‘อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ’ เปิดแผนรุกตลาด ‘ไลฟสไตล์ เอ็กซ์พีเรียนส์’ (Lifestyle Experience) บุกงานพิพิธภัณฑ์ และงานนิทรรศการ (Museum and Exhibition) เจาะกลุ่มจากธุรกิจไปยังลูกค้าทั่วไป หรือบีทูซี (Business-to-Consumer) ด้วยวิธีการทำแบรนดิ้งยุคใหม่
ชี้ตลาดเมืองไทยเข้าสู่ยุค ‘ดิจิ-ไลฟ์-เอ็กซ์พีเรียนส์’ (Digi-Live Experience) การผนวกสื่อดิจิตอลออนไลน์ ผู้บริโภคเสพความสด และเชื่อในประสบการณ์จริง งานต้องตอบโจทย์ชีวิต คนในยุคปัจจุบัน ที่กระจายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน บริษัท ครีเอทีฟ อีเว้นท์ อันดับ 7 ของโลก (จัดอันดับโดยนิตยสารสเปเชี่ยล อีเว้นท์ แม็กกาซีน ประเทศสหรัฐอเมริกา) กล่าวว่า “ถึงตอนนี้ ต้องบอกว่าในปีพ.ศ. 2559 เป็นยุคที่เข้าสู่เรื่องของงานด้านดิจิตอลออนไลน์อย่างแท้จริง ด้วยปัจจัยความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างต่างๆ (Infrastructure) ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างเด่นชัด คือ เรื่องการคมนาคม ที่ภาครัฐมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าออกไปสู่เขตปริมณฑลมากขึ้น และจะทยอยเสร็จในปีนี้ ทำให้ประชาชนมีความสะดวกต่อการเดินทางไปยังที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น ประหยัดทั้งเวลาในการเดินทาง รวมถึงมีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นตามชานเมือง ตอบรับในเรื่องของการเดินทาง และเรื่องของ ที่อยู่อาศัยโดยรอบกรุงเทพ ทำให้งานใหญ่ๆ หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเมืองอย่างเดียว รวมถึงปัจจัยด้านการสื่อสาร หลังจากที่มีการประมูลสัญญาน 4G เสร็จสิ้นไป ส่งผลให้การพัฒนาในเรื่องของเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ขยายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น มีการออกโปรโมชั่น และแข่งขันกันของค่ายโทรศัพท์มือถือ มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา การปรับเปลี่ยนพื้นฐานโทรศัพท์จาก 2G ให้ก้าวเข้าสู่ระบบ 3G และ 4G ซึ่งจะทำให้เข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถรองรับกิจกรรมทางการตลาดได้ดียิ่งขึ้น และด้วยปัจจัยหลักทั้งสองปัจจัยนี้ ส่งผลดีกับธุรกิจอีเว้นท์ที่ต่อไปงานต่างๆ จะไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองอีกต่อไป แต่จะขยายสู่ชานเมือง และต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเชื่อว่าจะส่งผลให้สเกลของงานอีเว้นท์เปลี่ยนไป โดยงานจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1. งานที่มีสเกลระดับใหญ่ และ 2. งานในระดับเล็ก โดยงานที่มีสเกลระดับใหญ่ เพื่อตอบโจทย์ในการสร้างอิมแพคให้กับแบรนด์หรือสินค้า เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้างหรือ Mass ส่วนงานในระดับเล็ก จะมีการอาศัยสื่อดิจิตอล งานด้านออนไลน์ เป็นตัวช่วยขยายการรับรู้ ในขณะที่งานในระดับกลางจะถูกลดลงจำนวนลงเรื่อยๆ”
“และจากปกติงานด้านอีเว้นท์ที่มีความเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Niche) ก็จะมีการแบ่งแยกย่อยลงไปอีก คือ ‘Niche’ มากยิ่งขึ้น เพราะจะสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ตามความสนใจของผู้บริโภคได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากมีการแบ่งกลุ่มในสังคม หรือมี ‘Community’ ที่เกิดขึ้นใหม่แบบลงรายละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น การฟังเพลง คอนเสิร์ต ที่มีในรูปแบบความชอบที่แตกต่างกัน ความสนใจในแนวเพลงที่เฉพาะเจาะจง แตกต่างกันมากยิ่งขึ้น โดยการตลาดในปี 2559 จะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ‘ดิจิ-ไลฟ์-เอ็กซ์พีเรียนส์ (Digi-Live Experience) กล่าวคือ งานจะต้องมีส่วนเกี่ยวโยง มีความเข้าใจในเรื่องของดิจิตอล (Digital) มีความสดใหม่แบบทันท่วงที (Live) และสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างกลุ่มเป้าหมาย