เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน อินโนเวชั่น กรุ๊ป (J. Walter Thompson’s Innovation Group) หน่วยธุรกิจที่ปรึกษาด้านการศึกษาและคาดการณ์แนวโน้มภายใต้ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน อินเทลลิเจนซ์ (J. Walter Thompson Intelligence) เปิดเผยผลการสำรวจ Future 100: Trends and Change to Watch in 2016 หรือ “100 เทรนด์แห่งอนาคต: แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตาในปี 2016” บทวิเคราะห์และข้อมูลเชิงลึกล่าสุดเกี่ยวกับเทรนด์ที่น่าสนใจและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังดำเนินไปในปี 2016
ในบทวิเคราะห์ฉบับนี้ซึ่งเป็นฉบับที่สองของการรายงาน “100 เทรนด์แห่งอนาคต” ประจำปี แนวโน้มต่างๆ ทั้ง 100 ประเด็นที่ถูกจัดแบ่งไว้เป็น 10 หมวดหมู่ เช่น วัฒนธรรม, เทคโนโลยีและนวัตกรรม, แบรนด์และการตลาด, และไลฟ์สไตล์ เป็นต้น โดยทีมงานเจ. วอลเตอร์ ธอมสัน อินโนเวชั่น กรุ๊ป ได้ทำการสำรวจหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ภาพการประชดประชันที่เผยถึงยุคหลังฮิปสเตอร์ (Post-hipster Visual Irony) เทคโนโลยีที่ช่วยแจ้งเตือนเรื่องความยั่งยืน (Sustainability Nagging) ไปจนถึงวัฒนธรรมการเสพย์กัญชา (Cannabis Culture) และบริการสุขภาพผ่านเทคโนโลยีสามมิติ (Holographic Healthcare) ฯลฯ
“ทุกวันนี้ โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก นักการตลาดและนักสื่อสารที่เก่งกาจไม่เพียงแต่ต้องรู้ทันคู่แข่ง แต่ยังต้องสามารถทำให้แบรนด์มีความหมายต่อใจของผู้บริโภคซึ่งไม่เคยหยุดมองหาและต้องการสิ่งใหม่ๆ มาเติมเต็มความต้องการและสร้างสีสันเรื่องราวให้ชีวิตอยู่เสมอ การที่เราสามารถจับกระแสหรือเทรนด์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เรารู้เท่าทันตลาดและคิดได้ไกลกว่าผู้บริโภค และทำให้ชิ้นงานของเรามีความสดใหม่ สามารถแก้ปัญหา ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของผู้บริโภคได้อย่างน่าสนใจ” คุณปรัชวัน เกตวัลห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการสื่อสารบริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าว “อย่างไรก็ตาม ”
ทั้งนี้จาก 100 เทรนด์ทั่วโลกที่โดดเด่นถูกคัดเลือกให้เหลือ 10 เทรนด์ความสอดคล้องกับเทรนด์ในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสให้กับแบรนด์ นักการตลาด และนักโฆษณา นำเอาไปเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียพัฒนาสินค้าหรือวิธีการสื่อสาร หรือแม้กระทั่งโอกาสธุรกิจใหม่ๆ
วัฒนธรรม (Culture)
Gen-Z’s Responsible Icons : ไอคอนของคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบฉบับเจเนอเรชั่นซี
ผู้คนในยุคมิลเลนเนียลชื่นชมไอคอนที่โด่งดังจากเรียลลิตี้ทีวี แต่คนเจนซี (Gen-Z) หรือเจเนอเรชั่นซีกลับต้องการไอคอนที่แตกต่าง เพราะพวกเขามีความตระหนักรู้ หัวก้าวหน้า และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสูง และเติบโตมาในยุคที่มีการยอมรับความหลากหลายของผู้คนมากขึ้น เช่น Malala Yousefsai เด็กผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการต่อสู้เรื่องการศึกษาและสิทธิสตรี หรือ Jazz Jennings นักต่อสู้วัย 14 ปี เพื่อสิทธิคนแปลงเพศ
