หากใครยังจำได้ ภาพเหตุการณ์วันเปิด “Uniqlo” สาขาแรกในไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อปี 2554 เป็นวันที่ศูนย์การค้าแทบแตก มีคนยืนต่อแถวยาวตั้งแต่ภายในศูนย์ฯ ไปจนถึงด้านหน้า ถึงวันนี้ขึ้นปีที่ 5 แล้วสำหรับแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ที่เข้ามาปักหมุดในไทย และสร้างแรงเขย่าให้กับธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในประเทศไทย พร้อมทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของคนไทย ทั้งคนที่ซื้อตามคอลเลคชั่นในแต่ละฤดูกาล และคนที่นานๆ ซื้อที ให้หันมาซื้อถี่ขึ้น ขณะที่หลายคนนิยมซื้อเสื้อผ้าตามร้านค้าทั่วไป ไม่ได้มีแบรนด์ ก็เปลี่ยนมาซื้อที่ Uniqlo
ความสำเร็จที่ว่านี้ ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ แต่คือการเตรียมการ ศักยภาพด้านการลงทุน และการยกเอาสูตรความสำเร็จจากระดับโลกนำมาปรับใช้ ทำให้จังหวะก้าวเดินของ Uniqlo ประเทศไทยมีความต่อเนื่อง
ขณะที่สเตปนับจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรต่อไปในอนาคต “Uniqlo” ประเทศไทย ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน แต่จะมีอะไรบ้างนั้น มาติดตามกัน
1. ประเทศไทย หนึ่งในจิ๊กซอว์ Uniqlo เอเชียแปซิฟิก ด้วยแนวทางการพัฒนาธุรกิจต่อจากนี้ของ Uniqlo ทั่วโลก มีแผนมุ่งเน้นสองกลยุทธ์ คือ การขยายธุรกิจทั่วโลก (Globalization) และ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2558 Uniqlo เริ่มเข้าสู่ Stage ของการเป็น Global Brand อย่างเต็มรูปแบบแล้ว จากก่อนหน้านี้เป็น Japanese Brand ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนร้านสาขาในต่างประเทศมากกว่าที่มีอยู่ในญี่ปุ่น โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่สำคัญ และยังคงยึดมั่นเดินหน้าลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจต่อไป
2. เฟ้นหาคนไทย นั่งแท่นผู้บริหาร เป็นเป้าหมายใหญ่ของ Uniqlo ประเทศไทย ซึ่งในช่วงปีแรกที่เข้ามาลงทุนในไทย ผู้จัดการสาขาเกือบทุกสาขาเป็นชาวญี่ปุ่น เพื่อรักษามาตรฐานด้านคุณภาพบริหารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก กระทั่งปัจจุบันเปลี่ยนถ่ายไปสู่คนไทย โดยยังคงมี 2 – 3 สาขาที่ยังเป็นผู้จัดการสาขาคนญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเวลานี้ ระดับบริหารยังเป็นคนญี่ปุ่นกับคนไทยร่วมกันบริหารงาน มีข้อดี คือ ทำให้ได้รู้จักคนไทยและความต้องการของลูกค้าไทยมากขึ้น
แต่การจะสร้างองค์กรให้เข้มแข็งกว่านี้ ต้องเป็นองค์กรที่บริหารโดยคนไทย ไม่ใช่เป็นคนญี่ปุ่นบริหาร และคนไทยต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถมากขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจ Uniqlo ให้เป็นบริษัทที่รองรับความต้องการของลูกค้าไทยได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ปัจจุบัน Uniqlo ในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มมี Local Initiate เช่น การจับมือร่วมกับฮานะ ทาจิมะ แฟชั่นดีไซเนอร์สัญชาติอังกฤษ นำเครื่องแต่งกายสาวชาวมุสลิม มาพัฒนาเข้ากับดีไซน์อันทันสมัย น่าติดตามต่อว่าสำหรับ Uniqlo ในประเทศไทยแล้ว จะมีโปรเจคที่เป็น Local Initiate เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ในอนาคต
3. ปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์แฟชั่น และพฤติกรรมของลูกค้าไทย ในช่วงแรกที่ Uniqlo เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ยังคงเน้นกลุ่มสินค้าหลัก (Core Products) ที่โดดเด่นในความเป็น Functional Wear มีดีไซน์เรียบง่าย แต่จากปีที่แล้ว และนับจากนี้ไป Uniqlo ประเทศไทยเริ่มนำสินค้าที่มีดีไซน์และมีความเป็นแฟชั่นเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าคนไทยตอบสนองต่อเทรนด์แฟชั่นได้รวดเร็ว
ประกอบกับ Uniqlo ทำสำรวจความต้องการและพฤติกรรมลูกค้าอยู่แล้ว เพื่อจับเทรนด์ลูกค้า และรีบติดต่อกับโรงงาน เพื่อนำสินค้าเข้ามาตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด โดยพบว่ามีหลายครั้งที่สินค้ากลุ่มเทรนด์แฟชั่น เช่น Jogger Pants หรือกางเกงขาจัมพ์ ได้กลายเป็นกลุ่มสินค้าหลัก (Core Item) ประจำร้าน Uniqlo ไปแล้ว
นอกจากนี้นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Uniqlo ได้ปรับลดราคาสินค้าลงกว่า 100 รายการในกลุ่มสินค้ายอดนิยม เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลงได้ทุกวัน ไม่ต้องรอโปรโมชั่นรายอาทิตย์อีกต่อไป
4. เพิ่มยอดขายเสื้อผ้าฤดูหนาว และเสื้อยืดชั้นใน ด้วยความที่อาเซียน มีสภาพอากาศร้อนตลอดทั้งปี แตกต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่มี 4 ฤดู ทำให้ Uniqlo ที่นั่นทำยอดขายได้ดีในทุกฤดูกาล ดังนั้นโจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า Uniqlo ประเทศไทย หรือแม้แต่ Uniqlo ประเทศต่างๆ ในอาเซียน จะผลักดันยอดขายสินค้าคอลเลคชั่นฤดูหนาว และเสื้อยืดชั้นในให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยสำหรับเสื้อยืดชั้นใน ขณะนี้ Uniqlo ประเทศไทยเตรียมสื่อสารให้เห็นถึงคุณสมบัติและข้อดีของการสวมใส่ Innerwear
5. เล็งหาโลเกชั่นดีที่สุด เปิด Global Flagship Store ในกรุงเทพฯ Uniqlo มีโมเดลการเปิดสาขาที่เรียกว่า “Global Flagship Store” เป็นรูปแบบสาขาที่สะท้อนถึง Brand Image และ Brand Visibility ได้ดีที่สุด ดังนั้นต้องอยู่บนทำเลที่ดีที่สุด (Prime Location) ของเมืองใหญ่ทั่วโลก และเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป ขณะเดียวกันทำเลที่ตั้งสาขาระดับโลก ต้องเป็นทำเลที่ไม่ว่ามองจากมุมไหนของเมืองนั้น หรือในย่านนั้น ก็จะเห็น Global Flagship Store
ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 11 สาขาใน 11 เมืองใหญ่ของโลก เช่น Fifth Avenue ในนิวยอร์ก, Soho ลอนดอน และล่าสุดเตรียมเปิดสาขา 12 ที่ Orchard Road สิงคโปร์ ขณะที่กรุงเทพมหานคร มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะกับการเปิด Global Flagship Store แต่เวลานี้กำลังอยู่ระหว่างการหาโลเกชั่นที่ดีที่สุด
Credit Photo(ภาพสโตร์): NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand