หลายคนคิดว่าการเปิดเพจเฟซบุ๊ก (Facebook Page)เป็นเรื่องง่าย ๆ เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ใช้เฟซบุ๊ก แค่อัพรูปสวย ๆ โพสต์ข้อความโดน ๆ เดี๋ยวก็มีคนมากดไลค์ มาฟอลโลว์เราเอง ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังคิดอย่างนั้นอยู่ คุณคิดผิดแน่ ๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วมีเพจเกิดใหม่เพียงแค่น้อยนิดเท่านั้นที่สามารถแจ้งเกิดเป็นเพจยอดนิยมได้ แล้วอะไรล่ะคือสาเหตุที่ทำให้เพจเกิดใหม่ส่วนใหญ่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน Brand Buffet จะพาคุณไปค้นหาข้อผิดพลาดพื้นฐานที่คนทำเพจควรหลีกเลี่ยง 10 ประการเพื่อไม่ให้เพจเฟซบุ๊กเปิดใหม่ของคุณกลายเป็นดาวดับ
1. เป็นผู้พูดอยู่ฝ่ายเดียว
หากคุณเอาแต่บอกเล่าเรื่องราวของคุณอยู่ฝ่ายเดียวแสดงว่าคุณลืมไปว่าตัวเองกำลังสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กอยู่ เพราะการสื่อสารทางเดียวนั้นใช้กับสื่อโทรทัศน์หรือนิตยสาร คุณต้องเข้าใจซะก่อนว่า Social Media นั้นถือกำเนิดขึ้นเพื่อการสื่อสารโต้ตอบระหว่างกลุ่มผู้ใช้งาน หากคุณอยากจะให้แฟนเพจสนใจเรื่องราวของคุณ คุณก็ต้องสนใจในสิ่งที่แฟนเพจบอกคุณและพูดคุยโต้ตอบกับพวกเขาด้วย
2. ไม่ทำตามกฏระเบียบของ Facebook
ก่อนที่จะเปิดเพจเฟซบุ๊ก คุณจะต้องคลิกปุ่มยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฏยิบย่อยมากมายหลายข้อไล่ตั้งแต่การตั้งชื่อเพจให้สอดคล้องกับเนื้อหา รายละเอียดของเนื้อหาที่สามารถโพสต์ลงเพจได้ การโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ไปจนถึงการทำโปรโมชั่นกับลูกค้าผ่านเฟซบุ๊ก อย่าเพิ่งรีบกดยอมรับจนลืมอ่านล่ะ คุณจำเป็นต้องศึกษากฏระเบียบของเฟซบุ๊กให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะเปิดเพจจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง
3. ไม่ทุ่มเทเวลาให้
หากคุณคิดว่าแค่เปิดเพจขึ้นมา โพสต์นู่นโพสต์นี่นิด ๆ หน่อย ๆ แล้วคนจะมาสนใจกดติดตามเองคุณคิดผิดถนัด การจะทำเพจเฟซบุ๊กให้ประสบความสำเร็จต้องมีการวางแผนการตลาดอย่างละเอียด คุณจึงจำเป็นต้องทุ่มเททั้งเวลาและแรงกายแรงใจเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่คุณกำหนดไว้
4. เนื้อหาน่าเบื่อ
คุณอาจสงสัยว่าทั้ง ๆ ที่คุณทุ่มเทเวลาไปกับการสร้าง content ต่าง ๆ ให้เพจของคุณอย่างเต็มที่แล้วทำไมยอดไลค์กลับไม่กระเตื้องสักที นั้นเป็นเพราะว่า content ของคุณอาจดีแต่ไม่น่าสนใจ คุณควรสร้าง content ที่มีความแตกต่างและนำฟีเจอร์ต่าง ๆ ของเฟซบุ๊ก เช่น การโพสต์รูป โพสต์วิดีโอ การติดแท็ก การสร้างอีเว้นท์ การ invite ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์
5. ขาดการวิเคราะห์ข้อมูล
คุณควรนำยอดตัวเลขต่างๆ เช่น ยอดวิว จำนวนไลค์ จำนวนคนติดตาม จำนวนคนที่พูดถึง จำนวนคอมเม้นต์ จำนวนวิวต่อจำนวนยอดการสั่งซื้อ ช่วงเวลาที่คนคลิกไลค์เยอะและข้อมูลอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเพจของคุณมาวิเคราะห์และประเมินผลเพื่อให้รู้ว่าแผนกลยุทธ์การตลาดที่คุณได้ทำไปให้ผลสำเร็จมากแค่ไหน
6. ไม่มีกลยุทธ์ด้านการตลาดที่แน่ชัด
การทำการตลาดที่ปราศจากกลยุทธ์ก็เหมือนกับการทำธุรกิจโดยปราศจากการวางแผน กลยุทธ์คือแผนการที่จะนำมาคุณไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มทำเพจคุณควรรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายที่คุณต้องการจากการทำการตลาดทางเฟซบุ๊ก จำนวนผู้ติดตามที่คุณต้องการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในการสื่อสาร รวมทั้งวิธีการที่คุณจะใช้เพื่อดึงดูดให้คนหันมากดติดตามคุณ หากคุณทำเพจแบบสะเปะสะปะโดยขาดซึ่งเป้าหมายและกลยุทธ์แล้วแน่นอนว่าเพจของคุณก็จะประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