ส่วนเทรนด์นี้ในประเทศไทย เจเนอเรชั่นซีก็เป็นกลุ่มคนที่สามารถมองเห็นโอกาสรอบๆตัว และนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปอีกทั้งสร้างชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่างเช่น “จัสมิน” พิมรา สีดอกบวบ ไอดอลสาวมุสลิม เศรษฐีรุ่นเยาว์เจ้าของเครื่องสำอางฮาลาล “พิมมารา” (PIMMARA) แบรนด์ยอดนิยมของสาวมุสลิมในภาคใต้เจ้าแรกของประเทศไทย หรือ “ม๊าเดี่ยว” อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ นางแบบเพศที่สองและสไตลิสต์แห่งโลกโซเชียลที่แทรกการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานออกมาในงานสร้างสรรค์ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่บ้านเกิดของตนไปถึงต่างประเทศ
เทรนด์ด้านวัฒนธรรม (Cultural trend):
ภาพการประชดประชันที่เผยถึงยุคหลังฮิปสเตอร์ (Post-Hipster Visual Irony)
ภาพศิลป์เชิงดิบสไตล์ฮิปเตอร์ที่เป็นที่นิยมในยุคมิลเลนเนียลได้ปลุกเร้าให้เกิดอีกกระแสศิลปะล้อเลียนในโลก โซเชียล ซึ่งแสดงออกมาในส่วนของเมนูอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ อินสตาแกรม @thisismold และ @bananagrafitti ที่อาหารถูกนำมาแกะสลักเป็นงานศิลป์แบบ Surreal หรือระบายภาพการ์ตูนลงไป
ในขณะที่เมืองไทย ก็มีการนำกระแสฮิปสเตอร์มาประชดประชันเช่นกัน อาทิ “ยายบัว Hipster” คุณแม่วัย 70 ปีที่มาเป็นนางแบบให้ลูกสาวได้กดชัตเตอร์ภาพถ่ายเก๋ ๆ ที่แฝงไว้ด้วยความน่ารัก ดูแล้วต้องยิ้มตามในเฟสบุ้ค Fiadar Photography หรือผลงานชุด “ลุงชัยเป็นคนชิคๆ” ที่มีการแชร์กันมากมายในโลกโซเชียล ซึ่งเอาคุณลุงชาวนามาเซ็ทถ่ายทำในอิริยาบถตามไลฟสไตล์ของฮิปสเตอร์ในแบบชวนขำ
เทรนด์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology + Innovation trend)
มหาวิทยาลัยออนไลน์ (Online University)
การเรียนรู้ออนไลน์กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากค่าเล่าเรียนของสถาบันการศึกษาเริ่มพุ่งสูงขึ้น และสถานศึกษาแบบดั้งเดิมเริ่มถูกตั้งคำถาม ประกอบกับความพร้อมของสาธารณูปโภคด้านไอทีที่มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างการจัดตั้ง Silicon Valley ที่เป็นแหล่งรวมธุรกิจ Start-up และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวก็ท้าทายการศึกษาแบบเดิมที่เหมือนเก็บสงวนไว้ให้กับคนเฉพาะกลุ่มเนื่องจากมีคนจำนวนน้อยจากจำนวนมากได้เข้าศึกษา ตัวอย่างเช่น Minerva Schools เป็นโรงเรียนที่ผสมผสานการเรียนรู้แบบออนไลน์และประสบการณ์จากโลกจริงเข้าไว้ด้วยกัน โดยนอกเหนือจากบทเรียนที่ได้จากออนไลน์ นักเรียนยังต้องออกไปหาความรู้ในเจ็ดประเทศหลักในสี่ทวีปก่อนที่จะได้รับปริญญา ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนเอาทุนทรัพย์ที่ต้องมานั่งเรียนไปเรียนรู้โลกจริงๆ
