ในที่สุด “Starbucks ประเทศไทย” ได้เผยโฉมแบรนด์น้องใหม่ “Starbucks Teavana” เครื่องดื่มชาที่พร้อมจำหน่ายตั้งแต่ 20 กันยายนนี้เป็นต้นไป
แต่ก่อนที่จะดื่มด่ำกับเครื่องดื่มชา เรามาทำความรู้จักแบรนด์ “Teavana” พร้อมด้วยที่มาของการทำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย รวมถึงเมนู สาขา และราคาจำหน่าย
1.แบรนด์ “Teavana” ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินธุรกิจร้าน “Teavana” จำหน่ายเครื่องดื่มชา และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชา โดยต้องการเป็น “Heaven of Tea” สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชา หลงใหลเรื่องราวเกี่ยวกับชา
ภายในร้านนำเสนอชาคุณภาพสูง ระดับพรีเมียมในหลากหลายประเภท และจากแหล่งปลูกทั่วโลก อีกทั้งยังขายใบชาแบบชั่งตวง ที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง เพื่อได้ชาในสไตล์ที่ตัวเองชอบ ปัจจุบันมี Teavana Specialty Store มากกว่า 350 สาขา โดยส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ และมีจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์
2. ในปี 2012 “Starbucks” ซื้อกิจการ “Teavana” เป็นไปตามวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจของ Starbucks ที่ปรับ Brand Identity เมื่อปี 2011 เพื่อปลดล็อคธุรกิจให้เป็นมากกว่าร้านกาแฟ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการนำเสนอสินค้าทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม อาหาร นวัตกรรม และการพัฒนาช่องทางกายขายใหม่ ดังนั้นการซื้อ Teavana จึงเป็นการเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอให้กับองค์กร Starbucks นั่นคือ “กลุ่มเครื่องดื่มชา”
3. ตลาดชา เป็นตลาดเครื่องดื่มโลกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากน้ำดื่ม โดยมีมูลค่า 125,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท
4. อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Starbucks ตัดสินใจซื้อกิจการ “Teavana” เพราะแนวทางการดำเนินธุรกิจสอดคล้องไปในทิศทางใกล้เคียงกัน คือ มุ่งให้ความสำคัญการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสาขา สินค้า บริการ ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาด
5. เมื่อเอ่ยถึงเครื่องดื่มชา คนส่วนใหญ่มักนึกถึงภาพความเก่าแก่ ความดั้งเดิม แต่สำหรับ “Starbucks Teavana” ต้องการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ ทั้งรสชาติ การใส่จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ น่าสนใจ เกิดเป็นเมนูเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุกสนานกับการดื่มชา เช่น ชาผสมผลไม้, ชาผสมสมุนไพร
6. สำหรับการนำ “Starbucks Teavana” เข้ามาให้บริการในประเทศไทย ไม่ได้ยกโมเดลร้าน Teavana Specialty Store อย่างในสหรัฐฯ เข้ามาตั้งในไทย แต่ในสเตปแรกเป็นการจำหน่ายเครื่องดื่มชาที่ร้าน Starbucks ทั้ง 275 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ มี Teavana Flagship Store 5 สาขา ที่ตกแต่งด้วยพร็อพสีสันสดใส คือ เดอะ สตรีท, พาซิโอ้ กาญจนาภิเษก, วิลล่า อารีย์, สยาม สแควร์วัน และเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1
7. เมนู Starbucks Teavana แบบชงสดที่ร้าน มี 4 รายการ ได้แก่
