องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้จัดกิจกรรม DASTA CBT Forum ตอน รวมพล ค้นแก่น CBT Thailand เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานต่างๆที่ทำการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
ในงานดังกล่าว มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตัวแทนชุมชนที่ดำเนินการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้าร่วมมากกว่า ๑๕๐ คน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ อาทิ ดร. ราชาจรี อาจิต ผู้อำนวยการสถาบันการท่องเที่ยวแห่งแคว้นเกรละประเทศอินเดีย และรองประธานสมาชิกในเครือข่ายองค์ความรู้ขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO)ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นายมาซารุ ทากายามา ประธานกลุ่มผู้ประกอบการที่พักเชิงนิเวศจากประเทศญี่ปุ่น และนายอัลเบิร์ต เตียว ผู้อำนวยการบอร์เนียว อีโค่ ทัวร์ ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาจากการพัฒนาชุมชนต้นแบบทั้ง ๑๓ ชุมชนในพื้นที่พิเศษซึ่ง อพท. ได้ดำเนินงานการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพชุมชนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ด้วยตนเองมานำเสนออีกด้วย
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. ประธานในพิธีเปิดงาน ได้กล่าวย้ำบทบาทในการหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดย อพท. ตระหนักเสมอมาว่า ชุมชนท้องถิ่นนั้นคือเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง ดังนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ อพท. ใช้เป็นกลไกในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษต่างๆ โดย อพท. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการประสานได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆที่มีจุดร่วมที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความอยู่ดีมีสุข จะมาร่วมมือกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเกิดความยั่งยืนผ่านมองมุมใหม่ว่า ชุมชนท้องถิ่นไม่ใช่ปลายน้ำของการท่องเที่ยวที่รอรับผลกระทบจากการท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่ชุมชนท้องถิ่นคือต้นน้ำที่สร้างคุณค่าให้กับทรัพยากรท้องถิ่นทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตวัฒนธรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ยังมีการเปิดตัวหนังสารคดีสั้น และ หนังสือ ‘เที่ยวนี้ ที่ไม่เหมือนเดิม’ นำเสนอเรื่องราวการท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ทั้งการบริหารจัดการ การนำเสนอของดีของชุมชน ดังนั้นรูปแบบหรือกิจกรรมการท่องเที่ยวอาจจะไม่เหมือนการท่องเที่ยวโดยทั่วไป แต่เป็นมิติการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์แบบวิถีไทย และเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ อพท. มุ่งมั่นมาตลอด ๑๒ ปี ของการก่อตั้งองค์กร ที่ต้องการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างความอยู่ดีมีสุขในชุมชนตลอดมา