ใน Business Ecosystem หรือระบบนิเวศธุรกิจของ YouTube ประกอบด้วยกัน 3 ส่วน คือ Content Creator ผู้สร้างคอนเทนต์ให้มีความหลากหลาย – Viewer การมีคอนเทนต์หลากหลาย และมีคุณภาพ ย่อมดึงดูดผู้ชมหลากหลายกลุ่มให้เข้ามาดู – Advertiser ผู้ลงเงินโฆษณา ทำให้ YouTube และ Content Creator มีรายได้ ดังนั้น ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องเดินไปด้วยกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้
หลังจากเปิดตัว YouTube ในไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้มีนักสร้างสรรค์คอนเทนต์คนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ปีที่แล้วยอดอัพโหลดเนื้อหาวีดีโอบน YouTube เพิ่มขึ้นถึง 70% เช่นเดียวกับยอดการรับชม YouTube ในไทยเติบโตขึ้น 70% แบบปีต่อปี ติดอันดับ Top 10 ของโลก โดยปัจจุบันมีช่อง YouTube ของ Creator คนไทยที่มีผู้ติดตามกว่า 100,000 ราย มากกว่า 500 ช่อง และช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านราย อยู่ 25 ช่อง
จะเห็นได้ว่านับวัน Business Ecosystem ของ YouTube มีแนวโน้มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่การเติบโต ก็ต้องมาพร้อมกับความยั่งยืนทางธุรกิจ และจุดเริ่มต้นของความยั่งยืนนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่ โปรดักส์ นั่นคือ Content ที่มีคุณภาพ และมีความหลากหลาย เพื่อดึงผู้ชม และแบรนด์สินค้า-บริการเข้ามาสู่แพลตฟอร์มนี้
นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไม YouTube ถึงต้องเปิดตัวเว็บไซต์ “Creator Community” และ “YouTube Space” รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
1. บนแพลตฟอร์ม YouTube นอกจากมีผู้ผลิตคอนเทนต์ขนาดกลาง-ใหญ่ ที่ออกอากาศบนฟรีทีวีอยู่แล้ว ได้ใช้ช่องทางนี้กระจายคอนเทนต์เข้าถึงผู้ชม แน่นอนว่าคอนเทนต์เหล่านี้มีความแข็งแรงในตัวเองอยู่แล้ว แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าผู้ผลิตคอนเทนต์รายกลาง-ใหญ่ คือ Content Creator ที่เป็นคนทั่วไป แต่มี Passion อยากผลิตคอนเทนต์ดีๆ ในสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือถนัด เพราะการมี Content Creator จำนวนมาก ย่อมทำให้เนื้อหาบน YouTube มีความหลากหลาย และมีความน่าสนใจมากขึ้น
2. เส้นทางการเป็น Content Creator ไม่ง่าย และหลายรายก็ยังไม่ได้มีประสบการณ์มากนัก เพราะฉะนั้นคำแนะนำ การแลกเปลี่ยนความรู้-ประสบการณ์ระหว่าง Content Creator ที่ประสบความสำเร็จกับรายใหม่ และการมีที่ปรึกษา จึงเป็นสิ่งที่เหล่า Content Creator ต้องการอย่างมาก
3. เมื่อคำแนะนำ คำปรึกษา ความรู้ เป็นสิ่งที่ Content Creator ต้องการ YouTube จึงได้เปิดตัว www.youtube.com/creators เพื่อเป็น Creator Hub สนับสนุนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์บน YouTube ได้มีแหล่งเรียนรู้ สร้างการเติบโต และได้พูดคุย สร้างเครือข่าย หรือคอนเนคชั่นระหว่างนักสร้างสรรค์ด้วยกัน เกิดการต่อยอดทั้งด้านคอนเทนต์ต่อไปในอนาคต โดยล่าสุดได้เปิดตัวเวอร์ชั่นภาษาไทย นอกจากนี้ยังได้ปรับโปรแกรมมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ Creator หลากหลายระดับ ตั้งแต่ช่องที่มีผู้ติดตาม 0, 1,000 ไปจนถึง 10,000 ราย
อีกทั้งก่อนหน้านี้ YouTube ตามเมืองใหญ่ของโลกได้เปิดตัว “YouTube Space” สตูดิโอถาวร เพื่อสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับนักสร้างสรรค์วีดีโอได้มีสถานที่สร้างผลงานและปฏิสัมพันธ์กัน
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาโมเดล “YouTube Pop Up Space” เป็นสตูดิโอชั่วคราว ที่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ยกมาเปิดที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก มี Creator กว่า 300 คนมาใช้สถานที่แห่งนี้ และเตรียมที่จะนำ YouTube Pop Up Space กลับมาเปิดอีก 2 ครั้งในไทย คือ วันที่ 25 – 27 สิงหาคมนี้ ที่ Center Point Studio สุขุมวิท 105 (ซอยลาซาล) และในเดือนพฤศจิกายน ส่วนสถานที่ ยังไม่ได้สรุป
ดังนั้นการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับ Creator รวมไปถึง YouTube Space และเครื่องมือสนับสนุนต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ Content Creator มีรากฐานที่แข็งแรง จะนำไปสู่การผลิตคอนเทนต์คุณภาพ ขยายฐานผู้ชม YouTube ให้กว้างขึ้น จนกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์สินค้าและบริการต้องไม่พลาดที่จะมาลงโฆษณา สร้างรายได้ให้กับทั้ง Creator และ YouTube
“เราให้ความสำคัญกับ Content Creator มาโดยตลอด แต่เมื่อก่อนสิทธิประโยชน์ที่ Creator จะได้รับมีแค่ 2 ระดับ คือ Silver สำหรับช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 100,000 ราย และระดับ Gold ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านราย ขณะที่การทำเว็บไซต์ Creator Hub หรือ Creator Community เราได้ขยายความกว้างของสิทธิประโยชน์ที่ Creator จะได้รับ เพราะเราเห็นถึงความสำคัญของ Creator หน้าใหม่ที่เข้ามา เพื่อให้เขาเติบโตไปในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ และการมีชุมชนของ Creator เราต้องการให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้มารู้จักกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กัน มีการทำ Collaborate ร่วมกัน ช่วยกันคิดโปรเจคร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยน Fanbase ของกันและกัน เพื่อช่วยกันเติบโตไปด้วยกัน” คุณไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดด้านผู้บริหาร Google ประเทศไทย กล่าว