สำหรับในประเทศไทย เริ่มมีการถกเถียงที่ถูกขยายวงกว้างถึงแนวคิดที่เรียกว่า “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อส่งเสริมการจัดระบบการเรียนรู้ให้นักเรียนแสวงหาการเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งต่างๆ ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน อาทิ อินเตอร์เน็ท แทบเล็ต และสมาร์ทโฟน ฯลฯ ที่ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้ โดยที่ผ่านมาหลายๆ สถานศึกษาในประเทศไทยก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ตัวอย่างต่างๆ ได้แก่
– หน่วยงานการศึกษาต่างๆ ของไทยที่เริ่มสร้างแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ขององค์กรเอง อาทิ เพื่อการสอบบรรจุราชการ การสอบบรรจุครู หรือเว็บ ถามครู.com ที่เป็นความรู้จากครูที่ให้แก่ผู้ปกครองเพื่อแนะนำการดูแลบุตรหลานเพื่อการพัฒนาเด็ก
– เว็บ LangFight.Com ที่มีการพัฒนาต่อยอดเป็นแอพลิเคชั่น โดยเป็น Free Online Learning Community ที่ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ภาษาและอัดเสียงตัวเองเพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นช่วยให้คะแนน
– มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตชาวนาชั้นครูของประเทศ เพื่อเป็นผู้ฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้การทำนาตามมาตรฐานกรมการข้าวและสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและคุณค่าโภชนาการทางสารอาหาร ปลอดสารเคมี และมีรสชาติ
เทรนด์ด้านการเดินทางและบริการท่องเที่ยว (Travel + Hospitality trend)
การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sportspitality)
แบรนด์สุขภาพชั้นนำเริ่มขยายโครงสร้างทางธุรกิจตอบรับความนิยมรักษาสุขภาพและมุ่งไปที่เรื่องของ การท่องเที่ยว ซึ่งทำให้โรงแรมไม่สามารถมองฟิตเนสเป็นแค่บริการเสริมอีกต่อไป แต่ต้องผสานเข้าไว้กับธุรกิจเพื่อมอบบริการหรูเพื่อสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ยิมระดับโลกอย่าง Equinox ได้ขยายธุรกิจสู่การท่องเที่ยว โดยมีแผนจะเปิดโรงแรมสำหรับนักเดินทางที่ยังอยากคงการฟิตหุ่นแม้เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ถึง 75 แห่งทั่วโลก หรือแบรนด์จักรยานอย่าง SoulCycle ก็จับมือกับเครือสตาร์วูดเปิดอาคารเพื่อให้บริการในไมอามีเช่นกัน
สำหรับในประเทศไทยก็มีโรงแรมอย่าง Absolute Sanctuary ที่เกาะสมุย ที่เน้นจุดขายจากจุดเริ่มต้นอย่างเรื่องของโยคะ โดยผสมผสานโรงแรมที่ตกแต่งสไตล์โมรอคโคเข้ากับโปรแกรมการบริการที่เน้นเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพ และโรงแรมระดับหรูอื่นๆ อย่าง ชีวาศรม, พอยต์ ยามู บาย โคโม, โซเนว่า คีรี, คามาลายา ก็มีบริการฟิตเนส โปรแกรมนำเสนอด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บริการล่องเรือท่องเที่ยวของ Silver Cruise ผสมผสานการออกไปท่องโลก กับโปรแกรม Wellness อย่างโยคะ ยืดเส้น พิลาทีส ออกกำลังกายในน้ำ ฟิตเนสแบบ Technogym เมนูอาหารสุขภาพ และการให้คำปรึกษาสุขภาพบนเรือ ตลอดจนสปา
เทรนด์ด้านการตลาดและแบรนด์ (Marketing + Brand trend)
การคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าอาวุโส (Global Ageless Society)
เทรนด์การคำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุวัยเกษียณ หรือกลุ่ม Baby Boomer เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในแถบตะวันออกกลางหรือทวีปแอฟริกาเหนือ
ลูกค้ากลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปต้องการการสินค้าเฉพาะกลุ่มที่ละเอียดอ่อนเช่นเดียวกับลูกค้าวัยอื่นๆ และต้องการสินค้าที่หลากหลายเช่นกัน
สำหรับในประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความท้าทายและโอกาสทางการตลาดที่จับกลุ่มลูกค้าอาวุโสผู้มีรายได้สูง มีพลังการจับจ่ายสูง และมีความหลากหลาย
ตัวอย่างสินค้าและบริการที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคหลังเกษียณในประเทศไทย
– LINE แชตแอพพลิเคชั่นชื่อดังที่พยายามสื่อสารการตลาดกับกลุ่ม Baby Boomer ด้วยการเล่าเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและได้ใกล้ชิดกับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen X ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสผ่านการแชตและสติ๊กเกอร์ของ LINE
– บริษัทประกันชีวิตเกือบทุกเจ้าในปัจจุบันที่เน้นให้การดูแลลูกค้ากลุ่มอาวุโสมากขึ้น
– ร้านสะดวกซื้อชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Lawson 108 ที่ให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ชีวิตวุ่นวายจนไม่มีเวลาทำอาหาร
เทรนด์อาหารและเครื่องดื่ม (Food + Drink trend)
เทรนด์จังค์ฟู้ดเพื่อสุขภาพ (Natural Junk)
แบรนด์ต่างๆ เริ่มให้ความสนใจการนำเสนออาหาร Junk Food ที่ใช้ส่วนผสมธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักมากขึ้น อาทิ Hershey บริษัทผลิตช็อกโกแลตชื่อดังได้ประกาศเมื่อปลายปี 2015 ว่าช็อกโกแลตนมแบบแท่งและช็อกโกแลต Kisses จะผลิตโดยปราศจากการดัดแปลงจากพันธุกรรม (GMO-Free) ซึ่งเป็นที่จับตามองของบริษัทผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ควรคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าในปัจจุบันที่ต้องการส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกันมากกว่าแต่ก่อน และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพนี้ แบรนด์ต่างๆ เริ่มมองหาวัตถุดิบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงเวลาที่ทานอาหารที่ดูจะไม่ค่อยดีกับร่างกายมากนัก
ตัวอย่างร้านและสินค้าในเมืองไทยที่เริ่มนำ Natural Junk มาปรับใช้ (กินขนมแต่ไม่อ้วน)
– Theera คาเฟ่เพื่อสุขภาพที่สรรสร้างเบเกอรี่ในแบบ Gluten & Allergen Free คือไม่มีส่วนผสมของแป้งสาลีและวัตถุดิบที่ทำให้เกิดอาการแพ้
– Yofu Chips แบรนด์ขนมคบเคี้ยวของคนไทยที่ทำขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ใส่ในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยผลิตอาหารทานเล่นจากเต้าหู้กรอบที่ไม่ผ่านการทอด
เทรนด์ด้านความงาม (Beauty trend)
การยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล (Freckles)
