หลังจากปรากฏการณ์ “เจ้ติ๋ม” ที่ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เจ้าของช่องไทยทีวีและโลก้า ประกาศขอคืนใบอนุญาต และไม่จ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัลงวด 2 มูลค่ากว่า 288 ล้านบาท จนเกิดเป็นกระแสสังคมต่างๆ และความกังวลว่า ผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอลรายอื่นๆ จะทำตามกลายเป็น “เจ้ติ๋ม โมเดล” ในงานเสวนาเรื่อง “ทาง 3 แพร่ง อนาคตโทรทัศน์ดิจิตอล ปี 2015-2016” เขมทัตต์ พลเดช อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หนึ่งในกูรูและผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ฟันธง ต่อไปช่องทีวีตอล จะหายไปอีกแน่นอน
เหตุผลที่ เขมทัต วิเคราะห์เช่นนั้นก็เพราะว่าตัวอย่างจากฝรั่งเศสซึ่งมีช่องเพิ่มจากปกติไม่กี่ช่องและญี่ปุ่นซึ่งรวมแล้วมีราว 10 กว่าช่อง ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าประเทศไทยน่าจะมีช่องทีวีดิจิตอลเหลือรอดราว 12-15 ช่อง มากกว่าฟรีทีวีเดิมเท่าตัวหรือมากกว่านั้นนิดหน่อย โดยปรากฏการณ์นี้น่าจะมีให้เห็นภายในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของธุรกิจทีวีดิจิตอล เนื่องจากตอนนั้นภาพการแข่งขันจะชัดเจนมากขึ้นจากกฏเกณฑ์เรื่องการสิ้นสุดการปล่อยสัญญาณแบบอะนาล็อค รวมทั้งเมื่อทำงานมาถึง 5 ปี ในเชิงธุรกิจก็น่าจะเป็นตัวตัดสินแล้วว่าธุรกิจไปได้หรือไม่
แต่ก่อนที่จะถึงช่วงเวลานั้น ในตอนนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล “จัดเต็ม” สู้ศึกในช่วงปลายปีหลังเปิดตัวคอนเทนท์ใหม่ๆ อย่างคับคั่ง เพราะว่าจ่ายเงินค่าสัมปทานงวดแรก ที่ต้องงจ่าย 50% และงวดที่สองอีก 30% ซึ่งถือว่าเป็นก้อนใหญ่ไปแล้ว ดังนั้นจึงมีงบที่จะมาสร้างคอนเทนท์ทั้งละครไทยหรือซีรีย์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ ทำให้การแข่งขันจะคึกคักมากขึ้น รวมทั้งราคาค่าโฆษณาก็จะปรับตัวสูงขึ้นด้วย จากราคาขายจริงที่บางช่องขายได้ต่ำสุดหลักพันก็จะขยับเป็นหลักหมื่น โดยตอนนี้ช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรกมีการปรับราคาขึ้นบ้างแล้ว สอดคล้องกับความเข้าใจของเอเยนซี่และผู้บริโภคที่มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน