หากย้อนกลับไปในยุค ‘90s ที่โทรศัพท์มือถือเริ่มใช้งานแพร่หลายในเมืองไทย เวลานั้นมี “โนเกีย” (Nokia) และ “โมโตโรล่า” (Motorola) สองแบรนด์ที่ Dominate ตลาด ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์ทางเลือกอีก 3 – 4 แบรนด์ หนึ่งในนั้น คือ “อัลคาเทล” (Alcatel) จากฝรั่งเศส ที่เปิดตัวเข้าสู่ตลาดไทยครั้งแรกในปี 2540
แต่แล้วการเปลี่ยนผ่านจากยุคฟีเจอร์โฟน ไปสู่ยุคสมาร์ทโฟน ที่แจ้งเกิดทั้งไอโฟน (iPhone), ซัมซุง (Samsung) รวมไปถึงแบรนด์เกิดใหม่อีกมากมาย โดยเฉพาะแบรนด์จากจีน ทำให้บรรดาแบรนด์ยุโรปที่เคยยิ่งใหญ่กลับค่อยๆ เงียบหายไปจากตลาดไทย
เหมือนเช่นกรณีของ “อัลคาเทล” ที่ปรับโครงสร้างองค์กร (Reorganization) บางส่วน และทบทวนกลยุทธ์การตลาดว่าแท้ที่จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายหลักของอัลคาเทลคือกลุ่มไหน อย่างไร จากนั้นเมื่อประมาณปี 2557 ได้กลับมาทำตลาดในไทยอีกครั้ง โดยอยู่ภายใต้ชายคาของ “ทีซีแอล คอมมูนิเคชั่น” (TCL Communication เป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง)
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ได้ประกาศปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งในไทย ด้วยการสลัดภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดูผู้ใหญ่ พลิกโฉมเป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ กลุ่มมิลเลนเนียล และกลุ่มเจเนอเรชั่น Z พร้อมชูจุดขาย 3 เรื่องเด่นที่ใช้ในการแข่งขันตลาดสมาร์ทโฟน คือ ดีไซน์, คุณภาพสินค้า และ ราคาเข้าถึงได้ง่าย
“เราสำรวจข้อมูลจากสถิติทาง Facebook พบว่ากลุ่มลูกค้าหลักของอัลคาเทลจากทั่วโลก เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุต่ำกว่า 35 ปี ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อต้นปี 2559 อัลคาเทลจึงทำการปรับภาพลักษณ์ เปลี่ยนโลโก้ใหม่ พร้อมทิศทางใหม่สำหรับการสื่อสารแบรนด์ให้ตรงกับผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล และเจเนอเรชั่น Z ที่สะท้อนความเรียบง่าย มีสไตล์ เป็นกันเอง และสนุกสนาน
สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนสูงที่สุดในบรรดาประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ดังนั้น อัลคาเทลจึงเลือกเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น “SHINE LITE” ราคา 5,990 บาท สำหรับเจาะกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่รักในเทคโนโลยี ชื่นชอบดีไซน์ระดับพรีเมียม และราคาจับต้องได้ นอกจากนี้การทำตลาดและการขายรุ่นนี้ ยังได้จับมือกับเอไอเอสในการจัดจำหน่ายและทำโปรโมชั่นร่วมกัน” คุณนิโคล่า ซิเบล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีซีแอล คอมมูนิเคชั่น (ฮ่องกง) จำกัด อธิบาย
การกลับมาบุกตลาดไทย นอกจาก 3 จุดขายดังกล่าวแล้ว “อัลคาเทล” ยังได้กำหนดกลยุทธ์การตลาด 3 เรื่อง คือ 1. เป็นพันธมิตรธุรกิจกับ Operator ทั้ง 3 ค่าย เพราะเล็งเห็นเทรนด์ในตลาดต่างประเทศ ที่ผู้ให้บริการธุรกิจโทรคมนาคม Dominate ตลาดโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ในไทย ยังไปไม่ถึงสเตปนั้น เพราะยังเป็น Open Market แต่นับวัน Operator มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างยอดขายให้กับแบรนด์สมาร์ทโฟน
2. สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ (Brand Differentiation) โดยโฟกัสชัดเจนที่กลุ่มมิลเลนเนียล และเจเนอเรชั่น Z เพื่อทำให้ภาพลักษณ์มีความทันสมัยขึ้น
3. กระจายสินค้าครอบคลุม ทั้งช่องทาง Modern Trade เช่น บิ๊กซี, เพาเวอร์บาย และช่องทาง Traditional Trade เป็นดีลเลอร์ที่ช่วยกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึง และการขายผ่านสาขาของ Operator
ปัจจุบัน “อัลคาเทล” ในประเทศไทย มีสมาร์ทโฟนที่วางจำหน่ายในไทย ประมาณ 10 รุ่น ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,990 – 18,990 บาท โดยระดับราคาที่ขายดี อยู่ที่รุ่นประมาณ 3,000 – 6,000 บาท ส่วนความถี่ในการนำเสนอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่สู่ตลาด “อัลคาเทล” จะแนะนำ 3 – 4 รุ่นต่อไตรมาส หรือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 12 รุ่นต่อปี
“หลังจากเราเข้าตลาดไทยเมื่อปี 2540 และประสบความสำเร็จ โดยเป็นแบรนด์ที่มีคนรู้จัก ขณะที่ปัจจุบันหลายคนรู้จักอัลคาเทลอยู่แล้ว ขณะที่อีกหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาจยังไม่รู้จักแบรนด์ ดังนั้นเราต้องสร้าง Brand Awareness, Brand Image, Brand Visibility ในกลุ่มมิลเลนเนียล และเจเนอเรชั่น Z โดยสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพื่อพูดคุยกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ซึ่งเรามี Commitment ว่าจะสร้างแบรนด์ “อัลคาเทล” ในเมืองไทย ให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น Top 5 ในประเทศไทยอีกครั้ง” คุณจุฑา เหล่าวรวิทย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ทีซีแอล คอมมูนิเคชั่น (ฮ่องกง) จำกัด กล่าวทิ้งท้าย
การกลับมาบุกทำตลาดหนักอีกครั้งของ “อัลคาเทล” ถือได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ไม่ง่าย ท่ามกลางคู่แข่งที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือ !! คงต้องรอดูกันต่อไปว่าทั้งการปฏิวัติภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ รวมถึงการปรับกลยุทธ์สินค้า การตลาดและการขาย จะทำให้ “อัลคาเทล” สามารถกลับมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ผู้บริโภคไทยนึกถึงและตัดสินใจซื้อหรือไม่ ?!?