ผลสำรวจฉบับล่าสุดเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่าประจำปี 2558[1] (Visa Global Travel Intentions Study 2015) เผยให้เห็นว่าในรอบสองปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวไทยมากถึง 89% ออกเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศและมากสุดถึง 5 ทริปต่อคน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในแต่ละทริปประมาณ 44,000 บาท
ปกติแล้วคนไทยนิยมการท่องเที่ยวในประเทศภูมิภาคใกล้ๆ โดยเห็นได้ชัดจากประเทศที่คนไทยเลือกไปมากที่สุด อย่าง ญี่ปุ่น ตามด้วยสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยเฉลี่ยจะใช้ระยะเวลาท่องเที่ยวต่อทริปอยู่ที่ประมาณหกคืนและระยะเวลาในการเดินทางแต่ละครั้งประมาณห้าชั่วโมง โดยพวกเขามักเลือกที่จะเดินทางไปกับกลุ่มเพื่อนมากกว่าคนรักหรือครอบครัว จากผลสำรวจระบุว่าสามในห้าของนักเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก (58%) นิยมเดินทางกับคนรัก ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น (36%)
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากนักเดินทางทั่วโลกอย่างชัดเจน
นายสมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “คนไทยนิยมสรรหาโปรโมชั่นพิเศษสำหรับการเดินทางให้อยู่ในงบที่ตั้งไว้มากกว่าเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ แม้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังเลือกใช้เงินสดในการซื้อจ่ายสินค้า แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ประเทศปลายทางเพิ่มขึ้น”
การทำวิจัยผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า ประจำปี 2558 มีนักท่องเที่ยวร่วมทำแบบสอบถามทั้งหมด 13,603 คน จาก 25 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จัดทำขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปและค่านิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยในการเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงวิธีการวางแผนการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายระหว่างทริป นอกจากนี้ผลสำรวจได้ระบุถึงวิธีการใช้จ่ายในแต่ละทริป ซึ่งบัตรวีซ่านับเป็นบัตรที่นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยเลือกใช้เป็นบัตรหลัก
การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับความนิยมที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของปี พ.ศ. 2556 นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมพกบัตรเครดิตติดตัวไปด้วยเมื่อเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น โดยมากถึง 98% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมพกบัตรเครดิตไว้ในกระเป๋าสตางค์ ซึ่งมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วโลก (93%) และนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (95%) ซึ่งผลสำรวจประจำปี 2558 ได้ระบุถึง ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้บัตรเครดิตในขั้นตอนการจองเพื่อการท่องเที่ยวมากถึง 60% ซึ่งมากกว่าการใช้วิธีการโอนเงินถึงหนึ่งในสี่
สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางด้วยตัวเองส่วนใหญ่ (81%) นิยมทำการจองผ่านระบบออนไลน์ และสามในสี่ของนักท่องเที่ยวชาวไทย (75%) เลือกใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการระหว่างการท่องเที่ยว เพราะเป็นวิธีการชำระเงินที่พวกเขาพึงพอใจ ด้วยเหตุผลของความปลอดภัยเป็นหลัก โดยบัตรวีซ่าถือเป็นบัตรหลักที่นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความนิยมสูงสุด (68%) เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมากกว่าบัตรเครดิตของคู่แข่งเกือบสามเท่า (28%)
ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ (59%) หรืแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะมีการวางแผนการใช้เงินต่อทริปก่อนไป แต่มากกว่าสองในสามของนักท่องเที่ยวชาวไทย (68%) ก็ยังสามารถใช้เงินเกินจากงบที่วางไว้ หากพบกิจกรรมที่น่าสนใจในระหว่างการเดินทาง
