เมื่อ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ไทยเจริญ คอร์เปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) แวะมาเยี่ยมเยียนและเปิดตัว“ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” โฉมใหม่ “เทค-ไลฟ์ มอลล์” ซึ่งเป็นการกลับมาเดินห้างค้าปลีกไอทีหนึ่งเดียวของเมืองไทยในรอบ 20 ปี เลยเล่าอดีตการเข้ามาครอบครองและขับเคลื่อนธุรกิจแห่งนี้
ห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เกิดมา 30 กว่าปีแล้ว แต่เมื่อปี 2530 เจ้าของเดิม ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ จึงได้ขอให้ตนเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจ “ผมกับคุณหญิง (คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี) ก็เลยเข้ามาช่วยและสานต่อ” เจ้าสัวแสนล้านเล่าน้ำเสียงจีน
ตอนเข้ามาดูแลธุรกิจพันธุ์ทิพย์เวลานั้น ยังไม่เจริญมากนัก และสมัยนั้นห้างแห่งนี้ใหญ่มาก แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของคุณหญิงวรรณา จึงให้ข้อคิดสำคัญ “ตัด” พื้นที่ส่วนภัตตาคารที่มีขนาดใหญ่มากทิ้งออกไป จากนั้นการพัฒนาธุรกิจก็เจริญต่อมาเรื่อยๆ ผ่านการมอบหมายให้ “บุตรสาว” อย่าง “วัลลภา ไตรโสรัส” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด สานภารกิจ โดยมี “เขย” คือ “โสมพัฒน์ ไตรโสรัส ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เคียงข้าง
สิ่งที่กำชับในเวลานี้ เสี่ยเจริญ ย้ำให้ดูแลคู่ค้าทุกคนที่เข้ามาทำธุรกิจในศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ “มีโอกาส” ได้กำไร และธุรกิจเจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป ขยับขยายออกไปโตที่อื่นได้ด้วย และก้าวไกลไปอาเซียนยิ่งดี
“อยากให้ทุกคนมีโอกาสได้ทำกำไร และเจริญเติบโต”
เมื่อเสี่ยสั่งลุย มาดูว่าทีมงานวางกลยุทธ์ก้าวใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” อย่างไร
นายสรรเสริญ ณ พัทลุง ผู้จัดการบริหารทรัพย์สิน ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เล่าว่า พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เป็นการนำร่องปรับศูนย์การค้าจากไอทีเป็น “โฉมใหม่” ที่เรียกว่า “เทค-ไลฟ์ มอลล์” ซึ่งจะมีแองเคอร์ใหม่ๆ ดึงดูดผู้บริโภค เช่น พันธุ์ทิพย์ อี-สปอร์ต อารีน่า(Pantip E-Sport Arena) เจาะคอเกมให้อยู่ในโลกของการเล่นเกมอย่างแท้จริง หรืออย่าง SYNHUB Co-working space รองรับบรรดาสตาร์ทอัพ และสินค้าไอที เทคโนโลยีทั้งหลาย
ภายในศูนย์ยังคงจำหน่ายสินค้าหลักๆประเภทคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ สัดส่วน 70% ส่วนที่เหลือ 30% มีทั้งอุปกรณ์มือถือ แก็ดเจ็ตต่างๆ
ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่หวังจะให้มาเดินที่ศูนย์ ก็เด็กลง คืออายุตั้งแต่ 18-35 ปี จากเดิม 30 ปีขึ้นไป หลังวางหมากใหม่ หวังว่าจะช่วยเพิ่มลูกค้าเข้ามาเดินในศูนย์เพิ่มเป็น 35,000-45,000 คนต่อวัน
นอกจากนี้ การปรับโฉมพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เป็นเพียงการนำร่อง “กลยุทธ์ใหม่” ของห้างค้าปลีกไอทีในตำนาน แต่จากนี้ไป จะเห็นการปรับโฉมใหม่ในสาขาอื่นๆด้วย ได้แก่ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ อาจจะมีความคล้ายกับพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ แต่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ จะพลิกกลยุทธ์ จากห้างไอทีเป็น “ค้าส่ง” ที่อาจมี “ห้างค้าปลีกบิ๊กซี” บางฟอร์แมท เข้าไปเสริม และยังมี “โรงแรม” ขนาด 200 ห้องไว้ให้บริการ ส่วนสินค้าไอทีที่เคยเป็นรายการหลักในการทำตลาดและจำหน่ายมากถึง 90% จะลดเหลือ 30% เท่านั้น
“พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ จะนำสินค้ากลางเมืองเข้าไปจำหน่ายค้าส่ง โดยมีคอนเซ็ปต์ศูนย์คล้ายกับพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำบวกแพลทินัม และใบหยก” คิดภาพตามง่ายๆคือ เป็นศูนย์การค้าส่ง ที่มีโรงแรมไว้รองรับลูกค้าที่เป็นพ่อค้าแม่ขายมาซื้อสินค้า “บิ๊กล็อต” ไปจำหน่ายนั่นเอง โดยคงกลิ่นอายอ่อนๆของ “ห้างไอทีในตำนาน” ไว้ด้วย
ส่วนพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน ยังคง “จุดแข็ง” แหล่งรวมพระเครื่องที่ดีสุดแห่งหนึ่งของไทย แต่จะเสริม “แคทิกอรี่ใหม่” อื่นๆเข้าไปให้แกร่งยิ่งขึ้น
นี่เป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งจากการ “แก้เกมกลยุทธ์” ห้างค้าปลีก ในยุคที่อินเตอร์เน็ตครองโลก สินค้าไอที เทคโนโลยีต่างๆ หาซื้อได้ทั่วไปในห้าง ศูนย์การค้าทั่วไทย การดำรงอยู่ห้างไอทีเฉพาะทางแบบเดิมๆก็เลยต้องเปลี่ยนทางรับเทรนด์ตลาด
ส่วนกลยุทธ์ใหม่ จะคง “ตำนานห้างไอที” ให้อยู่ในใจผู้บริโภคได้หรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์!!
Story by นายบุญจันทร์