45% (ปี 2024 48%)
- ความสามารถในการทำงานได้แบบเรียลไทม์ 38% (ปี2024 36%)
แม้ผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่จะมองว่าปัจจัยข้างต้นนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่มีองค์กรเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับของธุรกิจ โดยจากผลการสำรวจพบว่า มีเพียง 12% ของผู้นำธุรกิจที่กล่าวว่าสามารถคาดเดาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้, เพียง 9% เชื่อว่าบริษัทสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างคล่องตัว, เพียง 14% มองว่าธุรกิจมีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ, เพียง 11% สามารถมอบประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวให้กับลูกค้าได้ ในขณะที่ 12% มองว่าองค์กรของตนสามารถทำงานได้แบบเรียลไทม์
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลของ การ์ทเนอร์ และ ไอดีซี ยังระบุว่าภายในปี พ.ศ. 2563 คนกว่า 7 พันล้านคนที่เข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารอย่างน้อยกว่า 3 หมื่นล้านเครื่องจะสร้างข้อมูลกว่า 44 เซตตะไบต์ (หรือ 44 ล้านล้านกิกะไบต์) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่องค์ประกอบทุกๆ ด้านของชีวิตเกี่ยวพันกับข้อมูลอย่างแยกไม่ออก และแม้ว่าธุรกิจต่างๆ จะตระหนักว่า องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่ 49% ของบริษัทที่ร่วมทำการสำรวจกลับไม่มีความรู้ในการเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนได้ ผลการวิจัยชี้ว่า
- แม้ว่า 70% ขององค์กรธุรกิจกล่าวว่าพวกเขาสามารถเสาะหาข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลต่างๆ ได้ แต่มีเพียง 30% เท่านั้นที่ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอและสามารถในการตอบสนองข้อมูลเหล่านั้นได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังไม่สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้มีประโยชน์ในทุกระดับของธุรกิจได้
- 52% ยอมรับว่าบริษัทไม่สามารถนำข้อมูลมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจัดสรรข้อมูลจำนวนมหาศาลให้เป็นระเบียบได้
- มีองค์กรเพียง 24% เท่านั้นที่มองว่าตนเองมีความสามารถ “ในขั้นสูง” ที่จะเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นองค์ความรู้เชิงลึกที่มีประโยชน์ได้
พลิกโฉมโลกธุรกิจสู่ทิศทางใหม่ในทศวรรษหน้า
ในขณะที่บริษัทเตรียมตัวรับมือกับความคาดหวังใหม่ๆ ของลูกค้า โลกก็กำลังหมุนเปลี่ยนไปรวดเร็วไม่แพ้กัน Institute For The Future ได้คาดการณ์ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ โดยเทคโนโลยีจะยังคงพลิกโฉมโลกอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 อีกทั้งยังมีสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่า ทุกๆ ด้านของชีวิตจะเกี่ยวพันกับข้อมูลอย่างแยกไม่ออก โดยในโลกยุคใหม่นี้ มูลค่าของธุรกิจจะไม่ได้อยู่ที่สินค้าและบริการอีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่องค์กรสร้างสรรค์และรวบรวมไว้ได้
- ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะซื้อขาย แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างเปิดเผย
- สิ่งของต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราจะมีความสามารถในการรับรู้ โต้ตอบ และเชื่อมโยงกัน
- ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีส่วนในกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
- มนุษย์เองก็จะสื่อสารและเสพข้อมูลต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสที่หลากหลายขึ้น
- ลูกค้าจะสามารถควบคุมความเป็นส่วนตัวของตนเองได้ดีขึ้นผ่านเครื่องมือใหม่ๆ
วิธีทำการวิจัย
งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำโดย Institute for the Future และแวนสัน บอร์น ในฐานะตัวแทนของอีเอ็มซี โดยแวนสัน บอร์น ได้ทำการสำรวจผู้นำธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 3,600 คน ใน 18 ประเทศ จากบริษัทขนาดกลางและใหญ่ในอุตสาหกรรม 9 ประเภท เพื่อสรรหามาตรการทางธุรกิจที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จทั้งในปัจจุบันและในทศวรรษหน้า ในขณะที่ Institute for the Future ได้ทำการสำรวจเพื่อระบุและคาดการณ์มาตรการและทิศทางการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตัล โดยได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญกว่า 40 คนจากอุตสาหกรรมในหลากหลายประเภท ทั้งในภาควิชาการ ภาคธุรกิจ องค์กรไม่แสวงผลกำไร และผู้นำทางความคิด
เกี่ยวกับอีเอ็มซี
บริษัท อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น (NYSE:EMC) เป็นผู้นำระดับโลกที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจและผู้ให้บริการต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนและดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบคลาวด์เป็นหัวใจสำคัญ นวัตกรรมทางสินค้าและบริการของอีเอ็มซีจะช่วยให้องค์กรก้าวเข้าสู่ระบบคลาวด์ได้โดยไม่มีอุปสรรค และช่วยให้แผนกไอทีจัดเก็บ จัดการ ปกป้อง และวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้อย่างคล่องแคล่ว น่าเชื่อถือ และคุ้มค่าทางการเงิน อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอีเอ็มซีได้ที่ http://www.EMC.com