HomeBrand Move !!จาก SCG Paper สู่ SCG Packaging รีแบรนด์ครั้งนี้เพื่อปรับโมเดลธุรกิจ

จาก SCG Paper สู่ SCG Packaging รีแบรนด์ครั้งนี้เพื่อปรับโมเดลธุรกิจ

แชร์ :

SCG Packaging 11

เอสซีจี เปเปอร์ รีแบรนด์ครั้งใหญ่เป็น “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” ปรับกระบวนทัศน์ทางธุรกิจจากกระดาษ สู่ Total Packaging Solutions Provider คู่คิดที่จะสร้างคุณค่าและนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายให้แก่ลูกค้า ผู้บริโภค และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน เพื่อรุกตลาดอาเซียนเพื่อรองรับตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตต่อเนื่อง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ต้องบอกว่าเป็นความกล้าหาญและเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจอย่างแท้จริง เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง SCG Paper ซึ่งเป็นผู้นำตลาดเรื่องแพคเกจจิ้งจากกระดาษในประเทศอยู่แล้ว และสัดส่วนรายได้จากแพคเกจจิ้งในส่วนนี้ถึงกว่า 80% ขององค์กร และมีกระดาษถ่ายเอกสารที่ผู้บริโภคคุ้นเคยเป็นส่วนน้อย แต่กลับเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่สนามการแข่งขันใหม่ จากเดิมที่มีเพียงแพคเกจจิ้งกระดาษแต่นับจากนี้ SCG Paper จะรีแบรนด์ตัวเองเป็น SCG Packaging สู้ศึกในแพคเกจจิ้งหลากหลายรูปแบบ โดยการปรับตัวในครั้งนี้มีเหตุผล จากเทรนด์การทำงานแบบ Paperless ผู้บริโภคใช้กระดาษสำนักงานน้อยลง ขณะเดียวกัน การเติบโตของเศรษฐกิจทั้งประเทศไทยและอาเซียน ที่ทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ เช่น ธุรกิจอาหาร, อุปกรณ์การแพทย์ หรือแม้แต่ความงาม พร้อมกับเทรนด์การใช้แพคเกจจิ้งที่ใช้วัสดุหลากหลาย วัสดุมีความแข็งแรงแต่ดีไซน์สวยงามมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า นี่เองที่ทำให้ SCG ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อเข้าสู่การเป็น Total Packaging Solutions Provider

ปัจจุบันในตลาดโลกมูลค่าการใช้แพคเกจจิ้งทั้งหมดอยู่ที่ 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตประมาณ 5.1-5.2% ซึ่งถือว่าเติบโตสูงกว่า GPD ของโลกซะอีก โดยมูลค่าเฉพาะในอาเซียนอยู่ที่ 10% หรือ 80,000 ล้านเหรียญ แต่แพคเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษล้วนๆ มีเพียง 1 ใน 3  เท่านั้น และมีอัตราการเติบโต 3% ทำให้ SCG ยอมปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรใหญ่ขนาดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการออกแบบและผลิต ซึ่งปีที่ผ่านมาต้องใส่เม็ดเงินลงไป R&D 0.4% ของยอดขาย และในปีนี้ก็คาดการณ์ว่จะเพิ่มเป็น 0.5% หรือราว 500 ล้านบาท แต่ยังตั้งแต่การเปลี่ยนวิธีคิดของคนในองค์กรเพื่อก้าวออกจากกรอบเดิมๆ

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวถึงความท้าทายในครั้งนี้ว่า “ต้องเริ่มจากคนภายในองค์กรก่อนที่ต้องปรับตัวพร้อมกับควาเมปลี่ยนแปลงของตลาด เพราะตลาดแพคเกจจิ้งนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เร็วกว่าอุตสาหกรรมเดิมที่เราเคยอยู่”

SCG Packaging 2

ซึ่งในวันที่แถลงข่าวเปิดตัวกับสื่อมวลชน ในวันเดียวกันนั้นเองที่สำนักงานใหญ่ของ SCG ก็มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานในเครือไปพร้อมๆ กันด้วย โดยมีขนมและน้ำที่ใช้แพคเกจจิ้งของบริษัทแห่งนี้มาโชว์ ให้คนในเข้าใจและอินจากเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวก่อนว่า ” รีแบรนด์” งวดนี้เป็นอย่างไร สินค้าใหม่ของบริษัทในเครือคืออะไร