Tumblr และโซเชียลมีเดียต่างสนับสนุนให้ผู้บริโภครุ่นใหม่ชื่นชมในปัจเจกนิยมของตนเอง อาทิ ความงามของคนผมแดง (redheads) หรือมีกระ ที่เมื่อก่อนดูเป็นเรื่องน่าอาย แต่ปัจจุบันได้รับแรงผลักดันในทางบวกว่าเป็น ความสวยงามตามธรรมชาติ ทั้งในแวดวงการถ่ายภาพและการเดินแบบ
สำหรับในเมืองไทยนั้น จะเป็นเรื่องของการยอมรับในตัวตนที่แตกต่าง ไม่ต้องสวยขาวเกาหลี แต่ถ่ายถอดความเป็นตัวของตัวเองออกมาจนเป็นที่ยอมรับในโลกโซเชียลในเมืองไทย ตัวอย่างได้แก่
-ม๊าเดี่ยว – อภิเษฐ์ เอติรัตนะ : Net Idol จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สร้างสรรค์แฟชั่นจากของพื้นบ้าน ที่หาได้ในท้องถิ่น แต่ถ่ายทอดออกมาให้เป็นงานแฟชั่นที่ลงตัวด้วยองค์ประกอบ และการจัดวางอันเป็นเอกลักษณ์
-นินิว เพชรด่านแก้ว : สาวประเภทสองอารมณ์ดีจากราชบุรีที่โด่งดังจากการเล่าเรื่องราวสุดตลกผ่านคลิปที่เธออัดขึ้นเองลงโซเชียลมีเดีย
-มะเฟือง : เด็กมัธยมปลายผู้รังสรรค์ทำคลิปสั้นเรียกเสียงฮาจนมีคนดูคลิปเธอผ่าน Vine กว่า 6 ล้านครั้ง
อารมณ์ตอนอยู่กับเพื่อนแล้วมีเรื่องให้เสือก พวกกูเงียบแต่รู้เพียบ #กูพร้อม
Posted by มะเฟืองเอง on Monday, February 8, 2016
-เคธี่ – ณัฐิยา ยศรุ่งเรือง : โด่งดังสุดๆ จากการพากย์เสียงเลียนแบบที่เรียกเสียงฮาสนั่นโลกโซเชี่ยล
เทรนด์ร้านค้า (Retail trend)
แหล่งรวมแบรนด์ Startup (Startup Stores)
หลากหลายแบรนด์ยอมแบ่งพื้นที่ในร้านของตัวเองเพื่อให้แบรนด์ Startup ได้ลองวางขายสินค้า เพื่อเป็น การเชื่อมโยงถึงนวัตกรรม อีกทั้งดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้าร้านอีกด้วย
เทรนด์นี้เป็นที่น่าสนใจเนื่องจากคนจำนวนมากขึ้นมีธุรกิจของตนเอง อาทิ ในสหราชอาณาจักร ผู้บริโภคในทุกกลุ่มอายุกำลังผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการ โดยในปี 2016 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจใหม่กว่า 600,000 ราย โดยเพิ่มอย่างก้าวกระโดดจากปี 2011 ที่มีเพียง 440,600 ราย คนรุ่นใหม่อายุน้อยกว่า 30 จำนวนมากถึง 1 ใน 4 ทำธุรกิจของตนเอง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลในสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขการทำธุรกิจของตนเองของคนอายุมากกว่า 50 เพิ่มสูงขึ้น
ในเมืองไทยเองก็เช่นกัน ผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มอายุต่างหาช่องทางในการทำธุรกิจของตัวเอง และหนึ่งในเทรนด์ของธุรกิจในปัจจุบันคือศูนย์รวมร้าน Startup อย่าง The Selected ที่สยามเซ็นเตอร์ หรือร้านรวมของมือสองที่คัดเลือกมาแล้วอย่างดี อาทิร้าน (Un) Fashion นอกจากนี้ เมื่อธุรกิจได้ขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นอาณาจักรจนต้องมีการให้บริการส่งของที่ต้องคำนึงถึงการสร้างความไว้วางใจจากลูกค้าให้เกิดขึ้น ธุรกิจ SME มากมายต่างซื้อใจลูกค้าด้วยความมั่นใจและความสะดวกสบายในการจัดส่งสินค้าถึงมืออย่างรวดเร็วด้วยการบริการของ แมสเซนเจอร์ส่งของรูปแบบใหม่ๆ อย่าง Grab Bike หรือ ATT Bangkok ที่ให้บริการฝาก – รับของตามเส้นให้บริการของ BTS
เทรนด์ด้านสุขภาพ (Health trend):
การทำงานที่เน้นการดูแลสุขภาพของพนักงาน (Work wellness)
