เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะตามรอยสหรัฐอเมริกาและจีนในยุครุ่งเรืองของ E-commerce ภายใน 4-5 ปี ด้วยจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรในสหรัฐอเมริกาถึง 2 เท่า ทำให้ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะกลายเป็นตลาด E-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและอินเดีย
ปีที่ผ่านมา จากการเคลื่อนไหวของการค้าออนไลน์ระดับท้องถิ่นในหลายๆ ประเทศทำให้ E-Commerce ของภูมิภาคนี้กระเตื้องขึ้นมาอย่างมาก ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ อินโดนีเซีย เป็นครั้งแรกที่การค้าออนไลน์ในอินโดนีเซียแซงหน้าไทย ส่วนหนึ่งมาจากการที่คู่แข่งของอาลีบาบาในจีน อย่าง JD สร้างเซอ์ไพรส์โดยการเปิดตลาดในอินโดนีเซีย เพิ่มแรงกดดันในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นไปอีก
เราลองมาดูทิศทางในปี 2016 กับ 10 แนวโน้มที่สามารถเกิดขึ้นได้ในตลาด E-commerce ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1. Brand.com จะเป็นเทรนด์ใหม่ของช่องทางขายออนไลน์
แม้ว่าแบรนด์ต่างๆ จะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่ส่วนมากเป็นไปในเชิงของการนำเสนอข้อมูลสินค้า ที่ผ่านมาในสหรัฐและจีน เริ่มมีการขายของบนเว็บไซต์หลักของแบรนด์ โดยเริ่มจากการที่เข้าไปยังเว็บไซต์ E-commerce ต่างๆ เช่น eBay, Amazon, Taobao แล้วถูกลิงค์ไปยังเว็บไซต์ของแบรนด์โดยตรง เช่น Nike, J.Crew หรือ Gap เป็นต้น
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ก็กำลังจะเดินตามรอยนั้น แบรนด์จะเริ่มทำเว็บไซต์ของตัวเองให้มีลักษณะเป็น E-commerce มากขึ้น สามารถเกิดการซื้อขายได้ภายในไซต์นั้นๆ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาด เพราะมีข่าวมาว่า Unilever Thailand กำลังวางกลยุทธ์ E-commerce นี้เพื่อจะเริ่มใช้ในปี 2016
2. หมดยุค E-commerce เพราะต่อไปจะมีแค่ Commerce
ถึงเวลาที่การค้าแบบ offline และ online ต้องประสานกันเป็นหนึ่ง ในปีนี้มีแนวโน้มว่าผู้ค้าแบบ offline จะผันตัวเองมาจับการค้าผ่านช่องทาง online มากขึ้นเพราะระบบมากมายที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้การขายของ online เป็นเรื่องง่ายขึ้น และมีบริการต่างๆ ที่ใช้งานง่ายเต็มรูปแบบ
สำหรับผู้ค้าที่ขายแบบ onliine อยู่แล้วนั้น จะดีมากขึ้นถ้าสามารถพัฒนาการค้าให้เป็นไปในแบบ offline ได้มากขึ้น เช่น ในแง่ของการขนส่งที่รวดเร็ว Nguyen Kim ผู้ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกออนไลน์ในเวียดนาม เป็นตัวอย่างที่ดี เขาสามารถส่งสินค้าให้ไปถึงลูกค้าได้ภายใน 4 ชั่วโมงในวันเดียวกัน เพราะประสบการณ์ที่มีจากการค้าแบบออฟไลน์ และผู้ที่จะได้เปรียบในสถานการณ์นี้มากที่สุด ก็คือผู้ค้าที่มีทั้ง 2 ช่องทางอยู่ในมืออยู่แล้ว เช่น MatahariMall, Cdiscount และ Central
3. ตลาด Niche ทั้งหลาย จะหลีกเลี่ยงการท้าชนของการค้าแบบ B2C
ปีนี้จะเป็นปีแห่ง Creative E-Commerce การขายสินค้าจะแข่งกันด้วยความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น นอกจากนั้น B2C หรือการค้าแบบไม่มีคนกลาง ยังคงเป็นลักษณะการค้าที่แข็งแกร่งที่สุด แต่การชนะได้ในตลาดอาจต้องมีจุดเด่นบางอย่างเพื่อดึงดูด ปีนี้เราคาดหวังว่าหลายๆ แบรนด์จะแข่งกันด้วยความสร้างสรรค์ ความสดใหม่ และความแตกต่าง เช่น Pomelo ที่ขายสินค้าแฟชั่นซึ่งออกแบบเอง ผลิตเองและขายเองเพื่อสร้างข้อได้เปรียบด้านความแตกต่างและมีเอกลักษณ์กว่าคู่แข่ง มีภาพลักษณ์แบรนด์ที่ชัดเจน เพื่อต่อสู้ในตลาด E-Commerce ในกลุ่มแฟชั่น
4. E-commerce ข้ามแดนจะถูกขับเคลื่อนโดย Silk Road 2.0 ไม่ใช่ AEC
