เทสโก้ โลตัส เดินหน้าสร้างต้นแบบสโตร์ลดคาร์บอน โดยการสร้างสรรค์ให้ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขานวมินทร์ กลายเป็นสาขาต้นแบบของ สโตร์ “คาร์บอนนูทรัล” ซึ่งเป็นกรีนสโตร์แห่งที่ 4 ที่เทสโก้ โลตัส แต่เป็น เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขาแรก แล้วนำร่องไปสู่การทำสโตร์ลดคาร์บอนในรูปแบบร้านเอ็กซ์เพรสอีกกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี
ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน กล่าวถึงการเปิดตัวสโตร์ในครั้งนี้ว่า มาจากความพยายามในการสร้างคุณค่าระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่า Creating Shared Value-CSV ซึ่งเป็นการทำธุรกิจตามเทรนด์ขององค์กรรุ่นใหม่ โดยการลดการใช้พลังงานของ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขานวมินทร์ นี้ ผ่านการการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) ให้เป็นสโตร์ “คาร์บอนนูทรัล” ลดจำนวนคาร์บอนเครดิต ที่ทางเทสโก้ โลตัสเซ็นสัญญาเครื่องหมายการรับรองการชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้จากเดิมที่ใช้ 162 คาร์บอนตัน/ ปี ลง 63 คาร์บอนตัน/ ปี เหลือเพียง 99 คาร์บอนตัน/ ปี ซึ่งถ้าหากว่าทำสำเร็จทุกสาขาก็จะลดพลังงานลงได้อย่างมหาศาล
วิธีการลดใช้พลังงานของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ใช้วิธีการเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED, ปิดประตูตู้แช่ ใช้เครื่องประหยัดไฟเบอร์ 5, เพิ่มแนวกระจกทำให้รับแสงจากธรรมชาติมากขึ้นทำให้ลดการใช้ไฟส่องสว่าง แต่ต้องเป็นกระจกกันความร้อนด้วย ที่คาดไม่ถึงที่สุดก็คงเป็นการใช้พัดลกกระจายความเย็น ซึ่งมีส่วนช่วยพาความเย็นไปให้ถึงลูกค้า แล้วใช้เครื่องปรับอากาศน้อยลง ถึงแม้จะไม่เย็นเจีี๊ยบแต่ก็เย็นพอสำหรับการช็อปปิ้งในร้านเอ็กซ์เพรส ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วลูกค้าจะใช้เวลา 6-8 นาทีในการเลือกซื้อสินค้า นับว่าเป็นการสร้างสรรค์วิธีที่ผ่านการคิดค้นแล้วเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค และที่มีผลกับผู้บริโภคมากที่สุด ก็คือ การทำสโตร์ปลอดถุงพลาสติค กระตุ้นให้ลูกค้าใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติค ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วงบประมาณในการเปลี่ยนให้ร้านค้าเป็น สโตร์ “คาร์บอนนูทรัล” สาขาละประมาณ 800,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับความคุ้มค่าที่ประหยัดพลังงานได้ก็อยู่ราวๆ 2 ปี โดยบางส่วนก็เป็นงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อรีเฟรชสาขาอยู่แล้ว
“การที่เรางดใช้ถุงพลาสติคก็อาจมีผลกระทบกับผู้บริโภคบ้าง แรกๆ ก็อาจจะไม่เข้าใจ แต่ทำไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเคยชิน ลูกค้าที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียงก็เคยชินแล้วเวลาจะมาซื้อของก็ถือถุงผ้ามาด้วย เขาเข้าใจมากขึ้น แต่แรกๆ พนักงานของเราก็ถูกต่อว่าเยอะเหมือนกัน”
ชาคริต ยังแชร์ประสบการณ์ของการทำ CSR ในองค์กรว่า “เวลาที่ทำกิจกรรมแบบนี้เราต้องทำงาน 2 ฝั่ง ซึ่งมีความยากต่างกัน สำหรับคนที่อยู่ในระดับ Top Management ก็ยากที่ต้องไปขอเงิน ของบประมาณมาทำงาน ส่วนพนักงานหน้างานก็จะยากที่ทำให้เขาปฏิบัติตามนโยบาย อย่างเรื่องที่เรางดใช้ถุงก็ทำให้พนักงานต้องทำงานหนักแล้วยังต้องรองรับอารมณ์ลูกค้าที่ไม่เข้าใจแล้วต่อว่าพวกเขา สิ่งที่ต้องทำก็คือ การทำให้เขาเห็นภาพที่ชัดเจน ทำให้เห็นตรงกัน อย่างสาขานี้ที่เราทำ เป็น Trial Store ก็ต้องปรับแล้วทำให้ดีที่สุด เพื่อทำให้ทุกคนในองค์กรรับรู้เรื่องราวดีๆ และเข้าใจ แล้วเขาก็จะปฏิบัติตามเพราะเห็นว่าประโยชน์”