HomePR Newsรัฐบาลขานรับ 5 แนวทางบริหารน้ำ ตั้งหน่วยงานหลักแบบรวมศูนย์บริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว ป้องกันวิกฤติน้ำอย่างยั่งยืน [PR]

รัฐบาลขานรับ 5 แนวทางบริหารน้ำ ตั้งหน่วยงานหลักแบบรวมศูนย์บริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว ป้องกันวิกฤติน้ำอย่างยั่งยืน [PR]

แชร์ :

scgการจัดงาน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016 โดยความร่วมมือของ เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นสัญญาณครั้งใหญ่ที่บ่งบอกว่า การบริหารจัดการน้ำภายในประเทศเป็นที่ต้องลงมือทำวันนี้ เพื่อรักษาสมดุลของการใช้น้ำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่ดีพอ ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างปริมาณน้ำที่มีกับความต้องการใช้ และในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ความต้องการน้ำของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้าน ลบ.ม. เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังคือการทบทวนวิธีการใช้น้ำ และร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างถูกวิธี โดยดร.สุเมธ ได้สรุปแนวทางบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยเป็น 5 แนวทางที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดของชาวชุมชนต้นน้ำ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการหาทางออกร่วมกัน ได้แก่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. การจัดตั้งหน่วยงานหลัก มีบทบาทคล้ายเป็นสภาพัฒน์เรื่องน้ำ โดยเป็นสำนักงานเลขาที่บริหารแบบรวมศูนย์ ทำหน้าที่วางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว

2. ให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวเรื่องการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างกว่า 600 โครงการที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ พร้อมขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียง

3. ทบทวนเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ในเขตป่าไม้ ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนาป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

4. การฟื้นฟูประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและคูคลอง รวมทั้งแหล่งน้ำบาดาลให้เกิดระบบใช้และระบบเติมพร้อมกัน ไม่ปล่อยทิ้งให้เสื่อมโทรม เน้นเรื่องการบูรณะของเก่าแทนการสร้างใหม่

5. จัดให้มีระบบและเครื่องมือบริหารการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การประหยัดน้ำและการใช้น้ำซ้ำ ตัวอย่างน้ำในนาข้าวที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้แทนการปล่อยทิ้ง เป็นต้น

“อย่างน้อยที่สุดการสัมมนาครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น เราไม่อยากให้สัมมนาและสิ้นสุดไป แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากประชารัฐสามารถเกิดขึ้นได้ ทางเอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ยินดีที่จะเป็นศูนย์กลางในการระดมรวบรวมพละกำลังเอกชนเข้าไปประสานงานกับรัฐเพื่อดำเนินการ 5 ข้อนี้ให้บรรลุได้ เพื่อประโยชน์สุขที่จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้”

ดร.สุเมธกล่าวแสดงความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกฝ่าย ที่จะร่วมกันออกแบบแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามของหน่วยตัวแทนภาครัฐ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งน้ำ อันเป็นต้นทุนสำคัญของชีวิต โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม และถือเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลได้ขานรับต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้ง 5 ข้อ ที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชุมชนต้นน้ำไปจนถึงภาคเอกชน โดยรัฐบาลรับปากว่าจะผลักดันทุกแนวทางให้เกิดขึ้นให้ได้ พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประสบความสำเร็จมาใช้เป็นต้นแบบในการนำไปปฏิบัติ

 “ทุกคนต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด เพื่อการเชื่อมโยงร่วมกันไปสู่การแข่งขัน การเพิ่มขีดความสามารถ ประเทศไทยต้องเตรียมการให้พร้อม เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นหลัก วันนี้ต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะผลักดันทุกโครงการให้เกิดขึ้นให้ได้ เราต้องแยกกิจกรรมน้ำอย่างชัดเจน ถามว่าวันนี้เราเตรียมความพร้อมหรือยัง นี่คือความท้าทายของทุกคน เราต้องมีผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ต้องวางแผนเป็นภูมิภาค เพราะเรามีทรัพยากรที่แตกต่างกันออกไป นั่นคือแนวทางที่จะเดินหน้าประเทศให้เป็นรูปแบบของความเชื่อมโยง เดินหน้าประชารัฐเพื่อเจริญเติบโตไปด้วยกัน

เพื่อให้เกิดการระดมสมอง สู่การค้นหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน การอภิปรายกลุ่มย่อยจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการหาทางออกร่วมกัน โดยมีการแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ Water Supply, Water Demand และ Water Management ซึ่งในแต่ละหัวข้อได้มีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์เรื่องน้ำ มาร่วมแสดงความคิดเห็นจนตกผลึกเป็นแนวคิดซึ่งมีข้อสรุปที่น่าสนใจ

