HomeCSR“แมคโดนัลด์” ตามรอย “สตาร์บัคส์” พลิกกลยุทธ์ธุรกิจกาแฟ หันหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน

“แมคโดนัลด์” ตามรอย “สตาร์บัคส์” พลิกกลยุทธ์ธุรกิจกาแฟ หันหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน

แชร์ :

resize-shutterstock_393499714

หลังจากก่อนหน้านี้ “แมคโดนัลด์” (McDonald’s) ในสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการใช้สารกันบูดเทียมออกจากเมนูอาหารหลายรายการ เช่น เมนูอาหารเช้า แมคนักเก็ต ไข่ออมเล็ต ไข่สแกรมเบิล รวมทั้งใช้ขนมปังแบบใหม่ที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำเชื่อมข้าวโพด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปัจจัยที่ทำให้แมคโดนัลด์ตัดสินใจปรับส่วนประกอบในเมนูอาหารหลัก มาจากผู้บริโภคทุกวันนี้ใส่ใจในการเลือกสรรอาหารมากขึ้น และอยากรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำอาหาร

ล่าสุด “แมคโดนัลด์ คอร์ปอเรชั่น” (McDonald’s Corp.) ได้พลิกมุมการทำธุรกิจกาแฟครั้งใหญ่ ด้วยการวางแผนว่าภายในปี 2020 เมล็ดกาแฟที่รับซื้อจะมาจากแหล่งปลูกที่ยั่งยืนทั้งหมด จากเมื่อปีที่แล้ว เมล็ดกาแฟที่แมคโดนัลด์รับซื้อมี 37% มาจากแหล่งปลูกที่ยั่งยืน

โดยขณะนี้แมคโดนัลด์จับมือเป็นพันธมิตรกับ “Conservation International” (CI) องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมกาแฟ ที่กำลังถูกคุกคามด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และโรคราสนิม

แหล่งปลูกกาแฟที่ยั่งยืน คือ แหล่งปลูกกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใส่ใจกระบวนการปลูกทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง โดยแมคโดนัลด์จะเข้าไปมีส่วนร่วมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อสร้างความยั่งยืนตลอดทั้ง Supply Chain ตั้งแต่เกษตรกร – แมคโดนัลด์ – ผู้บริโภค

ขณะที่ปัจจุบันแมคโดนัลด์ รับซื้อเมล็ดกาแฟอาราบิก้าจากโคลัมเบีย, คอสตาริกา, นิการากัว, บราซิล, เปรู และเอลซัลวาดอร์ นอกจากนี้ Espresso Blend ของร้านมีส่วนประกอบของเมล็ดกาแฟจากอินโดนีเซีย ทั้งยังรับซื้อเมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับรสนิยมการดื่มกาแฟของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

“ลูกค้าของเราต้องการรู้ว่าสินค้าใช้วัตถุดิบจากที่ไหน และมีกระบวนการหรือขั้นตอนทำอย่างไร ดังนั้น ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อการปลูกกาแฟ แต่แมคโดนัลด์ต้องสร้างความมั่นใจได้ว่ามีวัตถุดิบเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการของตลาดในระยะยาว โดยเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร” Townsend Bailey, head of supply-chain sustainability for Oak Brook, Illinois-based McDonald’s กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่แบรนด์ใหญ่ระดับโลกกำหนดนโยบายธุรกิจ ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปลูกและผลผลิตที่ยั่งยืน พร้อมทั้งรับซื้อในราคายุติธรรม “สตาร์บัคส์” (Starbucks) ได้ดำเนินการมาก่อนจนถึงทุกวันนี้ โดยร่วมมือกับ Conservation International เช่นกัน ในการพัฒนาแหล่งเพาะปลูกให้มีความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงดิน และน้ำ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้ว่าจะได้รับเงินค่าผลผลิตอย่างเหมาะสม

แนวทางการดำเนินธุรกิจทั้ง “แมคโดนัลด์” และ “สตาร์บัคส์” ที่หันกลับไปลงทุนพัฒนา “ต้นน้ำ” นั่นคือ เกษตรกร และแหล่งเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อแบรนด์ และผู้บริโภค ถือเป็นการพัฒนาทั้งกระบวนการ Supply Chain การดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ เรียกได้ว่าเป็น “Inclusive Sustainable Development” หรือ “Inclusive Shared Value” ที่แบรนด์มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสนับสนุนตลอดทั้ง Supply Chain เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงผู้บริโภค

การทำธุรกิจแบบ Inclusive Sustainable Development กำลังเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสที่มาแล้วก็ไปเหมือนเทรนด์การตลาดทั่วไป แต่ต่อไปจะปรากฏภาพแบรนด์สินค้าและบริการสร้างความร่วมมือในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
Source

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like