SCG Packaging 3

ไม่ใช่แค่สายการผลิตและออกแบบเท่านั้น การปรับตัวในครั้งนี้ ยังเน้นการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแพคเกจจิ้งอย่างครบวงจร ซึ่งนั่นหมายความว่าจากเดิมที่ SCG เคยเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว นับแต่นี้ต่อไปถ้าเกี่ยวกับแพคเกจจิ้ง SCG จะให้บริการด้วย ตั้งแต่ออกแบบ, จัดส่ง, ติดตั้ง และนำกลับมารีไซเคิล ในทางธุรกิจนี่คือ การสร้างคุณค่าใหม่ให้กับแบรนด์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบกับการบริหารจัดการและโลจิสติคมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่บางครั้งในทางปฏิบัติก็ติดขัดเรื่องการออกแบบ และการจัดเก็บ ในเมื่อ SCG Packaging คิดครบลูปมาแล้วตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำก็น่าจะเป็นเรื่องที่ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในส่วนของพนักงาน SCG เองก็ต้องทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์และลูกค้าให้มากขึ้นเพื่อวางแผนการเดินทางทั้งขาไปส่งและเก็บกลับมา

เล่าถึงโมเดลธุรกิจมาแล้ว มาว่ากันให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นกับ ผลิตภัณฑ์ที่ถูกหยิบยกมาโชว์ในวันแถลงข่าวมีหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่า เป็นฝีมือของคนไทย ทั้งหีบห่อที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งใช้นวัตกรรมทำให้มีน้ำหนักเบา ขนส่งได้ง่าย ไม่กินแรงงานคน และวางเรียงซ้อนกันได้สูงขึ้น แต่ยังทำหน้าที่สร้างแบรนด์ให้สินค้าได้ในระดับหนึ่งด้วย หรือบรรจุภัณฑ์แบบ Food Grade ใส่อาหารได้เลย ทั้งๆ ที่อาหารมีความชื้น, น้ำ และความมัน เมื่อใช้จริงก็ใช้งานง่าย ไปจนถึงโปรดักท์ใหม่ๆ อย่างบูธตั้งโชว์สินค้าที่สวยแล้วยังขนส่งได้ง่าย ข้ามขีดจำกัดไอเดียเดิมๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าแสตนดี้จัดกิจกรรมจะพับเก็บได้ด้วย

SCG Packaging 4

SCG Packaging 5

การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ SCG Packaging ในครั้งนี้จึงมีนัยยะที่น่าสนใจในวงการตลาด 2 ส่วน 1. เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง Business Model จากสินค้าอย่างหนึ่ง ขยายไปสู่สินค้าอีกอย่าง รวมทั้งเพิ่มเติมส่วนของโซลูชั่นซึ่งเป็นงานบริการ ซึ่งสร้างมาร์จิ้นและคุณค่าที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ 2. การเข้ามาเพื่อเป็นพาร์ตเนอร์สำหรับธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต เจ้าของสินค้าทั้งระดับใหญ่ ไปจนถึงระดับเล็กก็สามารถใช้ศักยภาพของ  SCG Packaging ช่วยในเรื่องการออกแบบแพคเกจจิ้ง บูธดิสเพลย์สินค้า แถมยังมีบริการมาเก็บอุปกรณ์ที่ใช้แล้วไปรีไซเคิลต่อให้ด้วย การก้าวเดินในครั้งนี้จึงน่าติดตามความสำเร็จ ซึ่งคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และการรุกธุรกิจแพคเกจจิ้งในครั้งนี้ไม่ได้จำกัดแค่ในตลาดไทยเท่านั้น แต่  SCG Packaging มองถึงตลาดอาเซียน ซึ่งมีเวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เป็นเป้าหมายสำคัญ

SCG Packaging 6

บรรยากาศภายในการเปิดตัว และ เบื้องหลังการรีแบรนด์

https://www.youtube.com/watch?v=j9Haq2hE6Gk


แชร์ :

You may also like