การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของ Twitter(ทวิตเตอร์) หลังจากการกลับมารับตำแหน่ง CEO ของ Co-founder อย่าง Jack Dorsey และได้ทำการ layoff พนักงานบางส่วน Twitter ตัดสินใจยกเลิกกฎสุดคลาสสิกอย่างการจำกัด 140 ตัวอักษร
ผู้ใช้จำนวนมากเริ่มทวีตถึงความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อกฎใหม่นี้แล้ว บ้างช็อก บ้างเซอร์ไพรส์ บ้างหงุดหงิด ซึ่งตามข่าวจากหลายสำนัก Twitter จะเริ่มให้ผู้ใช้งานทวีตข้อความด้วยตัวอักษรสูงสุดถึง 10,000 คาแร็คเตอร์ ในเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานเดิมมากนัก เนื่องจากหน้าตาของการใช้งานจะแสดงแค่ 140 ตัวอักษรเท่าเดิม หากมีข้อความเพิ่มเติมที่มากขึ้นจากนี้ จะมีตัวเลือกให้กดเพื่อแสดงข้อความที่เหลือ
แนวคิดนี้ริเริ่มมาจาก “Beyond 140” ที่ Twitter ตั้งข้อสังเกตว่าคนจะหาทางหลักเลี่ยงข้อจำกัด 140 ตัวอักษรด้วยวิธีที่สร้างสรรค์อย่างไรได้บ้าง แต่การขยายจำนวนตัวอักษรนี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารข้อความที่ต้องการได้ครอบคลุมมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาพในการอธิบายเพิ่ม อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างไรกับการทำธุรกิจของแบรนด์อื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันแบรนด์ส่วนใหญ่ใช้ Twitter เป็นเพียงตัวกลางในการรับเรื่องร้องเรียนเล็กๆ น้อยๆ จากลูกค้า และติดต่อกลับโดยใช้อีเมล์ หรือคอลเซ็นเตอร์เพื่อดำเนินการต่อไป
แต่การเพิ่มให้ Twitter สามารถเขียนข้อความที่ยาวขึ้นได้นั้นแบรนด์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แน่นอน เพราะแบรนด์จะสามารถใช้ Twitter เป็นช่องทางในการตอบคำถามและให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องโอนไปช่องทางอื่น และลดจำนวนลูกค้าที่จะติดต่อเข้าไปทางคอลเซ็นเตอร์ได้อีกด้วย ทำให้ในอนาคต Twitter จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภคจะสามารถติดต่อแบรนด์ได้โดยตรงและเปิดเผย สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ เป็นการเพิ่มรูปแบบในการติดต่อแบบข้ามแพลตฟอร์ม ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้หลากหลายช่องทาง เพราะโซเชียลมีเดียทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา ซึ่งติดต่อได้ง่ายกว่าการยกหูโทรศัพท์แล้วโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ การติดต่อแบรนด์ได้ง่ายจะสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค และทำให้พวกเขากลับมาซื้อสินค้าของคุณอีกครั้งอย่างไม่ยากเย็น
ถึงเวลาที่แบรนด์จะต้องเตรียมทีมโซเชียลของคุณไว้ดูแลแพลตฟอร์มอย่าง Twitter บ้างแล้ว เพราะทั้งประหยัดเงิน ประหยัดเวลา และมีโอกาสในการได้เจอผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เพราะนี่คือยุคของผู้บริโภค การเข้าถึงได้ง่าย แก้ปัญหาได้ไวแบบไม่ต้องข้ามแพลตฟอร์ตเป็นสิ่งหนึ่งที่แบรนด์ควรมีไว้รองรับผู้บริโภค และถ้าทำได้ดีนี่อาจจะเป็นข้อหนึ่งที่ทำให้คุณได้เปรียบคู่แข่งในตลาดก็เป็นได้