Facebook เพิ่งปล่อยฟังก์ชั่นใหม่ที่เรียกว่า “Reactions” หรือปุ่มแสดงอารมณ์แบบต่างๆ ที่มากกว่าแค่ Like แต่มีความรู้สึกเพิ่มขึ้นมาอีกถึง 5 แบบให้เลือกทั้ง Love, HaHa, Sad, Wow และ Angry สำหรับนักการตลาดแล้วนี่หมายถึงการที่ผู้บริโภคจะแสดงออกทางอารมณ์ได้มากขึ้น แต่ปัญหาคือยังไม่มีอะไรมาประเมินคุณภาพของอารมณ์ที่จะถูกแสดงออกมาได้ นี่จึงเป็น 5 ข้อที่นักการตลาดควรคำนึงถึงและเตรียมรับมือ เพื่อนำข้อมูลไปปรับใช้เกี่ยวกับการแสดงออกผ่านปุ่มต่างๆ
1. Facebook Reactions จะทำให้ Engagement ลดลงหรือไม่?
เมื่อคนมีตัวเลือกมากเกินไป พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจในที่สุด ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่มีส่วนร่วมกับโพสต์ที่เห็นพ้องหรือตรงข้ามกับตัวตนของพวกเขา เปรียบเสมือนเขากำลังบอกโลกว่าเขาเป็นใครและเชื่อในอะไร พวกเขาปั้นแต่งความเป็นตัวตนที่อยากให้คนอื่นจดจำ
ดังนั้นเมื่อนำหลักการนี้มาใช้กับการสามารถแสดงออกได้ถึง 6 แบบ ยิ่งทำให้การตัดสินใจกดอะไรซักอย่างนั้นมีน้ำหนักมากขี้นไปอีก อย่างแรกเลยก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่อยากถูกมองว่าเป็นคนประเภทที่ชอบใช้อีโมจิหน้าเหลืองยิ้มแป้น ความเป็นอีโมจินี่เอที่อาจทำให้ผู้ใช้จำนวนมากรู้สึกไม่เป็นตัวของเขาเท่าไหร่ อย่างที่สอง ผู้ใช้บางคนอาจกลัวจะถูกมองเป็นเด็กๆ หากเขากด Love มากเกินไป หรือหากกด Sad จะมีผลให้ถูกมองว่าอ่อนแอหรือเปล่า และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกเขาไม่รู้ว่าจะแสดงความรู้สึกออกมาอย่างไร เช่น ถ้าวิดีโอตัวหนึ่งทำให้พวกเขารู้สึกทั้งเศร้าทั้งตลกในเวลาเดียวกัน เขาควรกดอะไร หรือวิธีที่ง่ายที่สุดที่พวกเขาจะเลือก ก็แค่เลื่อนผ่านมันไป
2. ผู้ใช้งานแสดงอารมณ์ให้กับอะไรกันแน่?
สมมติว่าผู้ใช้กดตัวโกรธ นักการตลาดต้องหาให้เจอว่าเขาโกรธอะไร โกรธแบรนด์ หรือโกรธคอนเทนท์ จึงทำให้แยกแยะได้ยากขึ้นในการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ เช่น หากแบรนด์ของคุณลงข่าวสิงโต Cecil ถูกฆ่าแล้วคนกดปุ่มโกรธ นั่นก็แปลว่าเขาน่าจะแสดงอารมณ์ไปที่ตัวคอนเทนท์ แต่หากคุณลงข้อมูลสินค้าและโปรโมชัน แล้วพวกเขากดปุ่มโกรธ นั่นก็หมายถึงสินค้าหรือโปรโมชันนั่นอาจไม่ใช้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งการที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกอารมณ์ได้มากมายขึ้นเพื่อที่จะแสดงต่อทั้งตัวคอนเทนท์และตัวแบรนด์ นั่นทำให้ในระยะยาวการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ของแฟนเพจเพื่อนำไปใช้ต่อเป็นไปในทางที่ยากขึ้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งลักษณะของความเป็นอีโมจิบางครั้งไม่สามารถสื่ออารมณ์ที่คนต้องการแสดงออกได้สุด นั่นทำให้ยากต่อการประมวลผลยิ่งขึ้นไปอีก