และแบรนด์หรือสินค้านั้นๆ ได้ ด้วยปัจจัยที่ชีวิตคนเราเร็วขึ้น ง่ายขึ้น ฉะนั้นเนื้องานที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องเป็นงานที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น และสื่อสารออกไปได้อย่างทันที ในช่วงเวลานั้นๆ เช่นเดียวกัน ต้องเกิดการรับรู้ในโลกออนไลน์ ที่สำคัญต้อง ‘เป็นเรื่องจริง’ (Real) สามารถสัมผัสผ่านการรับรู้ได้ถึงประสบการณ์ร่วมระหว่างบุคคลที่เข้าร่วมงานอีเว้นท์นั้นจริงๆ กับสิ่งที่ผู้จัดงานต้องการที่จะสื่อสารด้วย ในมุมของนักการตลาดต่างต้องปรับแผนการสื่อสารการตลาด ในด้านของงานแคมเปญ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับไลฟสไตล์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความนิยมเดินทางท่องเที่ยวไปไหนมาไหนที่อิสระ นิยมการแชร์ และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมในโลกของสังคมออนไลน์ เกิดเป็นชุมชนที่เป็นการรวมตัวของคนที่มีความสนใจร่วมกัน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ รวมถึงปรับกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้คำว่า ‘ดิจิตอล’ กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีบทบาท และอิทธิพล ตั้งแต่ตื่นนอน ออกไปทำงาน อยู่นอกบ้าน จนกระทั่งกลับมาบ้าน ที่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันต้องการความสด เร็ว และจริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม”
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน กล่าวต่อว่า “สำหรับอินเด็กซ์ฯ เอง เรามีบริษัทในเครือที่ดูแลในเรื่องของงานด้านออนไลน์ กลยุทธ์ในการทำออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ นั่นคือ แฮปปิโอ้ รวมถึงมีหน่วยงานวางแผนกลยุทธ์ในด้านการสื่อสาร ซึ่งก็ได้มีการวางแผนการทำงานด้วยกัน เชื่อมโยงธุรกิจ (Synergy) ในแง่มุมของการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนางานในรูปแบบใหม่ๆ เชื่อมโยงการสื่อสาร งานด้านอีเว้นท์ และออนไลน์ให้ผนวกเป็นเรื่องเดียวกัน ตามการเข้าสู่ยุคของ ‘ดิจิ-ไลฟ์-เอ็กซ์พีเรียนส์’ (Digi-Live Experience) อย่างแท้จริงในปีนี้ นอกจากนั้น ในปีนี้ อินเด็กซ์ฯ ยังเดินหน้ารุกตลาดงานที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ในรูปแบบใหม่ ผ่านประสบการณ์ของผู้บริโภค ทั้งงานด้าน ‘ไลฟสไตล์ เอ็กซ์พีเรียนส์’ (Lifestyle Experience) รวมถึงงานพิพิธภัณฑ์ และงานนิทรรศการ (Museum and Exhibition) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามที่อินเด็กซ์ฯ ได้ปูทาง และบุกธุรกิจด้านพิพิธภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ จะได้เห็นงานในรูปแบบใหม่ๆด้านพิพิธภัณฑ์ ในโปรเจคใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 3 งาน”
“จากที่อินเด็กซ์ฯ ได้มีการขยายธุรกิจออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับได้มีการจัดทัพปรับแผนกลยุทธ์เมื่อกลางปี 58 ที่ผ่านมา และรีเฟรช (Refresh) องค์กร โดยปรับโครงสร้างธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มหลัก โดยในปีนี้ 2559 เชื่อว่าจะมีรายได้กว่า 1.75 พันล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนประมาณ 7% โดยแบ่งเป็นรายได้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. ครีเอทีฟ โซลูชั่น (Creative Solutions) คิดเป็น 56.3% 2. มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส (Marketing Services) คิดเป็น 32.3% 3. ธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Wings) คิดเป็น 5.2% และ 4.ไลฟ์สไตล์ เอ็กซ์พีเรี่ยน (Lifestyle Experience) คิดเป็น 6.2% ในปี 59 นี้ อินเด็กซ์ฯ จะโฟกัสในส่วนของไลฟสไตล์ เอ็กพีเรี่ยนมากขึ้น รวมถึงสร้างความแข็งแรงในต่างประเทศ ด้วยความหลากหลายด้านธุรกิจที่รองรองรับความต้องการทุกของกลุ่มเป้าหมาย” นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน กล่าวทิ้งท้าย