บริษัทต่างๆ พยายามเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงานด้วยการจัดหาเครื่องออกกำลังกายและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ มาไว้ในบริษัท หลายๆ บริษัทได้นำเสนอเรื่องโปรแกรมดูแลสุขภาพสำหรับพนักงานเพื่อดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงาน โดยโปรแกรมนี้ได้ช่วยบำรุงขวัญกำลังใจของพนักงานและช่วยเพิ่มกำไรให้กับบริษัทด้วย จากผลวิจัย The World Economic Forum พบว่า การลงทุนทางด้านการดูแลสุขภาพของพนักงานเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ
แบรนด์เครื่องออกกำลังกายชื่อดังในประเทศอิตาลีได้สร้างสรรค์ต้นแบบ (blueprint) ของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพภายในองค์กรไว้ที่ Wellness Campus ซึ่งประกอบด้วยยิมที่มี 2 ชั้น, ลู่วิ่ง, คลาสเรียนฟรี, มื้อ กลางวันที่ขยายเวลาให้นานขึ้น, พื้นที่สำหรับประชุมที่ปราศจากเก้าอี้ และอาหารท้องถิ่น นอกจากการสร้างอุปกรณ์ออกกำลังแล้ว บริษัทยังมีบริการให้คำปรึกษา
สำหรับในประเทศไทย ตัวอย่างบริษัทที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของพนักงาน และจัดให้มีฟิตเนสภายในองค์กร มีดังนี้:
– GMM Grammy มีฟิตเนสสำหรับศิลปินและพนักงาน
– CP มี “CPF Fitness Center”
– Google Thailand
– AIS มีมุม “Chill Out Zone”
– Thai PBS
– Ichitan
เทรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ (Lifestyle trend):
การเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย (Stimulated adulthood)
เด็กๆ ในยุคนี้มีโอกาสที่จะถูกกระตุ้นให้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก่อนวัย ปัจจุบันมีกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ชีวิตและการทำงานแบบผู้ใหญ่ อาทิ การเข้าแคมป์การเรียนรู้เพื่อเก็บสะสมเป็นโปรไฟล์ในอนาคต และการเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการเพื่อความสนุกสนาน โดยหากเด็กในยุคเจเนอเรชั่นซีแสดงออกถึงความอยากเป็นผู้ใหญ่เร็วเกินไป อาจมีแนวโน้มว่าเด็กในยุคถัดไปจะยิ่งโตเร็วกว่าเด็กในยุคนี้
ในสหราชอาณาจักร เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอผ่านสถานที่ต่างๆ อาทิ Pinewood Studios และ Dreamcatcher Media หรือ สวนสนุก KidZania ได้จำลองสถานการณ์การทำงานของผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ได้ลองสัมผัส โดยจะได้รับเครดิตตอบแทนซึ่งสามารถนำไปซื้อของต่างๆ ในสวนสนุก อีกทั้ง สวนสนุก KidZania ในเมืองดูไบ ยังได้ท้าทายความสามารถของเด็กๆ ผ่านการประกวดแบบเรียลลิตี้โชว์ชื่อ Zurvivor โดยถ่ายทอดเป็นหลากหลายตอน เกี่ยวกับความท้าทายในการแก้ไขปัญหาด้านร่างกายและจิตใจ
ในขณะที่เมืองไทย มีการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่เช่นกัน อาทิ
สวนสนุก KidZania ในกรุงเทพฯ ได้จำลองศูนย์บริการดูแลรถยนต์ เพื่อให้เด็กๆ ได้ทดลองตรวจสภาพน้ำมันรถและล้อรถ รวมถึงเรียนรู้ด้านการให้บริการด้านเครื่องยนต์
