HomeInsightจุฬาฯ เผย ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก ไทยติดอันดับ 32 ของโลก

จุฬาฯ เผย ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก ไทยติดอันดับ 32 ของโลก

แชร์ :

02-รศ.ดร.พสุ-เดชะรินทร์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 140 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งถึงสิบ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟินแลนด์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 32 โดยมีคะแนน 4.6 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ในประเทศไทย เผยว่า “ ทางคณะฯ เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึก จากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย WEF ซึ่งนำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 113 ตัว จัดแบ่งเป็น 12 ด้าน                  ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขัน โดยปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน 4.6 ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 31 และมีคะแนน 4.7 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนและอันดับดีขึ้นในด้านนวัตกรรมและด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี เขยิบสูงขึ้น ในขณะที่ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค ถดถอยลงเล็กน้อย ฉุดค่าดัชนี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชีย (Emerging and Developing Asia) ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ปรากฏว่า ด้านที่ประเทศไทยได้รับค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด คือ ด้านสาธารณูปโภค (Infrastructure) ด้านสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technological Readiness) ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านขนาดของตลาด (Market Size) ด้านการพัฒนาตลาดการเงิน (Financial Market Development) ด้านระดับการพัฒนาธุรกิจ (Business Sophistication) และด้านประสิทธิภาพตลาดสินค้า (Goods Market Efficiency)

ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งแสดงถึงศักยภาพในความสามารถทางการแข่งขันของไทย คือ สัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อค่า GDP ที่มีค่าสูงถึงร้อยละ 75.6 ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 18 จาก 140 ประเทศ (ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 4 อันดับ) ส่วนขนาดของตลาดในประเทศนั้นได้รับคะแนนประเมิน 5 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน) เป็นอันดับที่ 22 ของโลกและเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนด้านตลาดต่างประเทศนั้นได้รับการประเมิน  6 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 14 และเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

ทางด้านระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business Sophistication) นั้นประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 35 โดยเป็นที่หนึ่งของประเทศตลาดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชีย นับว่าเป็นการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นปัจจัยทางด้านคุณลักษณะของความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Nature of Competitive Advantage)  ซึ่งได้รับ 4.3  คะแนน ก็อยู่ในอันดับที่ดี นอกจากนั้นปัจจัยทางด้านการตลาด (Extent of Marketing) นั้น ประเทศไทยได้คะแนนถึง 4.9  คะแนน เป็นอันดับที่ 29

นอกจากรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ยังมีการรายงานถึงอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการบั่นทอน ขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจัยลบในปีนี้ของประเทศไทย 3 อันดับต้น ได้แก่ อันดับ 1  ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเคยมีคะแนนสูงถึง 21 เหลือเพียง 18.1 คะแนน สะท้อนว่าไทยจัดการปัญหาได้ดีขึ้น อันดับ 2 การคอรัปชั่น ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 21.4 เหลือเพียง 12.5 คะแนน และอันดับ 3 ระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ ลดลงจาก 12.7 เหลือ 12.3 คะแนน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุนในไทย

ทั้งนี้ การสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดย WEF (World Economic Forum) หรือ ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่สำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเฝ้ารอและจับตาดู เนื่องด้วย นอกจากจะเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมถึงยังสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นและประเด็นที่ควรต้องพิจารณา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งในประเทศไทย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพันธมิตรที่ร่วมพัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว

การจัดอันดับเปรียบเทียบในภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศที่ปรากฏใน GCI ประกอบไปด้วยรายละเอียด 3 กลุ่มปัจจัย แบ่งเป็น 12 ด้าน (Pillars) ที่รวมเข้าเป็นดัชนีองค์รวมดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน (Basic Requirements) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ด้านสุขภาพและการศึกษาเบื้องต้น (Health and Primary Education) กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ (Efficiency Enhancers) ซึ่งจะนำสู่ความมีประสิทธิภาพของประเทศ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods Market Efficiency) ด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor Market Efficiency) ด้านพัฒนาการของตลาดการเงิน (Financial Market Development) ด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technological Readiness) ขนาดของตลาด (Market Size) และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา (Innovation and Sophistication) ซึ่งมุ่งเน้นการการผลักดันระดับนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ ระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business Sophistication) และ          ด้านนวัตกรรม (Innovation)


แชร์ :

You may also like