ญี่ปุ่น เป็นประเทศในฝันของคนไทยหลายคนอยากไปเยือน…ทำให้หลังจากทางการญี่ปุ่นประกาศยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวให้กับคนไทย ถึงได้ปรากฏภาพนักท่องเที่ยวไทยหลั่งไหลไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี
ตัวเลขล่าสุดปีที่แล้ว อยู่ที่ 769,000 คน เพิ่มขึ้น 21.2% จากปี 2557 โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวของไทย คนไทยจะเดินทางไปญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษ อย่างช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีจำนวนมากถึง 130,000 คน
โดยส่วนใหญ่ คนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น 1 – 3 ครั้งแรก จะไปตามเส้นทางหลักยอดนิยม เริ่มจากเที่ยวในโตเกียว จากนั้นในครั้งต่อไปถึงต่อด้วย โอซาก้า เกียวโต หรือขึ้นเหนือไปยัง ฮอกไกโด
แต่หลังจากไปครบทั้ง 3 – 4 จุดหมายปลายทางนี้แล้ว คนที่มีประสบการณ์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง จะเริ่มรู้สึกอยากแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่แตกต่าง ไม่ใช่เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ไป
นักท่องเที่ยวรักอิสระ สร้างการท่องเที่ยวมิติใหม่ !
นักเที่ยวต่างชาติที่ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เป็นกลุ่มที่เรียกว่า “Foreign Independent Traveler” หรือ “FIT” เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลุ่มเล็ก ชอบวางแผนการเดินทางด้วยตัวเอง ต้องการความอิสระในการไปไหนมาไหน มีเวลายืดหยุ่น เพื่อใช้เวลาสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี และธรรมชาติของพื้นที่นั้นๆ
ประกอบกับความที่ประเทศญี่ปุ่นโปรโมทการท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต สเตปการทำแบรนด์ดิ้งการท่องเที่ยวญี่ปุ่นเวลานี้ จึงเริ่มขยายจากระดับประเทศ ที่ทำภายใต้สโลแกน “Japan Endless Discovery” ไปสู่การแบรนด์ดิ้งระดับเมือง หรือจังหวัดที่ยังไม่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวมากนัก เพื่อโปรโมทให้เป็น New Destination และเจาะกลุ่ม FIT
อย่างล่าสุด “การท่องเที่ยวจังหวัดอาคิตะ” (AKITA) เริ่มทำแบรนด์ดิ้ง เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไทย ลองมาสัมผัสการท่องเที่ยวสไตล์ “Japanese Unseen”
ถอดรหัส ปั้น “อาคิตะ” แจ้งเกิด
เรามาดูสูตรการปั้นจุดหมายปลายทางใหม่ของการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นทำกันอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ?!? เริ่มจาก
1. Product ต้องเด่นและดีจริง หมายความว่า เมือง หรือจังหวัดที่จะโปรโมทเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ต้องมีเสน่ห์ มีความโดดเด่นในตัวเอง จนสามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้เข้ามา
จังหวัดอาคิตะ มีองค์ประกอบทั้งทางด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงรักษาไว้มาถึงวันนี้ ดังนั้นในการโปรโมท จึงได้วาง Positioning เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอันสงบ บริสุทธิ์ และวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับการเดินทางมาพักผ่อนแบบ “Slow Life” ได้ตลอดทั้งปี และมีฟาร์มสเตย์ ที่นักท่องเที่ยวจะได้ใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนท้องถิ่น ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยให้มาเยือนที่แห่งนี้
2. Brand Ambassador คนไทยเชื่อมความสัมพันธ์ การทำให้อาคิตะเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทย ได้เลือก “อู๋ – ธนากร โปษยานนท์” มาเป็นทูตการท่องเที่ยวประจำจังหวัดอาคิตะคนแรกของไทย สอดคล้องกับคาแรกเตอร์ของ อู๋ – ธนากร ที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยจะเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดอาคิตะเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งแนะนำเชิญชวนให้เดินทางมาอาคิตะ
3. จัด Festival โหมโรงกระแส การทำให้คนไทยเห็นภาพความเป็นจังหวัดอาคิตะชัดเจนยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดงานเทศกาล “AKITA FESTIVAL” ระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายนนี้ ที่เดอะพาซิโอ พาร์ค กาญจนาภิเษก เพื่อนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม อาหารการกิน รวมถึงการจัดสัมมนาทัวร์ เอเยนซี่ เพื่อแนะนำการทำแพคเกจท่องเที่ยวอาคิตะ
4. ผสานสื่อ Online เจาะตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย แผนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอาคิตะ สเตปแรก เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง จึงได้ทำวีดีโอชื่อ “ฉันรักเธอ… อาคิตะ” นำแสดงโดย อู๋ – ธนากร ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักและความผูกพันของหนุ่มสาว ท่ามกลางการถ่ายทำตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดอาคิตะ ที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัด เตรียมนำเสนอผ่านช่องทาง Facebook และ Youtube ในช่วงปลายนี้นี้ ควบคู่ไปกับดึง Blogger และรายการท่องเที่ยวต่างๆ เป็นสื่อกลางร่วมบอกเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดอาคิตะ ด้วยแนวทางการสื่อสารวิธีการนี้ การท่องเที่ยวจังหวัดมีความมั่นใจว่าจะทำให้เกิดการบอกต่อปากต่อปาก