เอไอเอสและดีแทค ไตรเน็ตประกาศความร่วมมือใช้โครงสร้างเสาสัญญาณมือถือร่วมกัน ลุยเดินหน้าพัฒนาคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อบริการทั่วไทยได้อย่างรวดเร็ว สนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและการบริหารงานของรัฐ (กสทช.) ในการกำกับดูแลการให้บริการสื่อสารและโทรคมนาคม โดยตกลงกรอบความร่วมมือระหว่าง เอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต จะมีเสาทั้งสิ้น 2,000 เสาภายในปีนี้ เพื่อรองรับการใช้งานโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จากการขยายบริการสู่พื้นที่ทั่วไทยได้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึง ความร่วมมือการใช้เสาสัญญาณ เพื่อคุณภาพ –บริการทั่วไทยว่าบนความมุ่งมั่น และตั้งใจของ เอไอเอส ในการดูแลลูกค้าให้ได้รับการบริการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง ตอบสนองการใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและการกระจายตัวของประชากรไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ประกอบกับยังเป็นการปฏิบัติตามแนวนโยบายของ กสทช. ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สาธารณูปโภคร่วมกัน และมีการใช้อุปกรณ์ร่วมกันซึ่งสามารถลดปริมาณการตั้งเสาสถานีฐานซ้ำซ้อน พร้อมทั้งยังเป็นการลดปริมาณเสาสถานีฐานในพื้นที่ชุมชน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระดับหนึ่ง
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และกรรมการ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด กล่าวว่าดีแทค ไตรเน็ต ได้บรรลุข้อตกลงในความร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในการนำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของทั้งสองบริษัทออกมาให้ใช้ร่วมกัน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อตอบสนองการใช้งานผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายประเทศ กล่าวว่า “บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) สำหรับการใช้โครงสร้างเสาสัญญาณมือถือร่วมกันจากทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างเอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต จะมีเสาทั้งสิ้น 2,000 เสาภายในปีนี้ เพื่อให้ลูกค้าของทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าถึงพื้นที่ใช้งานมากขึ้นเสริมความแข็งแกร่งในการบริการ ลดการลงทุนซ้ำซ้อนสำหรับโครงข่าย จากปัจจุบันที่พบว่ามีหลายพื้นที่ได้ลงทุนซ้ำซ้อนโดยเปล่าประโยชน์ และยังทำให้การขยายสัญญาณเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายทำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเพิ่มตามมา เช่น สามารถลดปัญหาทัศนวิสัยและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการมีโครงสร้างพื้นฐานซ้ำซ้อนมากเกินจำเป็น ดีแทคไตรเน็ตเชื่อว่าการขยายโครงสร้างเสาสัญญาณร่วมกัน จะเพิ่มความรวดเร็วจะนำไปสู่ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ใช้งาน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และประเทศโดยรวม”
ทั้ง AWN และดีแทค ไตรเน็ตเชื่อมั่นว่าทั้งภาครัฐ และ กสทช. พร้อมสนับสนุนในการร่วมมือ โดยกฎระเบียบต่างๆ จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไปได้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย ที่สำคัญผู้ใช้บริการจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงข่ายอย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล