MBA จุฬาฯ เดินหน้าหาประสบการณ์ใหม่ เสริมทักษะความรู้ความสามารถให้กับนิสิต ตั้งเป้ามาตรฐานมหาบัณฑิตต้องมีคุณภาพระดับสากล สามารถคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานความเป็นไปได้
โดยใช้เวทีการแข่งขันเป็นสนามฝึกทักษะการเลือกหยิบทฤษฏีมาเป็นเครื่องมือแก้โจทย์ธุรกิจ ล่าสุดไอเดียนิสิต MBA จุฬาฯ ชนะใจกรรมการโครงการ 2015 SCB Future Leader Challenge คว้าสองรางวัลใหญ่มาสร้างความภาคภูมิใจให้ชาว CBS ทั้งคณะ
เพราะการแข่งขันทางด้านธุรกิจในวันนี้มีเวทีโลกเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังนั้นบัณฑิตที่สถาบันการศึกษาผลิตต้องคำนึงถึงศักยภาพในระดับสากล หลักสูตร MBA ของคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn Business School (CBS) ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายในการผลิตผู้บริหารระดับคุณภาพป้อนสู่ภาคธุรกิจ โดยพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องมาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจในแต่ละยุคสมัย
หนึ่งในกิจกรรมที่ MBA ใช้ในการพัฒนามหาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง คือการผลักดันให้นิสิตมีโอกาสทดลองฝีมือในสนามจริง ดังเช่น การส่งเสริมนิสิตหลักสูตร MBA เข้าแข่งขัน SCB Future Leader Challenge ที่จัดร่วมกันโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร.สิริอร เศรษฐมานิต ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักสูตร MBA จุฬาฯ เน้นเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ โดยการผสมผสานองค์ความรู้ที่เป็นทฤษฎี และการปฏิบัติอย่างกลมกลืน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเรียนการสอนของ MBA จุฬาฯ เป็นไปในเชิงรุกมากขึ้น เปิดโอกาส สนับสนุน และผลักดันให้นิสิตเข้าประกวดแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถ และฝีกฝนภายใต้แรงกดดัน
“การส่งนิสิตเข้าร่วมแข่งขันในโครงการ SCB Future Leader Challenge (SCBFLC) ปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว โดยในปี ที่ผ่านมา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ส่วนปีนี้นิสิต MBA จุฬาฯ สามารถเข้ารอบสุดท้าย 2 ทีม โดยคว้าชัยชนะ ได้อันดับหนึ่ง แสดงถึงศักยภาพของนิสิต และหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.สิริอร กล่าว
ทั้งนี้ การแข่งขัน SCB Future Leader Challenge มีทีมจาก 15 ประเทศ 32 มหาวิทยาลัยจากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน ในปีนี้ MBA ของคณะพาณิชยศาสตร์ และบัญชี จุฬาฯ ส่งเข้าร่วมทั้งหมด 4 ทีม โดย 3 ทีม เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายไปพบกับคู่แข่งจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ NUS, Peking, ศศินทร์, ธรรมศาสตร์, HEC Paris, CUHK, KAIST โดยในรอบ 4 ทีมสุดท้าย มีทีมจาก MBA จุฬาฯ เข้ารอบ ถึง 2 ทีม เพื่อ ไปประชันกับศศินทร์ และ KAIST ผลปรากฏว่าทีมจาก MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ
ผศ. ดร.สิริอร กล่าวว่า ชัยชนะที่ได้มานี้เกิดจากความช่วยเหลือระหว่างรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ซึ่งสะท้อนถึงการมีคอนเน็คชั่นที่แข็งแกร่งของ MBA จุฬาฯ โดยในปีแรกของการแข่งขัน อาจารย์ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่เป็นโค้ชเปิดห้องติวเข้มให้แก่นิสิตที่เข้าแข่งขันรุ่นแรก สำหรับปีนี้ นอกจากมีอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว (อ.ดร. ธนากร ลิขิตาภิวัฒน์ และอ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ) ยังมีรุ่นพี่ซึ่งนำประสบการณ์ตรงของตนมาถ่ายทอด ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้แก่รุ่นน้องด้วย หลักสูตรฯ วางแผนให้การถ่ายทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องนี้ดำเนินต่อกันไปเป็นทอดๆ เพื่อตอกย้ำวัฒนธรรมการสร้างสายสัมพันธ์ที่จะต่อยอดเป็นสายสัมพันธ์ทางธุรกิจในอนาคต