3. Like จะมีบทบาทยังไงต่อ?
สำหรับผู้ใช้บางคนที่ไม่ชอบอีโมจิ การกดไลค์ ยังคงเป็นรูปแบบการแสดงออกที่พวกเขาเลือก แต่สำหรับคนที่ตื่นเต้นกับของเล่นใหม่ การกดไลค์อาจจะถูกเพิกเฉยในช่วงแรก นักการตลาดจึงจำเป็นต้องหาให้เจอ ว่ากลุ่มคนที่คุณกำลังพูดคุยด้วยใช้ปุ่มเหล่านี้ในลักษณะไหน พวกเขาไลค์เพราะชอบ เพราะถูกใจ หรือไลค์เพราะไม่ชอบใช้อีโมจิตัวอื่นๆ เพราะไม่ใช้ทุกคนบนโลกที่จะตีความของปุ่มเหล่านี้ไปในทางเดียวกัน คุณจึงต้องหาลักษณะของกลุ่มเป้าหมายให้เจอ เพราะมันจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเมื่อคุณต้องวัดผล Engagement
4. Algorithm จะถูกปรับอย่างไร?
ในตอนแรกเฟซบุ๊กวางแผนไว้ว่า Reactions ใดๆ ก็ตามที่ผู้ใช้งานกดให้กับโพสต์ต่างๆ จะถูกจดจำว่าพวกเขาต้องการเห็นคอนเทนท์ประเภทนั้นๆ อีก แต่มันดูจะไม่สอดคล้องกับอารมณ์ในทางลบสักเท่าไหร่ แต่ก็จะเป็นแบบนี้ไปจนกว่าเฟซบุ๊กจะหาวิธีแยกความรู้สึกต่างๆ ออกจากกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมันไม่แน่นอนนักว่าการกดปุ่มโกรธนั้นมันแปลว่า “ฉันโกรธที่เรื่องราวในคอนเทนท์นี้เกิดขึ้น แต่ฉันก็ดีใจที่ได้อ่านมันนะ” หรือ “ฉันโกรธแบรนด์และไม่ต้องการอ่านอะไรจากเพจนี้อีก”
5. ระบบการประมวลและวิเคราะห์ผลจะได้รับผลกระทบอย่างไร?
ข้อมูล Facebook Insight ในปัจจุบัน ที่ใช้งานกันเป็นระบบที่ง่ายแต่ก็มีข้อจำกัด ถ้าจะต้องประมวลผลเกี่ยวกับ Reactions อีกนั้น Dashbord คงต้องมีการปรับเปลี่ยน นักการตลาดจะหวังให้มีกราฟสำหรับ Reactions เพื่อบอกว่าคอนเทนท์ของพวกเขาได้รับผลตอบรับอย่างไรบ้างย้อนหลัง 6 เดือนได้หรือไม่? หรือจะขอดูอัตราการกด Reactions ต่างๆ แยกจาก Engagement แบบอื่นๆ เพื่อดูว่าคอนเทนท์ตลกหรือเศร้าประสบความสำเร็จมากกว่ากันได้หรือไม่? ถ้าคุณหาทางที่จะใช้มันได้ล่ะก็ ข้อมูลพวกนี้จะมีประโยชน์มากทีเดียว จริงๆ แล้ว Facebook Topic Data มีเครื่องมือที่จะรับมือกับข้อมูลของ Reactions ได้ แต่ยังอยู่ในขั้นของการเริ่มต้นพัฒนาเท่านั้น และเปิดให้ใช้แค่พาร์ทเนอร์ไม่กี่เจ้า จึงไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจทั่วไปจะเข้าถึงได้ในตอนนี้ แต่ยังไงก็ตามในไม่ช้าคุณจะพบทางของตัวเองในการประมวลผลข้อมูลพวกนี้ด้วยตัวเอง ถ้าคุณไม่ยอมแพ้ซะก่อน