โครงการ Root Garden ได้ปรับโฉมที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสร้างสรรค์พื้นที่ให้เหมาะต่อการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเล่นดนตรี, การแสดงต่างๆ รวมถึงการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ปกครองสามารถพาลูกหลานมาเที่ยวเล่นเพื่อร่วมทำกิจกรรมและปลูกผักออร์แกนิก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดคาราวานทัวร์สำหรับเด็ก โดยให้เด็กๆ ได้ทดลองเป็นนักล่าไดโนเสาร์ หรือ นักบรรพชีวินวิทยาน้อย ซึ่งจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงกับทีมวิทยากรมืออาชีพในบรรยากาศแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งสำคัญของประเทศไทย
เทรนด์ด้านความหรูหรา (Luxury trend):
ประสบการณ์การทานอาหารแบบตื่นเต้นท้าทาย (Extreme dining)
ประสบการณ์การทานอาหารแบบใหม่ล่าสุดที่ตั้งใจเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะ คือ การทานอาหารในรูปแบบที่แปลกใหม่ตื่นเต้นท้าทาย โดยเน้นการเข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกล หายาก และการจัดรูปแบบร้านที่เหมือนกับโรงละครเพื่อให้สัมผัสได้ถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ
ซีรียส์สารคดีที่เป็นที่นิยมของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ชื่อ Chef’s Table ได้แนะนำผู้ชมเกี่ยวกับครัวขนาดใหญ่ของ ฟรานซิส มอลแมน (Francis Mallmann) ซึ่งเขาเป็นผู้ที่ทำอาหารจำนวนมากที่สุดของปีบนเกาะแห่งหนึ่งในทะเลสาบที่พาตาโกเนีย (Patagonia) โดยรูปแบบการทำอาหารของเขาจะใช้ส่วนผสมดั้งเดิมในท้องถิ่นด้วยวิธีการย่างให้ไหม้เพื่อให้เป็นเครื่องเคียงที่มีความเข้ากันกับทิวทัศน์รอบๆ ที่ดูขรุขระและท้าทาย
ตัวอย่างอื่นๆ ก็ได้แก่ร้านอาหารกลางแจ้งแห่งแรกบนลานน้ำแข็งในประเทศแคนาดา ร้านอาหารบนยอดเขาที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หรือรีสอร์ทในมัลดีฟส์ที่นำเสนอร้านอาหารในบ้านต้นไม้ที่มีลักษณะแบบ “รังนก” โดยแขกผู้มาเยือนจะได้สัมผัสป่า และสนุกกับการปีนป่ายบันไดเวียน (spiral staircases) ที่สูงถึง 20 ฟุตเพื่อเข้าไปทานอาหารบนต้นไทรแบบเปิดโล่ง
สำหรับในประเทศไทยก็มีบางโรงแรมและร้านอาหารที่มอบประสบการณ์การทานอาหารที่ตื่นเต้นและท้าทายเพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน อาทิ
– Soneva Kiri Resort & Residences บนเกาะกูด นำเสนอประสบการณ์การทานอาหารในบ้านรังนกบนต้นไม้สูง และประสบการณ์การทานอาหารท่ามกลางน้ำตกในป่าลึกให้แก่แขกที่มา
– โรงแรม Six Senses Samui มีร้านอาหาร “Dining on the rocks” ที่มอบประสบการณ์การทานอาหารบนอาคารดีไซน์เปิดโล่งที่สร้างอยู่บนโขดหินริมผาเห็นวิวทะเล
– โรงแรม Keemala Hotel จ.ภูเก็ต นำเสนอประสบการณ์การทานอาหารท่ามกลางป่าฝน
ประสบการณ์การทานอาหารที่ออกแบบตามความต้องการพิเศษของลูกค้า (Hyper-personalized dining experiences)
เทรนด์นำเสนอประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบมีระดับได้มีการพัฒนาให้พิถีพิถันมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของอาหาร บรรดาพ่อครัวจึงต้องปรับกลวิธีในการเอาชนะใจลูกค้าโดยการเติมแต่งรายละเอียดของแต่ละจานให้มีความเฉพาะตัวเพื่อให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย เพื่อสร้างประสบการณ์การทานอาหารที่น่าประทับใจยิ่งขึ้น