ทางด้านรุ่นพี่ผู้ทำหน้าที่เป็นโค้ช นำทีมโดย อนนต์นที ธีนานนท์ กล่าวว่า พื้นฐานหลักสูตร MBA จุฬาฯ ที่ได้รับค่อนข้างแน่นพอที่จะทำให้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาธุรกิจได้ การได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน ในลักษณะนี้เป็นเหมือนกับสนามประลองฝีมือที่ให้นิสิตมีโอกาสได้เอาความรู้ไปใช้กับเคสธุรกิจต่างๆ ได้จริงที่สำคัญมีทักษะความรู้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในการนำไปใช้กับการทำงานจริงของตน
ทางด้านพีรพล ตรงกมลมาศ หัวหน้าทีม Gazelle ที่ชนะเลิศการแข่งขันในปีนี้กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ตน และเพื่อน มีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ตนเห็นว่าความรู้ที่ได้รับจาก MBA จุฬาฯ มีประสิทธิภาพที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือต่อยอดสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้จริง นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ฟังมุมมองความคิดเห็นของซีอีโอองค์กรใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าของเคสธุรกิจด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ถ้าไม่ได้เข้ามาเป็นนิสิตของ MBAจุฬาฯ
“เคสที่ทาง SCBFLC นำมาให้เราแก้โจทย์ เป็นเคสที่เกิดขึ้นจริงจากองค์กรชั้นนำของไทย บางองค์กรนำเอาปัญหามาให้เราช่วยคิดแก้ไขสถานการณ์ ขณะที่บางองค์กรมีแนวคิดจะต่อยอดธุรกิจ และให้เราช่วยคิดว่าแนวคิดนั้นเป็นแนวทางที่ใช่หรือไม่ โดยจะให้ข้อมูลที่สำคัญเบื้องต้นมาแล้วให้เราหาข้อมูลเพิ่มเติมในเวลาที่จำกัด ซึ่งเวลาจะสั้นลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าใกล้รอบสุดท้าย ทำให้เราต้องใช้ไหวพริบ และทักษะความรู้ที่มีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า”
พีรพลบอกว่า แนวคิดที่ทีมของเขาเสนอเป็นที่ถูกใจต่อคณะกรรมการเป็นอย่างมาก โดยช่วงแรกๆ อาจได้รับ คอมเมนท์มากหน่อย แต่เขาและเพื่อนๆ ในทีมนำคอมเมนท์จากรอบแรกๆ ไปใช้ปรับวิธีคิดสำหรับการแก้โจทย์ในรอบต่อๆ ไปจนสามารถคว้ารางวัลได้ในที่สุด ซึ่งเขาจะนำเอาประสบการณ์นี้ไปถ่ายทอดให้รุ่นน้องต่อไป
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นพสิทธิ์ จิตจรัสอำไพ หัวหน้าทีม PRIMA ผู้คว้ารางวัล รองชนะเลิศ ซึ่งมองว่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก โดยเขากับเพื่อนๆ ในทีมซึ่งเป็นเพื่อนที่เรียนร่วมกันมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีตัดสินใจเข้าศึกษาต่อหลักสูตร MBA จุฬาฯ ด้วยเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของหลักสูตร และต้องการได้คอนเน็คชั่น และประสบการณ์ที่จะช่วยเสริมศักยภาพการทำงานในปัจจุบันของตน
“พวกเราส่วนใหญ่จบมาทางด้านวิศวะ เมื่อมาเรียน MBA แล้วได้เจอกับเพื่อนที่จบมาต่างสาขา ทำให้เห็นมุมมองวิธีคิดที่ต่างออกไป การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนที่มีมุมมองต่างไปจากเรา ผมคิดว่าจะช่วยเติมเต็มให้ความคิดของเราเฉียบคมยิ่งขึ้น มีความรอบด้านมากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับการทำงานในปัจจุบัน” นพสิทธิ์กล่าวแสดงความเห็นในตอนท้าย