ในหัวข้อ Water Supply หรือ อุปทานน้ำ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน สรุปเรื่องการให้ความสำคัญกับพื้นที่ต้นน้ำซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่เหนือสุด เพราะกลางน้ำสามารถมีพื้นที่ต้นน้ำในที่สูง ที่เป็นแหล่งต้นน้ำให้ลำน้ำสาขาได้เช่นกัน ความสำคัญคือการทำให้น้ำอยู่กับป่าได้นานด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ สำหรับพื้นที่ต้นแบบนั้น สามารถดูได้จากโครงการดอยตุงของสมเด็จย่า ในพื้นที่น้ำลาว ใช้วิธีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อลดเกษตรเชิงเดี่ยว โดยชุมชนร่วมกับเกษตรในพื้นที่ เน้นไม้ท้องถิ่น ให้มีการดูแลโดยเจ้าของพื้นที่ ส่วนปัญหาไฟป่า และการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ส่วนรูปแบบการกักเก็บน้ำในพื้นที่กลางน้ำ ทำได้โดยอ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำ โดยโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ขณะนี้คือฝายที่ต้องมีการขุดลอกเพื่อกำจัดตะกอน รวมถึงขุดลอกแหล่งน้ำ เน้นเชิงลึกและคำนึงถึงโครงสร้างวิศวกรรม กักเก็บน้ำในฤดูฝนและหามาตรการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรในกรณีน้ำในแม่น้ำสูง สุดท้ายคือพื้นที่ปลายน้ำ แม้จะมีฝนมากแต่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ และน้ำเค็มรุก ต้องอาศัยการบริหารจัดการอาคาร และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาแก้ปัญหาน้ำเค็ม ส่วนอ่างเก็บน้ำที่ไม่มีระบบอย่างการใช้น้ำบาดาล ต้องมีการเติมน้ำเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนอยู่เสมอ

ด้านหัวข้อ Water Demand หรือ อุปสงค์น้ำ คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่องสาม ซึ่งเป็นผู้นำการอภิปราย โดยมีทั้งตัวแทนประชาชนกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำ ตัวแทนภาคเอกชน และภาครัฐ มาร่วมระดมความคิดที่เน้นไปในมุมของความท้าทาย และสิ่งที่อยากจะเห็นในการจัดการน้ำ ซึ่งความท้าทายที่ชัดเจนคือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณใช้น้ำเพิ่มขึ้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นคือ การลดการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยอย่างจริงจัง สำหรับน้ำเพื่อการเกษตร ต้องมีการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ ปรับวิธีการใช้น้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ และพืชที่ปลูก รวมถึงปรับวิธีเพาะปลูกเป็นแบบผสมผสาน

ในส่วนของอุตสาหกรรม จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของภาษีการใช้น้ำภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรมที่อยู่ปลายน้ำ เพื่อนำเงินส่วนนี้มาดูแลระบบนิเวศ คล้ายกับการจัดการเรื่องภาษีเหล้าและบุหรี่ ในส่วนของการรักษาสมดุลระบบนิเวศ มุ่งเน้นเรื่องการสร้างป่าเพื่อกักเก็บน้ำบนภูเขา เพราะเป็นทางที่จะได้น้ำมาโดยไม่ต้องกักเก็บใหม่ สร้างฝาย สร้างความหลากหลายของป่า ส่วนในภาคครัวเรือน การแก้ปัญหาน้ำเสีย อาจใช้กฎหมายบังคับให้มีระบบจัดการน้ำเสียในรูปของเทศบัญญัติ ที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายทอดข้อมูลความรู้ ต้องให้ทุกชุมชนสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ของตัวเอง และสื่อสารไปยังทุกคนทุกองค์กรอย่างเท่าเทียม เพื่อประสานบูรณาการเป็นระบบเดียวกันต่อไป

Water Management หรือ การบริหารจัดการน้ำ คืออีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ ที่มี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เป็นผู้นำการอภิปราย โดยได้ข้อสรุปจากความคิดเห็นที่มาจากชาวบ้านนอกเขตชลประทานว่า จำเป็นจะต้องมีการทราบปริมาณน้ำที่แท้จริง ที่สำคัญคือ คนในพื้นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานะของปริมาณน้ำที่มีให้สมดุลแก่การใช้ชีวิต ในส่วนของพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาแก้มลิง และมีการสร้างกฎเกณฑ์ในการใช้น้ำร่วมกับพื้นที่ในเมือง ตลอดจนมีการเชื่อมโยงแหล่งน้ำดิบอย่างเป็นระบบ มีการสำรองน้ำที่ชัดเจน ซึ่งในตัวเมืองมีข้อเสนอให้ใช้ระบบไอที และต้องแก้ปัญหาน้ำรั่วไหลที่มีอัตราถึงร้อยละ 25 -30

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังระบุว่า การทำแผนที่ และการแก้ปัญหาที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กให้ชัดเจน เป็นการแก้ปัญหาต้นน้ำได้ดี มีการบูรณาการร่วมกันทุกอย่าง และโยงไปกับระบบ Land Manager ที่ดูแลเรื่องตะกอน การไหลของน้ำ ในส่วนพื้นที่ชลประทานนั้น สิ่งสำคัญคือต้องมองเรื่องความมั่นคง  มีแผนระยะยาว มีแหล่งน้ำสำรองชัดเจน สุดท้ายคือการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการขอคณะกรรมการทรัยากรน้ำแห่งชาติ มีลักษณะเหมือนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำแผนน้ำในรอบ 4-5 ปี มีการทำนโยบาย และจัดสรรงบประมาณได้อย่างเต็มรูปแบบ

ปัญหาเรื่องน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับปัญหา ย่อมนำไปสู่แนวทางการแก้ไขและพัฒนาที่ได้ผล ไม่เพียงเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต การทำงานร่วมกันจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดไปจนถึงภาครัฐ เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับสายน้ำน้อยใหญ่ที่เชื่อมโยงถึงกัน เป็นต้นทุนสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในประเทศให้ยังคงมีลมหายใจต่อไป

 


แชร์ :

You may also like