ร้านอาหารที่อยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเกาะโฮโนลูลู (Honolulu) มีพ่อครัวที่คอยโทรหาแขกหนึ่งสัปดาห์ล่วงหน้าเพื่อพูดคุยและจัดเตรียมมื้ออาหารตามความต้องการของแขกแต่ละคน หรือร้านอาหาร Fat Duck ในประเทศอังกฤษที่ให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการส่วนตัวของลูกค้า โดยทางร้านจะขอให้ลูกค้ากรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวขณะสำรองที่นั่ง เพื่อให้ทางร้านได้เก็บบันทึกประวัติและรสนิยมการทานอาหาร เพื่อสามารถสร้างสรรค์เมนูตามที่ลูกค้าต้องการและมอบประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใครให้แก่ลูกค้า
สำหรับในประเทศไทย ผู้ประกอบการหลายแห่งได้หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์การทานอาหารที่ออกแบบตามความต้องการพิเศษของลูกค้า ได้แก่
-การบินไทย มอบประสบการณ์พิเศษให้กับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง โดยการโทรสอบถามผู้โดยสารก่อนวันออกเดินทางว่าต้องการรับอาหารประเภทใดบนเครื่อง
-วิลล่าอแมนซี่ (Villa Amanzi) จังหวัดภูเก็ต ให้บริการแขกที่มาพักด้วยการจัดเชฟส่วนตัวสำหรับปรุงอาหารตามความพึงพอใจของแขกหรือตามที่แขกได้ขอมา
-ร้านซูชิ อิจิ (Sushi Ichi) นำเสนอซูชิจานพิเศษที่ออกแบบตามความต้องการของผู้มารับประทาน
-ร้านเทธเอเนส์ (Tête et Nez) ตามชื่อร้านซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสมีความหมายว่า “หัวและจมูก” และทางร้านใช้ “กลิ่น” เพื่อช่วยสร้างมิติของการทานอาหาร โดยผู้เชี่ยวชาญจะสกัดกลิ่นต่างๆ จากธรรมชาติและผสมขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้ได้กลิ่นใหม่ที่มีความเฉพาะและเข้ากับอาหารแต่ละจาน
เทรนด์ทุกเรื่องล้วนมีความน่าสนใจ แต่ไฮไลท์สำหรับประเทศไทยที่น่าจับตามอง คือ เรื่อง Sportspitality เป็นประเด็นเรื่องสุขภาพที่ใครๆก็ต้องการในระยะยาว , Global Ageless Society จำนวนของผู้สูงวัยที่มากขึ้นทั่วโลกและมีกำลังซื้อสูง ซึ่งในตลาดยังมีแบรนด์ที่เข้าไปจับกลุ่มนี้ยังมีไม่มากนัก
“การนำเทรนด์ไปใช้ต้องรู้จักการนำมาประยุกต์ เนื่องจากกระแสบางอย่างอาจจะดูธรรมดาและเหมือนไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่หากเราเปรียบมันเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร แม้กระทั่งเครื่องปรุงปริมาณเล็กน้อยก็มีส่วนสร้างรสชาติและเรื่องราวใหม่ๆ ได้ และยิ่งถ้าเรานำเทรนด์ดังกล่าวไปปรุงร่วมกับเทรนด์อื่นๆ เราอาจจะได้รสชาติชิ้นงานการสื่อสาร หรือ Product Solutions ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจและช่วยแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แล้วในตลาด ได้รสชาติตรงปากตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น และนั่นเอง คือเสน่ห์ของ Future 100 ที่ดึงเครื่องปรุงต่างๆ ที่อยู่ในกระแสมานำเสนอให้เราได้เลือกเล่น เลือกดู และเลือกใช้ไปตลอดปี 2016 นี้”
[xyz-ihs snippet=”LINE”]