HomeBrand Move !!“FinTech 2.0” เปลี่ยนสตาร์ทอัพ จากคู่แข่ง เป็นพันธมิตรแบงค์

“FinTech 2.0” เปลี่ยนสตาร์ทอัพ จากคู่แข่ง เป็นพันธมิตรแบงค์

แชร์ :

Resize shutterstock_454360219

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และนับวันมีแต่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ “Financial Technology” หรือ “FinTech” เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ผนวกกับการพัฒนาของเทคโนโลยี และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างทั่วถึง โดยหนึ่งในผู้ที่มองเห็นโอกาส คือ “FinTech Startups” ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินขึ้นมา โดยใช้จุดแข็งที่ตนเองมีมี ทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การมี Innovative Idea การมองตลาด เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและปัญหาต่างๆ ที่ผู้บริโภคเผชิญ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปรากฏว่าในหลายๆ นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้น สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และเข้ามาเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมการให้บริการทางการเงินในรูปแบบเดิมที่ธนาคารเคยทำกันมา ส่งผลให้ในยุค “FinTech 1.0” บริษัทที่เป็น FinTech Startups ได้เข้ามา Disrupt วงการธนาคาร ทำให้ธนาคารหลายแห่งทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในไทย ต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่

เวลานี้ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทยหลายแห่ง กำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของ FinTech โดยมีทั้งโมเดลจัดตั้งหน่วยงานใหม่ หรือบริษัทลูก สำหรับพัฒนานวัตกรรมทางการเงินโดยเฉพาะ และการสร้างความร่วมมือกับ FinTech Startups เพราะทางฝั่งธนาคารอยากได้ Innovative Idea และมุมมองการตลาด ขณะที่ฝั่ง FinTech Startups ต้องการด้านเงินลงทุน เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตรงนี้เองได้ผลักดันให้ก้าวเข้าสู่ “FinTech 2.0” ยุคแห่งความร่วมมือกันระหว่าง FinTech Startups และธนาคาร ทำให้ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

อย่างก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG) มุ่งคิดค้นนวัตกรรม และจับมือกับพันธมิตรทางเทคโนโลยี รวมทั้ง FinTech Startups สร้างนวัตกรรมทางการเงินรองรับ Digital Banking

Resize Opening KBTG2

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดตัว KBTG

หรือกรณี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมมือกับ RISE ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ Startups เปิดตัวโครงการ “Krungsri RISE Fintech Accelerator” โครงการต่อยอดองค์ความรู้ให้กับ FinTech Startups ผ่านการสนับสนุนด้านทรัพยากร ความรู้ และความเชี่ยวชาญ นอกเหนือไปจากเงินทุน เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินใหม่ๆ และมีโอกาสต่อยอดความสำเร็จได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การนำเอาธุรกิจของ FinTech Startups มาทำงานร่วมกับธนาคาร หรือโอกาสร่วมทุนในลักษณะ Venture Capital

Resize KrungsriRISE_01

คุณฐากร ปิยะพันธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศความร่วมมือกับนายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “RISE”

ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เห็นการเข้ามาของ FinTech มีผลกระทบต่อธนาคาร รวมถึงความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของธนาคารในการผลักดัน Startups ด้วยเหตุนี้ เพื่อปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้จัดตั้งบริษัท Digital Ventures เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินให้กับเครือธนาคารไทยพาณิชย์

โดยภายใน Digital Ventures แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ส่วนธุรกิจหลัก คือ 1. หน่วยงานทุนองค์กร (Corporate Venture Capital)  ดูแล ศึกษา ทำความเข้าใจเทคโนโลยี และตัดสินใจในการลงทุน โดยมีเงินทุนเริ่มต้นสำหรับการลงทุนประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1,760 ล้านบาท

2. หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Products) ภารกิจทางด้านงานวิจัย ทดลองสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน FinTech รูปแบบต่างๆ เพื่อหา Solution ใหม่ๆ เช่น Blockchain, Internet of Things (IoT), Machine Learning (AI) และ Biometrics

3. หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะ Startups (Accelerator) ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ให้เงินทุนกับกลุ่ม Startups ทั้งในเมืองไทยและในภูมิภาค โดยขณะนี้เตรียมเปิดโครงการบ่มเพาะ Startups รุ่นที่ 1 ภายใต้ชื่อ Digital Ventures Accelerator (DVA) โดยผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ จะได้รับเงินทุนให้เปล่าจำนวน 300,000 บาท ซึ่งทางโครงการจะคัดเลือก Startups ที่เกี่ยวข้องกับ FinTech 50% และ Startups ด้านอื่นอีก 50% เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ได้ทั้ง SCB และ ลูกค้า SCB ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ

Resize นายธนา เธียรอัจฉริยะ

คุณธนา เธียรอัจฉริยะ

“เทคโนโลยี FinTech ที่ Digital Ventures จะพัฒนาขึ้น รวมไปถึงการร่วมลงทุนด้วย เรามีหลักเกณฑ์พิจารณา 3 เรื่องสำคัญ คือ Better หมายความว่า FinTech นั้นๆ ทำให้การดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์โดยรวมดีขึ้น เช่น การให้บริการดีขึ้น ลูกค้าประทับใจ, Cheaper ช่วยลดต้นทุนให้กับทั้งธนาคาร และลูกค้า, Faster คือ เทคโนโลยีที่ทำให้การดำเนินงานของธนาคารเร็วขึ้น ลูกค้าได้รับความรวดเร็วจากการบริการ” คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าว


แชร์ :

You may also like