– ชาเขียวมัชฉะผสมช็อตเอสเพรซโซ่ (Matcha & Espresso Fusion) ผงมัชฉะ ผสมนมสด พร้อมด้วยช็อตกาแฟสตาร์บัคส์เอสเพรซโซ่ โรสต์ มีทั้งรูปแบบ “เครื่องดื่มร้อน” ราคา 130 บาท, 145 บาท, 160 บาท, 175 บาท และ รูปแบบ “เครื่องดื่มเย็น” ราคา 145 บาท, 160 บาท, 175 บาท
– ชารูบี้เกรปฟรุ๊ตผสมน้ำผึ้ง (Black Tea with Ruby Grapefruit and Honey) เครื่องดื่มชาดำผสมเนื้อเกรปฟรุ๊ตพันธุ์สตาร์รูบี้ เพิ่มความหอมหวานด้วยน้ำผึ้ง มีทั้งรูปแบบ “เครื่องดื่มร้อน” ราคา 115 บาท, 130 บาท, 145 บาท, 160 บาท และ “เครื่องดื่มเย็น” ราคา 130 บาท, 145 บาท, 160 บาท
– ชาเขียวเชค ผสมวุ้นอโลเวร่าและน้ำเชื่อมพริคลีแพร์ (Iced Shaken Green Tea with Aloe and Prickly Pear) ซึ่งพริคลีแพร์ ซึ่งเป็นพืชตระกูลแค็คตัสที่ขึ้นในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา มีจำหน่ายในรูปแบบ “เครื่องดื่มเย็น” ราคา 130 บาท, 145 บาท, 160 บาท
– ชาฮิบิสคัสผสมไข่มุกน้ำทับทิม (Iced Shaken Hibiscus Tea with Pomegranate Pearls) ทำจากชาฮิบิสคัส สูตรพิเศษของ Stabucks Teavana ที่พร้อมกระตุ้นทุกประสาทสัมผัสด้วยความเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดจากส่วนผสมไข่มุกน้ำทับทิม มีจำหน่ายในรูปแบบ “เครื่องดื่มเย็น” ราคา 130 บาท, 145 บาท, 160 บาท
8. นอกจากเครื่องดื่มชาชงสดที่ร้านแล้ว ยังมีจำหน่ายใน “รูปแบบกล่อง” สำหรับชงดื่มที่บ้าน ได้แก่
– อิงลิช เบรคฟาสต์ (English Breakfast) ชาดำจากรัฐอัสสัมของอินเดีย ผสมผสานชาซีลอนจากศรีลังกา และชาดำจากจีน ราคา 465 บาทต่อกล่อง
– เอิร์ล เกรย์ (Earl Grey) ชาดำที่ให้ความเข้มแบบละมุน ดึงดูดใจนักดื่มชาจากทั่วทุกมุมโลกด้วยความหอมแบบอ่อน ๆ จาก เบอร์กามอต และดอกลาเวนเดอร์ ราคา 465 บาทต่อกล่อง
– ไจ (Chai) ชาดำรสชาติพิเศษ ที่หอมเข้มตรึงใจ ด้วยกลิ่นหอมของสมุนไพร อย่าง ขิง พริกไทย ใบกระวาน และความหอมหวานจากกลิ่นซินนามอน ราคา 465 บาทต่อกล่อง
– เอ็มเพอเรอร์คลาวด์ แอนด์ มิสต์ (Emperor’s Clouds and Mist™) ที่สุดของชาเขียวที่เก็บเกี่ยวได้เพียงครั้งเดียวในเดือนเมษายน จากแหล่งเพาะปลูกอันสูงชัน 3,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บนเทือกเขา หวงซาน ประเทศจีน ให้รสชาติที่เข้มข้น และหวานหอมตามธรรมชาติ ราคา 520 บาทต่อกล่อง
9. Starbucks ประเทศไทยมองว่าการมีเมนูเครื่องดื่มชา จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ไม่ดื่มกาแฟ ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ และกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากปัจจุบันพบว่าระดับอายุของกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เริ่มเข้าร้าน Starbucks เป็นกลุ่ม Younger ขึ้นเรื่อยๆ จากในอดีต เป็นกลุ่มคนทำงาน ต่อมาเป็นกลุ่มนักศึกษา ที่เริ่มเข้ามามีประสบการณ์กับร้าน Starbucks ขณะที่ทุกวันนี้ เป็นกลุ่มนักเรียน ซึ่งลูกค้าใหม่กลุ่มนี้ ยังไม่ได้ดื่มกาแฟ และชื่นชอบเครื่องดื่มที่ให้ทั้งความสดชื่นและความสนุก
10. Starbucks Teavana ช่วยเพิ่มโอกาสและความถี่ในการเข้าร้านมากขึ้น เพราะนอกจากตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่ดื่มกาแฟแล้ว ขณะเดียวกันทำให้ลูกค้าที่ดื่มกาแฟ ที่หลังจากช่วงเช้าดื่มกาแฟไปแล้ว ขณะที่ระหว่างวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาบ่ายๆ เขามองหาเครื่องดื่มแก้วที่ 2 หรือ 3 ที่ให้ความสดชื่น ดื่มง่าย ไม่ใช่กาแฟ ซึ่งเครื่องดื่มชา ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก