เคยสังเกตไหมว่า ในช่วง 5 ปีมานี้ เวลาเข้าไปจับจ่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ จะพบสินค้า “อาหารสด” มากขึ้น โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มทั้งพื้นที่ขาย ประเภทสินค้า และจำนวนสินค้าประเภทผัก – ผลไม้สด
เนื่องจากทิศทางของ Modern Food Retail หรือ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เกี่ยวกับอาหารในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 55% ของมูลค่าตลาด Food Retail โดยรวม 1 ล้านล้านบาท (อีก 45% เป็นรูปแบบดั้งเดิมอย่างตลาดสด) กำลังมุ่งสู่กลุ่มสินค้าอาหารสดมากขึ้น
เหตุที่ Modern Food Retail ให้น้ำหนักที่กลุ่มอาหารสดมากขึ้น มาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ
1. อาหารสด เช่น ผัก – ผลไม้สด เป็นสิ่งที่ “สร้างความแตกต่าง” จากคู่แข่งขันได้ดีกว่าสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนทั่วไป ซึ่งความแตกต่างนี้ จะทำให้เกิด “Store Loyalty”
2. เติมเต็ม “ความครบวงจร” ของการมาจับจ่าย ทั้งกลุ่ม Food และ Non-Food
3. ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการซื้ออาหารสำเร็จรูป หันมาลงมือทำอาหารเองมากขึ้น เพราะใส่ใจต่อสุขภาพทั้งตนเองและสมาชิกในครอบครัว จึงเลือกสรรวัตถุดิบคุณภาพดี สดใหม่ ปลอดภัยจากสารเคมี
4. การสร้างความยั่งยืน (Sustainable Development : SD) การดำเนินธุรกิจทั้งในวันนี้ และวันข้างหน้า ไม่ใช่มุ่งแต่เพียงแสวงหาผลกำไรเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงหลัก “Triple Bottom Line” หรือ 3P ประกอบด้วย Profit, People, Planet
ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เรามักได้ยินคำว่า “CSR” (Corporate Social Responsibility) แต่ที่ผ่านมาองค์กรธุรกิจนำ “CSR” ไปเป็นหนึ่งในเครื่องมือการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ผ่านการทำโครงการเพื่อสังคมในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ แล้วก็เสร็จสิ้นกันไป นั่นจึงทำให้หลายโครงการ CSR เป็นเพียงแค่กิจกรรมที่จัดขึ้นในองค์กร มีเพียงผู้บริหาร พนักงานมีส่วนร่วมเท่านั้น ไม่ได้เกิด Impact ต่อสังคม และผู้บริโภคอย่างแท้จริง
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดโมเดลที่เรียกว่า “Creating Shared Value” (CSV) หรือการสร้าง “คุณค่าร่วม” ระหว่างภาคธุรกิจ สังคม และผู้บริโภค เป็นแนวคิดบัญญัติขึ้นโดย “Michel E. Porter” ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรนำมาปรับใช้เป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจแบบครบวงจร (Inclusive Business Strategy) ครอบคลุมตลอดทั้ง Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ คือผู้ผลิต – กลางน้ำ คือค้าปลีก – ปลายน้ำ คือผู้บริโภค ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง
CSR Asia ชี้ให้เห็นว่าโมเดล Shared Value and Inclusive Business ต้องตอบโจทย์ 3 ด้าน คือ
1.พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของภาวะความยากจนในสังคมให้ดีขึ้น ด้วยการมอบโอกาสการจ้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ
2. สร้างคุณค่าร่วมกับชุมชน ผู้ผลิต ถือเป็นต้นน้ำของ Supply Chain เช่น เกษตรกร ที่อาจประสบกับภาวะด้านผลผลิตล้นตลาด ราคาขายไม่ดี องค์กรธุรกิจสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ด้านการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งหาตลาดให้ ทำให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าคุณภาพดี ราคาดีขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ดีขึ้น และทำให้ทั้ง Supply Chain อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
3. นำพาไปสู่ความสำเร็จด้านธุรกิจ ที่องค์กรสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสินค้าคุณภาพดี มีความแตกต่างมานำเสนอให้กับผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด ผ่านการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว
คราวนี้มาดูกันว่าทั้ง 2 ผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีก ที่ต้องเกี่ยวข้องกับทั้ง Supply Chain ไม่ว่าจะเป็น “เทสโก้ โลตัส” และ “ท็อปส์” จะยกความสดมาเสิร์ฟถึงมือผู้บริโภคอย่างไรกันบ้าง…
“เทสโก้ โลตัส” 95% ผัก-ผลไม้ส่งตรงจากไร่
เป็นเวลา 3 – 4 ปีแล้วที่ “เทสโก้ โลตัส” ดำเนินการ “Direct Sourcing” ทั้งการรับซื้อตรงจากเกษตรกร ให้ความรู้ด้าน Demand – Supply พร้อมทั้งวางแผนการผลิตร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงผลิตตามมาตรฐานของเทสโก้ โลตัส โดยปัจจุบันผัก – ผลไม้ 95% ซื้อตรงจากฟาร์ม ขณะที่ 5% เป็นผักผลไม้นำเข้า
คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการแผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส เล่าว่า เทสโก้ โลตัสอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทั้ง Supply Chain ทำให้รู้ว่าคนขายสินค้าเป็นใคร และลูกค้าเป็นใคร ซึ่งเมื่อก่อน เทสโก้ โลตัสรับซื้อของสดในลักษณะซื้อมา ขายไป แต่หลังจากทำธุรกิจมาสักพัก บริษัทต้องการสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งฝั่ง “ผู้ผลิต – ผู้บริโภค – เทสโก้ โลตัส”
“การทำ Direct Sourcing อันดับแรก ลูกค้า ได้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น สดใหม่ ซื้อได้ตามปริมาณที่ตัวเองต้องการ ไม่ต้องเจอกับภาวะสินค้าขาดตลาดในช่วงเทศกาล สอง ทำให้ เทสโก้ โลตัส มีสินค้าขายได้เร็วขึ้นตามความต้องการของตลาด และด้วยการที่เราเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรใน 2 เรื่อง คือ การทำสินค้าให้มีคุณภาพดี และด้านการตลาด โดยวางแผนร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่าจะปลูกช่วงไหน ออกมาตรงกับที่ตลาดต้องการพอดี ไม่ใช่เป็นการปลูกด้วยความเคยชิน และ สาม ชุมชน และเกษตรกร มีรายได้มั่นคง มีความมั่นใจว่าผลผลิตมีคนซื้อแน่นอน”
นอกจากนี้ ยังลดการสูญเสียด้านผลผลิต จากเมื่อก่อนเกษตรกรปลูก แล้วขาย เมื่อมาถึงศูนย์กระจายสินค้า มักพบว่าผักช้ำ เสียหาย ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผักส่วนหนึ่งขายไม่ได้ กลายเป็นต้องทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรเคยชินมาตลอด แต่การซื้อตรงจากเกษตรกร นอกจากมีการวางแผนการปลูกร่วมกันแล้ว เทสโก้ โลตัสยังทำกล่องพลาสติก ป้องกันไม่ให้ผลผลิตช้ำ เสียหายจาการขนส่ง เพื่อลดขยะอาหาร โดยทุกวันนี้สามารถเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรได้แล้ว
ขณะเดียวกัน ผัก – ผลไม้สดจากฟาร์ม ช่วยเติมเต็มภาพความครบวงจรด้านสินค้าให้กับเทสโก้ โลตัส เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มาเทสโก้ ส่วนใหญ่ซื้อของแห้ง สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก
“เทสโก้เป็น One Stop Shopping อยู่แล้ว และคนไทยกับตลาดสดอยู่คู่กันมานานแล้ว ซึ่งทุกวันนี้คนไทยก็ยังซื้อของสดที่ตลาดสด เพียงแต่การมีอาหารสดจำหน่ายมากขึ้น เราอยากให้ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่แล้ว ก็หาซื้อวัตถุดิบ อาหารสดจากที่นี่ได้เช่นกัน
การมีผัก – ผลไม้สดจำหน่ายมากขึ้น ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับเทสโก้ได้ โดยลูกค้าจะค่อยๆ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของสินค้าที่วางจำหน่ายว่ามีความสดใหม่มากขึ้น เริ่มมั่นใจ โดยเป้าหมายสูงสุดของเรา อยากให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ และคิดถึงเทสโก้ โลตัส วันไหนที่มาซื้อของแห้ง ของใช้ในครัวเรือน ก็แวะซื้อของสดกลับไปด้วยเช่นกัน”
“ท็อปส์” พันธกิจเพื่อเกษตรกร
“เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” หนึ่งในกลุ่มธุรกิจของเซ็นทรัล กรุ๊ป ก็สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการรับซื้อตรงจากเกษตรกร และชุมชนด้วยเช่นกัน โดยมีพันธกิจ 2 ข้อหลัก ได้แก่
1. การจัดซื้อสินค้าชุมชนที่มาจากแหล่งที่ดีที่สุดของแต่ละอำเภอในแต่ละจังหวัดที่เข้าไปเปิดสาขาและในพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตผักและผลไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำ การเลือกพันธุ์ที่ตลาดต้องการ การวางแผนการปลูกที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล การตัดแต่งผักและผลไม้เพื่อการขนส่งและจำหน่าย การแพ็คสินค้า ร่วมออกแบบตราสินค้าให้กับชุนชน การสนับสนุนด้านการกระจายสินค้า จนถึงมือผู้บริโภค โดยเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จะรับซื้อสินค้าจากชุมชนโดยตรง ในราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ
2. ร่วมพัฒนาโมเดล 8 ชุมชนต้นแบบ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์, เชียงราย, ลำพูน, ระยอง, อ่างทอง, แพร่, เลย และพัทลุง โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในการให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทางดำเนินงาน เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยการแปรรูป เพื่อวางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
ตลอด 7 ปี ที่เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน จนถึงปี 2558 มีเครือข่ายมากถึง 102 ชุมชน 107 โอทอป 72 เอสเอ็มอี มีรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน โอทอปและเอสเอ็มอี กว่า 600 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านบาท