สำหรับอุตสหากรรมสื่อหรือมีเดียเป็นที่ทราบกันดีกว่า “เรตติ้ง” เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมาก เนื่องจากจะเป็นไม้บรรทัดสำหรับแบรนด์หรือนักการตลาดที่จะใช้เลือกลงเพื่อส่งแมสแสสทางการตลาดหรือสื่อสารกับผู้บริโภคในแคมเปญต่างๆ สำหรับในตลาดประเทศไทย นีลเส็น (Nielsen) นับเป็นผู้วัดเรตติ้งเจ้าเดียวในประเทศไทยและให้บริการมายาวนาน เมื่อปลายปี 2558 จึงมีการจัดตั้ง สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA เพื่อจัดทำวิจัยค่าความนิยมหรือเรตติ้งใหม่ในสื่อทุกแพลตฟอร์ม หรือจัดเรียกได้ว่าปฏิรูปเรตติ้งใหม่ โดยโครงการนี้ บริษัท กันตาร์มีเดีย (Kantar Media)ได้เป็นตัวแทนในการดำเนินการทำวิจัยนี้
ล่าสุดหลังจากมีความล่าช้าตามแผนการณ์ที่ตั้งไว้ นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA เปิดเผยว่า การทำวิจัยค่าความนิยมหรือเรตติ้งในทุก ๆ แพลตฟอร์ม (Multi Screen Rating) ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, แท็ปเล็ต เป็นต้น ตอนนี้รถไฟขบวนนี้กำลังจะออกเดินทางแล้ว หลังจากที่ล่าช้ามาสักระยะ เนื่องจากตอนนี้ ผู้ซื้อโฆษณา กับ เอเจนซี่ ตกลงเข้าร่วมแล้ว แต่ยังขาดองค์ประกอบของฝ่ายผู้ขายโฆษณา ทั้งทีวีดิจิตอล ดาวเทียม และ เคเบิ้ล (บางราย) ที่ยังไม่มากเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากปัจจัยภายในต่างๆของแต่ละเจ้า ตอนนี้เราต้องออกเดินหน้าโครงการนี้แล้ว หากใครที่จะไปดักรอกลางทางนั้นก็ได้ แต่มีเงื่อนไขจะต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้นกว่าปกติ 25%
“การดำเนินการครั้งนี้นับว่าเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา ซึ่งผลที่ได้รับจากการวิจัยของกันตาร์มีเดีย จะทำให้เราได้มาในเรื่องค่าความนิยมหรือเรตติ้งที่ถูกต้อง และใกล้เคียงความเป็นจริง อันจะมีส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ทั้งในแง่ของคอนเทนท์ และรูปแบบของรายการ ซึ่งจะมีผลกับผู้ผลิต และเจ้าของสื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่กลุ่มนักการตลาด และกลุ่มมีเดียเอเยนซี่ก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น”
นางวรรณี รัตนพล อุปนายกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) เสริมว่า สำหรับความล่าช้ากว่าแผนนั้นเกิดจากบางสื่อ ขอทบทวนเงื่อนไข ดูรายละเอียด หรือ รวบรวมเงิน ซึ่งเราได้แจงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เอเจนซี่ส่วนใหญ้ในไทยก็มาครบแล้ว ยังเหลือเอเจนซี่ Local บางรายเท่านั้น ส่วนช่องสถานีใหญ่ๆก็เข้าร่วม แต่บางกลุ่มยังไม่ได้มา เราจึงคุยกับกันตาร์ใหม่ให้มาเป็นพาร์ทเนอร์เป็นเจ้าของวิจัยนี้ด้วยกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับสมาชิกที่เข้าร่วม โดยแบ่งเป็น MDRA 70% และ กันตาร์มีเดีย 30%
ในขั้นตอนการทำวิจัยนั้นกันตาร์มีเดียได้มีการจัดทำ Establishment Survey 30,000 ตัวอย่างเพื่อศึกษาโครงสร้างตลาด ซึ่งจะคัดเลือกกลุ่มบ้านตัวอย่างให้เหลือ 3,000 ครอบครัวทั่วประเทศโดยประมาณการไว้ว่า จะมีอุปกรณ์เพื่อเสพสื่ออื่นๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต ถึง 9,600 คน และยังจะมีการทำวิจัยประจำปีหรือ Annual Establishment Survey ทั่วประเทศอีกจำนวน 20,000 ตัวอย่าง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด และปรับกลุ่มบ้านตัวอย่างในเหมาะสมกับกับสภาพตลาด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายโฆษณา
เนื่องจากเป็นการดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านควบคุม และตรวจสอบโดย CESP ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการเรื่องการวัดเรตติ้งจากประเทศฝรั่งเศส และเป็นองค์กรผู้ตรวจสอบที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก อีกทั้งยังผ่านการเห็นชอบของสมาคมมีเดียฯ, สมาคมทีวีดิจิตอล (ประเทศไทย), สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย), สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งข้อมูลเรตติ้งที่ได้นั้นจะแสดงเฉพาะสื่อหรือช่องหรือสถานีที่เข้าร่วมสนับสนุนการทำวิจัยของ MRDA เท่านั้น
สำหรับความคืบหน้าการเข้าร่วมสนับสนุน MRDA ของกลุ่มผู้ประกอบการสื่อนั้น นางวรรณี กล่าวว่าขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มมีเดียเอเยนซี่ที่ได้ตอบรับอย่างเป็นทางการ 21 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 95% ของผู้ซื้อข้อมูลในตลาดแล้ว ส่วนดิจิตอลทีวี และเคเบิลทีวีตอบรับอย่างเป็นทางการแล้ว 14 ช่อง และยังมีบางช่องที่ยังติดขัดเรื่องกฎหมายอยู่
“ไทม์ไลน์ วันนี้เราได้จ่ายเงินงวดแรกให้กับกันตาร์ และสิงหาเป็นต้นไปถึงเมษาปีหน้า จะทำ Establishment Survey และ Panel Setup จากนั้นก็เป็น Annual Recruitment ซึ่งทำให้ไตรมาส 2 ของปี 2560 จะได้ดาต้าชุดแรกออกมา ขณะเดียวกันก็ทำการเปรียบเทียบความต่างของค่าเรตติ้งควบคู่ดาต้ากับทางนีลเส็น จากนั้นเดือนสิงหาคม Go Live”