ผลสำรวจเผยผู้บริโภคกลุ่ม Millennial ทั่วโลกทุกวันนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 1 วันในสัปดาห์ไปบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ส่วน กลุ่ม Millennial ชาวไทยติดอันดับหนึ่งใช้เวลาบนโทรศัพท์มือถือมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
บริษัทวิจัยทีเอ็นเอสชวนแบรนด์ลงลึกถึงพฤติกรรมการรับสื่อที่แตกต่างตามเจเนอเรชั่นในวันที่ผู้บริโภคทุกวัยก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์
กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรุ่นใหม่วัย Millennial หรือกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 16-30 ปีทั่วโลก ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือต่อวันสูงถึง 3.2 ชั่วโมง หรือ ระยะเวลารวมเกือบ 1 วันต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบางประเทศที่การเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือกลายเป็นช่องทางหลักอย่างประเทศไทย ทีเอ็นเอสแนะแบรนด์ลงลึกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล 3 เจเนอเรชั่นให้ชัดเพื่อการวางกลยุทธ์ที่แม่นยำ
ทีเอ็นเอส บริษัทให้คำปรึกษาและข้อมูลการตลาดชั้นนำ ระบุถึงผลการสำรวจ Connected Life ที่ศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมในยุคดิจิทัลของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง กว่า 60,000 คนใน 50 ประเทศ พบว่าผู้บริโภคกลุ่ม Millennial ในประเทศไทยมีการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และ สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยจำนวนชั่วโมงราว 4.2 ชั่วโมงต่อวัน สอดคล้องกับข้อมูลจากผลสำรวจเดียวกันที่รายงานสัดส่วนการครอบครองสมาร์ทโฟนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่สูงถึง 96% เพิ่มขึ้นจาก 80% ในปีผ่านมา
ดร.อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมออนไลน์ที่ผู้บริโภคกลุ่ม Millennial ชาวไทยใช้เวลามากที่สุดคือโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดย 88% ใช้งานโซเชียลมีเดียทุกวัน และ 67% เข้าชมวิดีโอออนไลน์ทุกวัน อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้บริโภควัยดังกล่าวยังมีกิจกรรมออนไลน์รูปแบบอื่นค่อนข้างต่ำ อาทิ การชำระเงินออนไลน์ ที่มีเพียง 10% เท่านั้นเคยใช้บริการ และยังมีการรับชมสื่อดั้งเดิมอื่นๆ อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ เพียงแต่ความถี่ในการรับสื่อดังกล่าวต่ำลงกว่าผู้บริโภคเจเนอเรชั่นก่อนหน้า
ในยุคการแตกตัวของสื่อ (Fragmented Media) อย่างทุกวันนี้ การเปิดรับสื่อของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆมีความแตกต่างอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคกลุ่ม Millennial ซึ่งมีการใช้งานหลายแพลตฟอร์มทั้ง Instant Messaging หรือแอพพลิเคชั่นแชทต่างๆ โซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือแม้กระทั่งสื่ออื่นๆที่มีอยู่เดิม โดยสำหรับในประเทศไทย พบว่ามากกว่า 8 ใน 10 (82%) ของผู้ที่มีอายุ 16-30 ปี ใช้บริการแอพพลิเคชั่นแชทเป็นประจำทุกวัน สูงขึ้นจาก 39% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ เวลาเฉลี่ยกว่า 2 ชัวโมงต่อวันของผู้บริโภคกลุ่มนี้ถูกใช้ไปกับการรับชมวิดีโอออนดีมานต์ และ รับชมรายการทีวีผ่านทางอินเทอร์เน็ต
สำหรับกลุ่มผู้บริโภคในยุค Baby boomer ที่มีอายุระหว่าง 46-65 ปีนั้น แม้ว่าสื่อดั้งเดิมต่างๆยังมีบทบาทครอบงำต่อคนกลุ่มนี้มากกว่า ด้วยระยะเวลาเฉลี่ยกว่า 2.3 ชั่วโมงต่อวันในการรับชมโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ และฟังวิทยุ ซึ่งมากกว่าเวลาที่ผู้บริโภคกลุ่ม Millennial ใช้ไปกับสื่อดั้งเดิมราวครึ่งชั่วโมงต่อวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้เองก็มีแนวโน้มอัตราการหันมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้บริโภคอายุ 46-65 ปีในไทยใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวันบนโทรศัพท์มือถือ
อย่างไรก็ตาม การมุ่งแสวงหาช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่ม Millennial อาจเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงในเชิงธุรกิจของแบรนด์ หากการไล่ให้ทันผู้บริโภคกลุ่มที่เปิดรับสื่อดิจิทัลสูงที่สุดอาจทำให้แบรนด์หลงลืมหรือละเลยผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกออนไลน์เช่นเดียวกันถึงแม้ว่าจะช้ากว่า
โจ เว็บบ์ ผู้อำนวยการงานวิจัย Connected Life ของทีเอ็นเอส (TNS) บริษัทให้คำปรึกษาและข้อมูลการตลาดชั้นนำของโลก กล่าวว่า การตลาดในยุคที่ต้องรับมือกับการเข้าถึงโลกออนไลน์ของผู้บริโภคควรเพิ่มความระมัดระวังในการวางกลยุทธ์ที่แตกต่างเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคแต่ละเจเนอเรชั่นได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ Millennial ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่มีความสำคัญ แต่โดยปกติแล้วผู้บริโภคอีกสองกลุ่มอย่าง กลุ่ม Gen x (อายุ 31-45 ปี) และกลุ่ม baby boomer (อายุ 46-65 ปี) มักจะมีกำลังการใช้จ่ายที่มากกว่า และเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน บ่อยครั้งที่กลยุทธ์ด้านดิจิทัลของแบรนด์มักจะเล็งไปที่ผู้บริโภคกลุ่มที่ใช้งานดิจิทัลมากที่สุด แต่จริงๆแล้วกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่เหมาะสมกับผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆที่มีกำลังซื้อมากกว่าก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
เว็บบ์ กล่าวต่อว่า แบรนด์ที่ต้องการไล่ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล จำเป็นต้องรับมือกับความท้าทาย 2 ประการให้ได้ ประการแรกคือ การสร้างแคมเปญที่โดดเด่นด้วยคอนเทนต์ที่ชัดเจน ตอบโจทย์ มีคุณค่าแก่การบอกต่อในสายตาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย อีกประการคือ เลิกเชื่อในหลุมพรางที่บอกว่ากลุ่มผู้บริโภครุ่นใหญ่จะเข้าถึงได้ง่ายผ่านสื่อเดิมๆที่เคยใช้เหมือนเช่นในอดีต ยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆไปด้วยเช่นกัน ผนวกด้วยกำลังซื้อที่สูงกว่าในผู้บริโภครุ่นใหญ่อย่างกลุ่ม Gen X และกลุ่ม Baby Boomer นี้ ยิ่งตอกย้ำได้ดีว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่แบรนด์จะสร้างสรรค์ข่าวสารที่แตกต่าง เหมาะสมกับความสนใจ ผ่านช่องทางการสื่อที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคทั้ง 3 เจเนอเรชั่นนี้