คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป แถลงผลกำไรของ 6 เดือนแรกประจำปี 2558 คิดเป็นมูลค่า 1,972 ล้านเหรียญฮ่องกง เทียบกับผลกำไรใน 6 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 347 ล้านเหรียญฮ่องกง ในขณะที่กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 50.1 เซ็นต์ฮ่องกงเทียบกับ 8.8 เซ็นต์ฮ่องกงในปี 2557 และรายได้ในปี 2558 ลดลงร้อยละ 0.9 อยู่ที่ 50,388 ล้านเหรียญฮ่องกง
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป มีผลประกอบการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ประกอบด้วย ความต้องการของผู้โดยสารชั้นประหยัดที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เริ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปี 2557 และดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2558 แม้ความต้องการด้านการขนส่งได้ชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 รวมถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของบริษัทในเครือคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป ทั้งนี้ แอร์ไชน่า สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างมากเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
แม้รายได้จากผู้โดยสารของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค และ ดรากอนแอร์ ลดลงร้อยละ 0.8 คิดเป็นมูลค่า 36,226 ล้านเหรียญฮ่องกง แต่ปริมาณการรองรับผู้โดยสารกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เนื่องจากมีการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ (นครบอสตัน และเมืองซูริค) และการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของเส้นทางเดิมบางเส้นทาง ทั้งนี้ ปริมาณการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2.3 จุด คิดเป็นร้อยละ 85.9 อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน และสัดส่วนจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านฮ่องกงลดลง ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยลดลงร้อยละ 9.3 เทียบเท่า 60.4 เซ็นต์ฮ่องกง
สำหรับความต้องการของผู้โดยสารในเส้นทางแถบภูมิภาคและระยะไกลนั้น ยังคงมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะผู้โดยสารชั้นประหยัด ส่วนความต้องการของผู้โดยสารชั้นพรีเมี่ยมในเส้นทางระยะไกลมีอัตราลดลงจากที่ตั้งเป้าไว้ แม้ในเส้นทางระยะใกล้ ความต้องการยังคงสูงก็ตาม
ธุรกิจการขนส่งสินค้าของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป เริ่มดีขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี 2557 และดีเรื่อยมาจนถึงช่วงต้นปี 2558 หลังจากนั้นความต้องการขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่สอง ธุรกิจการขนส่งสินค้าของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป คิดเป็นมูลค่า 11,376 ล้านเหรียญฮ่องกง ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ในช่วงเวลาเดียวกันที่ผ่านมา ระวางของการบรรทุกสินค้าของคาเธ่ย์ แปซิฟิค และดรากอนแอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ขณะที่อัตราการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 0.9 จุด คิดเป็นร้อยละ 64.1 แต่เนื่องจากอัตราแข่งขันที่สูงขึ้น ความสามารถในการขนส่งที่มากเกินจำนวนสินค้า และราคาน้ำมันที่ลดลง ล้วนส่งผลต่ออัตราราคาต่อหน่วยตลอดทั้งปี 2558 ของคาเธ่ย์ แปซิฟิค และดรากอนแอร์ลดลงร้อยละ 11.1 เทียบเท่ากับ 1.93 เซ็นต์ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม บางเส้นทางของธุรกิจการขนส่งสินค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น ที่เห็นโดนเด่นคือ เส้นทางในอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากความหนาแน่นของท่าเรือในบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าทางเรือในแถบเอเชียนั้นเติบโตเพิ่มขึ้น แต่การขนส่งสินค้าทางเรือไปสู่ยุโรปนั้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 ถึงแม้ว่าปริมาณการรองรับผู้โดยสาร และระวางของการบรรทุกสินค้าของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และ 8.9 ตามลำดับ ค่าน้ำมันลดลงคิดเป็นมูลค่า 7,078 ล้านเหรียญฮ่องกง (หรือร้อยละ 35.5) เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ราคาน้ำมันลดลง ค่าน้ำมันยังคงเป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ที่สุดของคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป น้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการการบินร้อยละ 34.2 ลดลง 3.7 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากค่าน้ำมันลดลงเฉลี่ยร้อยละ 38.5 ซึ่งชดเชยปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.9 ได้บางส่วน ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและผันผวนจึงเป็นความสำคัญอันดับแรก ในครึ่งปีแรกของปี 2558 การลดลงของราคาน้ำมันได้เข้ามาช่วยชดเชยการขาดทุนจากสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้าได้บางส่วน จึงทำให้ค่าน้ำมันสุทธิลดลง คิดเป็นมูลค่า 2,311 ล้านเหรียญฮ่องกง (หรือร้อยละ 12.2) ทั้งนี้ สัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้าได้ถูกต่อสัญญาจนถึงปี 2562 แล้ว นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากค่าน้ำมันยังได้ถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงยังได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินต่างๆ อีกด้วย
โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป ได้รับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 7 ลำได้แก่ เครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 4 ลำ และเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ ขณะเดียวกัน สายการบินได้ปลดระวางเครื่องบินโดยสารรุ่นโบอิ้ง 747-400 คืนให้แก่บริษัทโบอิ้ง โดยหนึ่งลำจะส่งมอบคืนในช่วงสิ้นปี 2558 นอกจากนี้ยังปลดระวางเครื่องบินโดยสารรุ่นแอร์บัส A340-300 อีกจำนวน 3 ลำ ในปี 2556 บริษัทได้ตกลงขายเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่น โบอิ้ง 747-400F จำนวน 6 ลำ คืนให้แก่บริษัทโบอิ้ง โดยสองลำได้ส่งมอบคืนแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2557 และกรกฎาคม 2558 อีก 4 ลำที่เหลือจะได้รับการปลดระวางภายในช่วงสิ้นปี 2559 ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป มีจำนวนเครื่องบินใหม่ทั้งหมด 72 ลำที่จะถูกส่งมอบในปี 2567 และเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A350-900XWB คาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป จะได้รับมอบในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2559
ในปี 2558 คาเธ่ย์ แปซิฟิคได้แนะนำเส้นทางบินใหม่สู่เมืองซูริคในเดือนมีนาคมและบอสตันในเดือนพฤษภาคม และจะแนะนำเที่ยวบินใหม่สู่เมืองดุสเซลดอร์ฟในเดือนกันยายน รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองจาร์กาต้าในเดือนมกราคม กรุงมะนิลาในเดือนมีนาคม และเมืองซานฟรานซิสโกในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ คาเธ่ย์ แปซิฟิคยังได้เพิ่มเที่ยวบินไปยังกรุงโอซาก้าในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย ในเดือนมิถุนายน คาเธ่ย์ แปซิฟิคลดจำนวนเที่ยวบินไปยังกรุงโซล เนื่องมาจากมีไวรัสเมอร์สระบาด ส่งผลให้ความต้องการของผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังกรุงโซลลดลง รวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินไปยังเมืองมอสโคว์ของรัสเซีย ในส่วนของสายการบินดรากอนแอร์ ได้มีการเพิ่มเที่ยวบินที่เราบินทุกวันจากฮ่องกงไปยังสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว ในเดือนมีนาคม และเมืองฮิโรชิม่า ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ดรากอนแอร์ยังได้เพิ่มเที่ยวบินไปยังกรุงพนมเปญ และเมืองอู่ฮั่นในเดือนมกราคม และเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ในเดือนพฤษภาคม รวมถึงการเพิ่มเที่ยวบินไปยังเมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย สำหรับการขนส่งสินค้า คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้เพิ่มเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ในเดือนมีนาคม และเพิ่มเที่ยวบินขนส่งสินค้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือและอินเดีย
นอกเหนือจากเครื่องบินโดยสารรุ่นโบอิ้ง 747-400 และเครื่องบินโดยสารรุ่นแอร์บัส A340-300 ที่จะถูกปลดระวางในปีหน้า คาเธ่ย์ แปซิฟิค และดรากอนแอร์ได้ทำการติดตั้งและปรับปรุงที่นั่งใหม่ในทุกชั้นโดยสารเสร็จสมบูรณ์แล้ว เครื่องบินโดยสารรุ่นแอร์บัส A350XWB จะมาพร้อมที่นั่งใหม่และระบบความบันเทิง นอกจากนี้ คาเธ่ย์ แปซิฟิค ยังได้เปิดตัวห้องรับรองผู้โดยสารใหม่ในประเทศต่างๆ เช่น กรุงมะนิลา มีการเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม และกรุงเทพมหานคร เปิดตัวในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ คาเธ่ย์ แปซิฟิค ยังได้ปรับปรุงห้องรับรองผู้โดยสารชั้นหนึ่งที่ “เดอะเพียร์” ณ สนามบินนานาชาติฮ่องกง ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน โดยห้องรับรองผู้โดยสารทั้งสามแห่งนี้ล้วนมีดีไซน์ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของการปรับรูปโฉมใหม่ของแบรนด์คาเธ่ย์ แปซิฟิค อย่างไรก็ตาม ห้องรับรองผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่เดอะเพียร์ กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2559 ทั้งนี้ คาเธ่ย์ แปซิฟิค จะเปิดห้องรับรองผู้โดยสารใหม่ที่นครซานฟรานซิสโกและกรุงไทเป ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2558
นายจอห์น สโลซาร์ ประธานบริษัทคาเธ่ย์ แปซิฟิค กล่าวว่า “ภาพรวมของธุรกิจเราไปในทิศทางบวกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 รวมถึงความต้องการของธุรกิจการขนส่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราลดค่าใช้จ่ายในการจัดการการบินได้เนื่องจากค่าน้ำมันลดลง ซึ่งช่วยชดเชยการขาดทุนจากสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้าได้บางส่วน เราจะยังคงจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากค่าน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อย่างไรก็ตาม เรายังคงเผชิญการแข่งขันที่สูงจากธุรกิจที่มีรายได้จากผู้โดยสาร ซึ่งเป็นเรื่องยากในการรักษาราคาต่อหน่วย และความหนาแน่นของเที่ยวบินที่มากขึ้น ณ สนามบินนานาชาติฮ่องกง ดังนั้น เราจึงสนับสนุนการสร้างรันเวย์ที่สาม ณ สนามบินนานาชาติฮ่องกง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างได้เร็วๆ นี้ เราเชื่อว่า ท่าอากาศยานฮ่องกงสามารถจะสามารถดำเนินการสร้างรันเวย์ที่สามได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องเรียกเก็บเงินค่าบริการสนามบินจากผู้โดยสารหรือบริษัทต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องในฮ่องกง
“โดยปกติแล้ว ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก ดังนั้น ในปีนี้เราจึงคาดหวังว่าธุรกิจของเราจะยังคงดำเนินต่อไปในทิศทางบวก โดยเรายังคงมุ่งมั่นที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นเลิศ ทั้งในเรื่องของฝูงบิน ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการขยายเส้นทางบินต่างๆ ของเราต่อไป ทั้งนี้ ฐานะการเงินของเรายังคงแข็งแกร่ง และเรายังคงมุ่งมั่นให้ทีมงานมืออาชีพระดับโลกของเราร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฮ่องกงซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของเรา ให้เป็นศูนย์กลางการทางการบินชั้นนำในระดับโลก”