HomeBrand Move !!ถึงคิวเมืองไทย “ซัมซุง เพย์” Payment Platform ที่อัพเกรดมือถือเป็นกระเป๋าตังค์

ถึงคิวเมืองไทย “ซัมซุง เพย์” Payment Platform ที่อัพเกรดมือถือเป็นกระเป๋าตังค์

แชร์ :

resize-samsung-pay_02

เป็นแนวโน้มมาแรงทั่วโลก สำหรับ “Cashless Society” โดยเทคโนโลยีที่ผลักดันให้เทรนด์นี้เกิดอัตราเร่งที่เร็วขึ้น และจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “Mobile Payment Platform” ที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการมากมาย หนึ่งในนั้น คือ ซัมซุง (Samsung) เมื่อปีที่แล้วได้เปิดตัวเทคโนโลยี “ซัมซุง เพย์” (Samsung Pay) จากนั้นเริ่มทยอยทำตลาดแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน สเปน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เปอร์โตริโก และบราซิล จนในที่สุด ในงาน Mobile Expo 2016 ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว “Samsung Pay” ในไทย หลังจากเริ่มทดลองตลาดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยปัจจุบัน สมาร์ทโฟนซัมซุงที่รองรับ Samsung Pay มีรุ่น Galaxy Note 5, Galaxy S6 edge+, Galaxy S7 / S7 edge, Galaxy A9 Pro, Galaxy A7, Galaxy A5

resize-samsung-pay

“Samsung Pay ได้เปิดให้บริการแล้วในหลายประเทศทั่วโลก พบว่าได้ผลการตอบรับดี เพราะหลังจากเปิดให้ใช้บริการครบ 1 ปี ก็มีการทำธุรกรรมผ่าน Sumsung Pay กว่า 100 ล้านครั้ง มีธนาคารและผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 440 แห่ง และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง” คุณวิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าว

“แจ้งเกิด” หรือ “ดับ” ในตลาดไทย อยู่ที่ 5 ปัจจัย

หัวใจสำคัญของการทำตลาด “Mobile Payment Platform” ต้องโฟกัสใน 5 เรื่องหลัก ที่เป็นพื้นฐานที่ผู้ให้บริการต้องสร้างให้มีความแข็งแกร่ง ถึงจะทำให้ผู้บริโภคไทยมีความมั่นใจในการใช้บริการ นั่นคือ

1. ใช้งานง่าย เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคคุ้ยชินกับการพกพาบัตรเครดิตไว้ในกระเป๋าเงินอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยคนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ใบ และจะมีประมาณ 1 – 2 ใบที่ใช้อยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้ย้ายการเก็บบัตรเครดิตจากกระเป๋าเงิน มาไว้บน Digital Wallet ต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่ผู้บริโภคใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากกับกระบวนการขั้นตอนต่างๆ

สำหรับ “Samsung Pay” แก้โจทย์นี้ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนใช้งานก่อน หลังจากนั้นสแกนบัตรพลาสติกผ่าน Samsung Pay หรือกรอกข้อมูลบัตรด้วยตัวเอง โดยรองรับบัตรเครดิตได้สูงสุด 10 ใบ (Samsung Pay จะแจ้งยืนยันตัวตนผ่านทาง SMS หรือ Call center ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคาร) และเมื่อต้องการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ก็หยิบสมาร์ทโฟนออกมา เลือกบัตรที่ต้องการ สแกนลายนิ้วมือยืนยันตัวตน และแตะสมาร์ทโฟนกับเครื่องรูดบัตร

2. สะดวก ต้องมีจุดรองรับเทคโนโลยี Mobile Payment อย่างทั่วถึง โดย “Samsung Pay” ชูจุดขายว่าสามารถรองรับเทคโนโลยี MST (Magnetic Secure Transmission) เป็นเทคโนโลยีเดียวกับเครื่องรูดบัตรที่ใช้อย่างแพร่หลายในไทย และ รองรับเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) เป็นเทคโนโลยีใหม่ของระบบการจ่ายเงิน

resize-samsung-pay-at-mobile-expo-2016-showcase-2

3. ความปลอดภัย ถึงแม้ว่าประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็นตลาดใหญ่ของสมาร์ทโฟน และมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจำนวนมาก ซึ่งถือเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” ในการทำตลาด “Mobile Payment” แต่ท่ามกลางโอกาสอันมหาศาล ก็ต้องพบกับความท้าทายใหญ่ คือ Perception ของคนไทยที่มีต่อเทคโนโลยีทางการเงิน ยังคงกังวลเรื่องความปลอดภัย เป็นโจทย์สำคัญที่บรรดาผู้ให้บริการต้องแก้ให้ได้

“Samsung Pay” จึงใช้ระบบโทเคน (Tokenization) ที่สร้างเลขบัตรดิจิทัล แทนการใช้เลขบัตรเครดิตจริงในการชำระเงิน และระบบยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือทุกครั้งที่มีการชำระเงิน ผนวกกับระบบรักษาความปลอดภัย Samsung KNOX ตู้เซฟที่ช่วยปกป้องข้อมูล ตั้งแต่ระดับฮาร์ดแวร์ จนถึงซอฟท์แวร์

4. พันธมิตรธุรกิจ ถ้ามีเทคโนโลยี Mobile Payment ดี แต่สุดท้ายแล้วไม่มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ เทคโนโลยีนั้นก็คงไม่มีประโยชน์อย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่าในการทำแข่งขันการทำตลาด Mobile Payment ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างพยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือสถาบันการเงิน, ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรับชำระเงิน แน่นอนว่าต้องเป็นสองรายใหญ่อย่างวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด, ธุรกิจโมเดิร์นเทรด, ร้านค้าทุกประเภทที่เกี่ยวพันกับไลฟ์สไตล์ของคน เป็นต้น

ปัจจุบัน “Samsung Pay” กำลังเดินหน้าสร้างพันธมิตรธุรกิจ ทั้งศูนย์การค้า ที่ล่าสุดจับมือกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป รวมทั้ง 6 สถาบันการเงิน ได้แก่ เคทีซี, ซิตี้แบงก์, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, กรุงศรี และธนาคารกรุงเทพ

ผู้บริหารซัมซุง ประเทศไทย บอกว่า ต้องการให้ Samsung Pay เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างความร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตรธุรกิจ เพราะต้องการให้ทั้งแพลตฟอร์ม และพันธมิตรธุรกิจเดินไปด้วยกัน

resize-%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%a2-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%87-%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b8%b0%e0%b8%99%e0%b8%b3-samsung-pay

5. สร้างการรับรู้ให้กับร้านค้า และผู้บริโภค การจะกระตุ้นให้ “Samsung Pay” เกิดการใช้งานจริง จนสามารถสร้างเป็นพฤติกรรมการชำระเงินของลูกค้าสมาร์ทโฟนซัมซุง ก็ต้องสร้างการรับรู้ให้กับทั้งแคชเชียร์ของร้านค้า และผู้บริโภคควบคู่กันไป เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจการใช้งานเทคโนโลยี

“Samsung Pay เป็น Open Platform ที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับ Device ของซัมซุง และเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ซัมซุงเป็นแค่ Device แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกซัมซุง เพราะเราให้มากกว่าความเป็นโทรศัพท์มือถือ” คุณวิชัย กล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like