7) ไม่สนใจเรียนรู้เครื่องมือต่าง ๆ ของ facebook
Facebook มีเครื่องมือที่เป็นประโยชน์และลูกเล่นที่หลากหลายกว่าที่คุณคิด เครื่องมือเหล่านี้ได้จัดเตรียมไว้ให้คุณเพื่อให้คุณสามารถทำการตลาดบนเฟซบุ๊กได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากคุณไม่สนใจเรียนรู้ก็นับได้ว่าคุณได้ลดโอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จลงอย่างน่าเสียดาย คุณจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงเครื่องมือและ option ในเฟซบุ๊กให้อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยหนึ่งในเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับคนทำเพจคือ Facebook Page Insights เพราะเครื่องมือนี้จะบอกได้เลยว่า ที่มาของการ Like มาจากที่ใด เช่น
- Page Suggestions จากโมบายล์
- กดที่หน้า Page โดยตรง
- จากการลงโฆษณาใน Facebook
รวมถึงอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ยอดวิวตกลง เช่น การแจ้งซ่อนโพสต์, การ Report Spam และการ Unlike Page ช่วงเวลามีคนที่เป็นคนที่ติดตามเราเข้ามาออนไลน์ในช่วงเวลาใดมากที่สุด ข้อมูลของผู้ที่เป็นแฟนเพจเราว่ามีสัดส่วนของเพศเป็นอย่างไร มีช่วงอายุเท่าใดบ้าง มาจากประเทศ/จังหวัดไหน รวมทั้งยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย ศึกษาเกี่ยวกับ Facebook Page Insights เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/help/336893449723054/
8) สนใจแต่เรื่องการขาย
หากคุณเปิดเพจเพื่อขายหรือโฆษณาสินค้าคุณอาจเอาแต่โพสต์รายละเอียดสินค้า รูปโฆษณา นำเสนอโปรโมชั่น แต่พึงระลึกไว้ว่าคุณกำลังสื่อสารในเฟซบุ๊กอยู่ไม่ใช่สื่อที่ดูเป็นพื้นที่โฆษณาเต็มรูปแบบ ดังนั้นเพจของคุณไม่ควรจะลงแต่โฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่ควรสร้าง “คุณค่า” ให้เพจของคุณโดยการโพสต์ content ที่น่าสนใจหรือเป็นประโยชน์ รวมทั้งพูดคุยและตอบปัญหาของแฟนเพจ ยุคนี้เพจเฟซบุ๊กมักวัดความนิยมกันที่ยอดของจำนวนคนที่พูดถึง (People Talk About) ดังนั้นคุณการสื่อสารโต้ตอบกับแฟนเพจเพื่อให้เรื่องของเพจคุณเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม
9) โพสต์ Content ที่มีรูปแบบเดียวกับ Social Media อื่นๆ
แต่ละ social media ก็จะมีรูปแบบของการสื่อสารที่แตกต่างกัน เช่น ทวิตเตอร์ไว้ติดตามข่าวสั้น ๆ ช่วงเช้า เฟซบุ๊กไว้อ่านเรื่องราวสนุกๆ และติดตามเรื่องราวของเพื่อนๆ ช่วงเย็น หากคุณนำโพสต์สั้น ๆ ของทวิตเตอร์ที่มีความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษรมาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก คนอ่านย่อมจะรู้สึกว่าโพสต์นี้มันช่างอยู่ผิดที่ผิดทางเสียจริง คุณจึงควรสร้าง content ที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละ social media เพื่อให้ content ตรงกับวัตถุประสงค์และไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้ใช้ social media นั้น ๆ
10) ไม่สนใจเรื่องดีไซน์
สำหรับมนุษย์แล้วสัมผัสทางตานับได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุด social media เองก็เป็นสื่อที่เล่นกับสัมผัสทางตาของมนุษย์ ดังนั้นนอกจากการดีไซน์เนื้อหาในโพสต์แล้ว คุณยังต้องคำนึงถึงการดีไซน์รูปภาพ โปสเตอร์และ infographic ต่างๆ ที่โพสต์ให้สวยงามและเตะตาด้วย เพราะทุกวันนี้ในวันหนึ่งๆ มีข้อมูลข่าวสารผ่านตาเราเยอะมาก คุณย่อมไม่สามารถคาดหวังให้คนกดไลค์หรือติดตามเพจของคุณได้ หากรูปภาพหรือสื่อที่คุณโพสต์นั้นไม่ทำให้คนอ่าน “สะดุดตา”
เรียบเรียง : Bell W.