ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก (AP) แสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจต่อตราสินค้าที่มีการลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และเมื่อเทียบกับผู้บริโภคทั่วโลก ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือได้ว่าอยู่ในกลุ่มที่ชอบลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อันดับต้นๆ เลยทีเดียว ซึ่งข้อมูลนี้คือส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ได้จากรายงานการศึกษาผู้บริโภค จากบริษัทที่ช่วยบริหารผลการปฏิบัติการระดับโลก อย่างนีลเส็น
รายงานการสำรวจ Global New Product Innovation ของนีลเส็นได้เก็บผลสำรวจออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่าง 30,000 คน ใน 60 ประเทศ เพื่อที่จะทำความเข้าใจความคิดและทัศนคติของผู้บริโภค ถึงปัจจัยที่จูงใจให้พวกเขาซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่
ผู้บริโภคจากทั่วโลกนั้นล้วนให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ตามรูปแบบการซื้อของพวกเขานั้นถือได้ว่ามีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคในตลาดที่กำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงตลาดในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะลองผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยสามในสี่ของผู้บริโภคชาวไทย (77%) บอกว่า พวกเขาได้ซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ในทริปการไปซื้อของครั้งล่าสุด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 20% โดยประเทศไทยถือเป็นอันดับที่สองรองจากประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศ เอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 88% ทั้งนี้ผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 69% ตอบว่า พวกเขาชอบเวลาที่ผู้ผลิตมีตัวเลือกให้สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ (เทียบกับทั่วโลกซึ่งคิดเป็น62%) ในขณะที่ 52% ยินยอมที่จะจ่ายราคาที่สูงกว่าเพื่อผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ (เทียบกับทั่วโลกซึ่งคิดเป็น 44%) และ 52% ยืนยันว่าพวกเขาเป็นผู้ซื้อรายแรกๆ (Early Purchaser) ของผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ (เทียบกับทั่วโลกซึ่งคิดเป็น39%)
ผู้บริโภคในภูมิภาคมีการรับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านโฆษณาในสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อหลัก (19%) ในขณะที่ประเทศไทยนั้นไต่อันดับขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในกลุ่มอาเซียนเลยทีเดียว โดยผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 2 ใน 5 (29%) ยกให้โทรทัศน์เป็นสื่ออันดับหนึ่งสำหรับการรับข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนี้ 53% ของผู้บริโภคในภูมิภาคยกให้การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของแหล่งข้อมูลของพวกเขา นอกเหนือจากนั้น คำแนะนำจากครอบครัวและเพื่อนๆ รวมถึงอินเทอร์เน็ตก็มีอิทธิพลในการทำให้พวกเขาเปิดใจทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่ง 47% ของคนไทยยกให้อินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของแหล่งข้อมูลสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ และ 39% คือข้อมูลจากครอบครัวและเพื่อน (ตารางที่ 1)
“ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยินดีเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ และพวกเขาก็รู้สึกสบายใจและมั่นใจมากขึ้นกับการแสดงออกถึงความต้องการที่จะได้ตัวเลือกที่ดีกว่าในตลาด” อัลบานี วู Vice President of Nielsen’s Innovation Practice ประเทศไทย กล่าว “ส่วนนี้จะนำไปสู่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางเหล่าผู้ผลิต เนื่องจากผู้บริโภคมีหลากหลายตัวเลือกจากตราสินค้าที่มากมายในท้องตลาด บริษัทต่างๆ ควรจะต้องรู้ว่าช่องทางการตลาดไหนคือช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการเข้าถึงผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย- เพื่อที่จะส่งข้อความถึงผู้ซื้อพร้อมกับสร้างอิมแพคให้ได้มากที่สุด เพื่อที่สุดท้ายแล้วยอดขายของพวกเขาจะได้เพิ่มมากขึ้น”
รายงานจากนีลเส็นเผยว่าความคุ้มค่าของราคาที่จ่ายเพิ่ม คือปัจจัยหลักสำหรับการเปิดใจใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้บริโภคในประเทศไทย ตามมาด้วยความสะดวกสบายและความเหมาะสมสำหรับครอบครัว (ตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับเอเชียแปซิฟิกแล้ว ความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปและความสะดวกสบายถือเป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ ตามด้วยคุณภาพของสินค้าที่ช่วยเสริมไลฟ์สไตล์ และคำแนะนำส่วนบุคคล ทั้งนี้ในแง่ของความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต ผู้บริโภคชาวไทยแสดงความเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาสามารถซื้อใช้ได้ ผลิตภัณฑ์ที่เน้นความสะดวกสบาย และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลสุขภาพ และความยั่งยืน เป็นปัจจัยหลักที่พวกเขาให้ความสนใจ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเทรนด์ในเอเชียแปซิฟิกมาก ในขณะที่ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยนั้นมาก่อนเป็นอันดับแรก (ตารางที่ 3)
“จากการศึกษานี้และการศึกษาอื่นๆ เมื่อไม่นานมานี้ เราสามารถเห็นถึงเทรนด์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในภูมิภาค รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของการรับรู้และการให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพและความยั่งยืนอีกด้วย (Health and Sustainability)” วู อธิบายต่อ “ด้วยข้อมูลต่างๆ ที่ผู้บริโภคสามารถหาอ่านได้รอบตัว ทำให้หลายคนมีการค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติที่ช่วยสนับสนุนไลฟ์ไตล์ของการรักษาสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในทำนองเดียวกันนี้ ผู้บริโภคก็มีความคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์เหล่านี้สูงขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลตลาดเชิงลึกของพวกเราถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยจะช่วยให้ผู้ผลิตจัดหาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นทุกวันนี้”
เกี่ยวกับการวิจัย GLOBAL SURVEY
ผลการสำรวจที่ได้จากการวิจัยนี้อิงจากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างออนไลน์ใน 60 ประเทศ ในขณะที่การวิจัยแบบออนไลน์นั้นให้ประโยชน์ในด้านของสเกลและการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วทั้งโลก ขณะเดียวกันผลการวิจัยนี้ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเท่านั้น ไม่ใช่กลุ่มประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งการเข้าถึงออนไลน์นั้นยังมีการเติบโตอยู่ ผู้ใช้อาจมีอายุที่เด็กกว่าหรืออาจมีฐานะที่ดีกว่าประชากรทั่วไปในประเทศนั้นๆ นอกจากนั้น ผลการสำรวจนี้ได้มาจากกล่าวอ้างของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การวัดพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง