เพราะว่าสถานการณ์การแข่งขันรุนแรงบวกกับสภพาเศรษฐกิจทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรกของ 2016 สำหรับสายการบินคาเธย์ แปซิฟิค ติดลบถึง 9.3% ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ทั้งๆ ที่ในแง่ผู้โดยสารมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นมานั่นเป็นการเพิ่มในกลุ่มผู้โดยสารชั้นประหยัด ขณะที่ผู้โดยสารชั้นธุรกิจกลับลดปริมาณลง ด้วยเหตุนี้คาเธ่ย์ แปซิฟิค จึงขอสู้ด้วยการมอบประสบการณ์การเดินทางที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้โดยสารหวังดึงผู้โดยสารชั้นธุรกิจหรือดึงลูกค้าองค์กรให้หันมาใช้บริการมากขึ้น โดยการปรับบริการใหม่ๆ ดังนี้
1 เพิ่มเครื่องบินและ In-Flight Service โดยรับมอบแอร์บัสรุ่น A350-900s ลำแรกในจำนวน 22 ลำ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และระหว่างนี้จนถึงปี 2563 สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัสรุ่น A350XWB จำนวนทั้งหมด 48 ลำ เครื่องบิน A350 รุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานนี้มาพร้อมเทคโนโลยีและดีไซน์ที่ทันสมัย พร้อมยกระดับประสบการณ์การเดินทางของผู้โดยสารของเที่ยวบินในทุกระดับชั้น และด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดต่างๆ ในห้องโดยสารชั้นธุรกิจ ชั้นประหยัดพรีเมี่ยม และชั้นประหยัดที่ได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถใช้เวลาและพื้นที่ได้ตรงตามความต้องการมากขึ้นไม่ว่าจะเพื่อการทำงานหรือเพื่อการผ่อนคลาย นอกจากที่นั่งและระบบความบันเทิงรูปแบบใหม่แล้ว สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคยังมีการติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตบนเที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้ตลอดการเดินทาง
2 ตกแต่งและเพิ่มจำนวนเลาจน์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการห้องรับรองผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจในท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ โดยใช้แนวทางการออกแบบเดียวกันกับห้องรับรองผู้โดยสารของคาเธ่ย์ แปซิฟิค ณ ท่าอาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว สนาบินในกรุงมะนิลาและสนามบินในกรุงไทเป นอกจากนี้ ห้องรับรองผู้โดยสารชั้นธุรกิจ เดอะ เพียร์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง ได้รับการปรับปรุงเมื่อเดือนมิถุนายน และกลายเป็นห้องรับรองผู้โดยสารที่ใหญ่ที่สุดของสายการบิน โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 550 ท่าน สายการบินยังเตรียมเปิดให้บริการห้องรับรองผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจแห่งใหม่ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติฮีทโธรว์ กรุงลอนดอนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559
3 นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ พัฒนาระบบการจัดการเดินทางแบบออนไลน์ หรือ E-Journey รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโมบายล์ แอพลิเคชั่นที่มีเวอร์ชั่นภาษาไทย การซื้อบัตรโดยสารและการเช็คอินออนไลน์ รวมไปถึงการรับ e-boarding pass บนโทรศัพท์มือถือเพื่อมอบความสะดวกสบายสูงสุดให้แก่ผู้โดยสารชาวไทยตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อบัตรโดยสารไปจนถึงการเช็คอิน
นอกจากนี้การขับเคลื่อนที่สำคัญของเครือคาเธ่ย์ แปซิฟิค จะมีให้เห็นเด่นชัดขึ้นในปลายปีนี้ โดยจะทำการรีแบรนด์ ดรากอนแอร์ ให้เป็น คาเธ่ย์ ดรากอน ซึ่งทั้งสองสายการบินจะบินในเส้นทางที่ต่างกัน แต่เสริมทัพซึ่งกันและกัน โดยตอนนี้การปรับแบรนด์เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เช่น โลโก้ ที่ใช้รูปลายเส้นจากพู่กันจีนคนละสี เชื่อว่าการรีแบรนด์ขนานใหญ่ในครั้งนี้จะช่วยเสริมให้ทั้งสองแบรนด์มีความแข้งแกร่งมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดประเทศจีนซึ่งมีการเติบโตทาเศรษฐกิจสูง และดรากอนแอร์มีเส้นทางการบินในเมืองต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดี เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับลูกค้า โดยย้ำให้เห็นว่าทั้งสองสายการบินเป็น full-service airlines ไม่ใช่โลว์คอสแต่อย่างใด