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมใช้จ่ายเพื่อการช้อปปิ้งมากที่สุดถึง 31% ตามด้วยการรับประทานอาหาร (22%) และการจองโรงแรม (10%) โดยบัตรเครดิตมักจะเป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวในการซื้อสินค้าแบรนด์เนมและภัตตราคารชั้นนำ โดยรวมแล้วบัตรเครดิตมักจะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าราคาสูง
ความแตกต่างของคนต่างอายุ
ขณะที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น การคาดการณ์งบประมาณในการใช้จ่ายของทริปครั้งหน้าก็สูงขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยตั้งใจที่จะเพิ่มงบในการเดินทางท่องเที่ยวจาก 44,000 บาทในทริปที่ผ่านมาเป็น 83,000 บาทสำหรับการเดินทางครั้งต่อไป
ผลสำรวจนี้ได้มีการวิจัยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวโดยแบ่งไปแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจำแนกกลุ่มตามอายุดังนี้ กลุ่มมิลเลนเนียลส์ (Millennials) คือ กลุ่มคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 18 – 35 ปี กลุ่มมาชัวร์โปรเฟสชันนอลส์ (Mature Professionals) คือ กลุ่มคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 39 – 44 ปี และกลุ่มซุปเปอร์บูมเมอร์ (Superboomers) คือกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยผลจากการสำรวจพบลักษณะพฤติกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ทั้งขั้นตอนการวางแผนและระหว่างการเดินทาง
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มซุปเปอร์บูมเมอร์ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนเงินที่จะใช้จ่ายในการเดินทางครั้งต่อไปสูงที่สุดถึง 92% ในขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลส์คาดว่าจะเพิ่มงบประมาณในการท่องเที่ยวอยู่ที่ 15% ซึ่งน้อยที่สุดในสามกลุ่ม
กลุ่มมิลเลนเนียลส์ เป็นกลุ่มที่นิยมกำหนดงบประมาณต่อทริปก่อนจะเลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สามารถไปได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ (61%) แต่ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มในระหว่างการท่องเที่ยวหากมีกิจกรรมที่น่าสนใจ (73%) และภายในอีกสองปีข้างหน้านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ตั้งใจว่าจะเดินทางท่องเที่ยวให้ได้ถึง 6 ครั้ง ซึ่งมากกว่าแผนที่นักท่องเที่ยวกลุ่มซุปเปอร์บูมเมอร์ ตั้งไว้ถึง 1.5 เท่า
จะเห็นได้ว่า ในแต่ละกลุ่มมีลักษณะพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น อย่างกลุ่มซุปเปอร์บูมเมอร์ เลือกการเดินทางกับทัวร์ท่องเที่ยว ในขณะที่ กลุ่มมิลเลนเนียลส์ ที่อายุยังน้อยนิยมท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากกว่า ความปลอดภัยคือปัจจัยสำคัญของ กลุ่มมิลเลนเนียลส์ ในการเลือกที่พัก (66%) แตกต่างจาก กลุ่มมาชัวร์โปรเฟสชันนอลส์ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความสะดวกสบาย (70%) และกลุ่มซุปเปอร์บูมเมอร์ให้ความสำคัญกับราคาที่จับต้องได้ (62%)
ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว กลุ่มมาชัวร์โปรเฟสชันนอลส์ กว่า 70% นิยมใช้จ่ายไปกับการช้อปปิ้ง ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลส์ (62%) และกลุ่มซุปเปอร์บูมเมอร์ (74%) นิยมใช้จ่ายไปกับการเที่ยวชมสถานที่มากกว่า
ถึงแม้ว่าการใช้เงินสดยังคงเป็นวิธีการจ่ายเงินที่ชาวไทยประมาณ 75% เลือกใช้[1] แต่อัตราการใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายก็มีขนาดเพิ่มสูงขึ้น สังเกตได้จากการที่นักท่องเที่ยวชาวไทยถึง 98% พกบัตรเครดิตติดตัวไปในการเดินทางต่างประเทศ และเกือบสองในสามของคนกลุ่มนี้ นิยมเลือกใช้บัตรวีซ่าในการใช้จ่ายเมื่อเดินทางออกนอกประเทศ
[1] ผลสำรวจเรื่องการชำระเงินของยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor Payment Study): พ.ศ. 2553 – 2557
[1] ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) จัดทำขึ้นโดย มิลวาร์ด บราวน์ (Millward Brown) ในนามของวีซ่า โดยมีนักท่องเที่ยวอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปร่วมเป็นผู้ทำแบบสอบถาม ซึ่งสำรวจจัดทำขึ้นในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558