แม้ภาครัฐจะผลักดันและสนับสนุน AEC มากแค่ไหน แต่เรายังคงเชื่อว่า AEC ไม่ส่งผลกับตลาด E-Commerce ระหว่างประเทศเท่าใดนัก แม้แต่ประเทศในกลุ่ม AEC เอง แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนการค้าออนไลน์แบบข้ามชาติน่าจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Silk Road 2.0 หรือที่หมายถึงเส้นทางการค้ากับจีนต่างหากที่จะกระตุ้นให้ E-Commerce ระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครึกครื้นขึ้นมาอีกครั้ง
5. การจ่ายเงินปลายทางยังเป็นที่นิยมที่สุดใน Southeast Asia
สหรัฐและจีนต่างมีระบบการจ่ายเงินออนไลน์ผ่านคนกลางที่มีระบบในการรับจ่ายค่าสินค้าที่แข็งแกร่งและเป็นที่นิยมอย่าง Paypal และ Alipay แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีผู้ให้บริการใดได้รับความไว้วางใจจนเป็นที่นิยมในระดับนั้น แม้ว่าจะมีหลายเจ้าพยายามเปิดช่องทางการชำระเงินผ่านตัวแทน โดยกล่าวถึงความสะดวกสบายที่ผู้ใช้งานจะได้รับ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังคงชอบที่จะชำระเงินปลายทางมากที่สุด
6. ความแผ่วลงของผู้ขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์
ผู้ค้าหลายรายที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นโดยเฉพาะทางออนไลน์ เช่น Zalora จะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากร้านค้าออนไลน์ในช่องทางอื่นๆ เช่น Facebook หรือ Instagram ที่มีสินค้าประเภทเดียวกันมากมายหลายระดับราคาให้เลือก
7. ช่องทางโฆษณาใหม่ๆ ที่จะท้าทายด้านมืดของ Google และ Facebook
ค่าโฆษณาของ Google และ Facebook ที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลาทำให้เราเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะมีบริษัทและผู้ประกอบการคิดค้นแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการลงโฆษณาและทำการตลาดนอกเหนือไปจาก Facebook และ Google
8. คนกลางส่งสินค้ายังสำคัญ
แม้ว่าปีที่ผ่านมาผู้ค้าหลายรายเช่น Lazada หรือ MatahariMall เริ่มหันมาลงทุนในด้านการส่งสินค้าด้วยด้วยเอง โดยพยายามมีบริษัทส่งสินค้าของตัวเองเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ แต่ในปี 2016 นี้ คนกลางในการส่งอย่างบริษัทใหญ่ๆ เช่น DHL, Kerry logistic, JNEs ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางเพื่อขนส่งสินค้าสู่ผู้บริโภค แต่สุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการขนส่งแบบค้าปลีก พวกเขามักเชี่ยวชาญกับการขนส่งระหว่างธุรกิจมากกว่า นั่นหมายความว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเรื่องการส่งสินค้าในเร็ววัน
9. การจัดการ Channel จะเป็นแบบ Programmatic มากขึ้น
ในปีนี้การแข่งขันเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารหรือโฆษณาไปยังผู้บริโภคจะเป็นแบบ Programmatic มาขึ้น คือจะใช้โปรแกรมและเทคโนโลยีในการเลือกลงสื่อเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด ต่างจากการใช้เอเจนซี่ในแบบเดิม และไม่ใช่แค่ในรูปแบบ Display ads เพื่อความสวยงาม แต่การใช้ Programmatic Advertising จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากกับธุรกิจ E-commerce
10. สงครามของความสามารถเริ่มต้นขึ้นแล้ว
การแข่งขันในตลาด E-commerce จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อจะเติบโตในธุรกิจได้อย่างแข็งแรง ดังนั้นบุคลากรจึงเป็นสิ่งสำคัญ บริษัท E-commerce ทั้งหลายจำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง และมองหาบุคลากรที่มีความสามารถอย่างแท้จริง เพื่อพัฒนาและรักษาให้อยู่กับองค์กรต่อไปนานๆ เพราะคนที่มีพรสวรรค์ย่อมหาโอกาสในการก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ และหากไม่รักษาไว้ให้ดีเขาเหล่านั้นก็อาจหาโอกาสในการไปก้าวหน้าที่อื่นก็เป็นได้